หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สัมภาษณ์ Joe Gordon: ประชาธิปไตยกับมาตรา 112

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สัมภาษณ์ Joe Gordon: ประชาธิปไตยกับมาตรา 112






สัมภาษณ์พิเศษ Joe Gordon (นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา วันที่ 24 มีนาคม 2556
โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต


ปวิน -- ตั้งแต่ที่คุณ Joe Gordon กลับมาที่สหรัฐฯ ได้ทำอะไรบ้าง

Joe Gordon – ยังคงต้องปรับตัวเองอยู่ขณะนี้ เพราะประสบกับปัญหาหลายอย่างในระหว่างอยู่ในเรือนจำ และยังนึกอยู่เสมอว่า ตัวเองไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ในกรณีการใช้กฏหมายมาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใดก็ได้แจ้งความฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผมเองไม่เคยได้รู้เรื่องการถูกฟ้องร้องมาก่อน และศาลตุลาการของไทยก็ขาดซึ่งความยุติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ผมสู้คดี ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจผมมาก แสดงถึงความป่าเถื่อนของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากที่ผมได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ผมได้เดินทางกลับมาถึงสหรัฐฯ และได้พักฟื้นร่างกายและบำบัดสภาพจิตใจ

ปวิน – คิดว่าจะเดินทางกลับไทยอีกไหม

Joe Gordon – ผมเดินทางกลับไปเมืองไทยครั้งที่แล้วในฐานะนักท่องเที่ยวอเมริกัน และใช้หนังสือเดินทางอเมริกัน แต่เมื่อทางการไทยต้องการดำเนินคดีกับผม เขาอ้างว่าผมยังเป็นคนไทย เพราะเกิดในเมืองไทย เขายัดเยียด “ความเป็นไทย” ให้ผม ผมไม่ได้รับความยุติธรรม กระบวนการตุลาการของไทยขาดมาตรฐาน ตราบใดก็ตามที่ยังมีมาตรา 112 อยู่ ประเทศไทยจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะมาตรา 112 นี้ ริดรอนเสรีภาพ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบัน ตรงกันข้าม ประชาชนกำลังตกอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัวและถูกคุกคาม


ปวิน – ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112

Joe Gordon – หากไทยต้องการก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ จำเป็นต้องมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ไทยเราก้าวมาสู่ความทันสมัยมากขึ้นแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทย ในกรณีของสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ ก็ยังต้องปรับตัว และก็ประสบความสำเร็จพอควรในการอยู่ร่วมกับสถาบันประชาธิปไตย การปรับตัวนี้ยังต้องรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น ต้องตรวจสอบได้ การที่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นบุคคลสาธารระ จำเป็นต้องเปิดให้มีการวิจารณ์ได้ ติชมได้ แต่ไม่ใช่การยกยอจนอยู่เหนือนอกเหตุผล สถาบันต้องไม่เอาเปรียบประชาชน แต่หากดูในสภาพความเป็นจริง ประเทศไทยยังเสมือนตกอยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย นอกจากนี้ ต้องมีการปรับตัวของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อาทิ หน่วยงานด้านตุลาการ ที่ตกเป็นเครื่องมือของสถาบันกษัตริย์ ตราบใดที่ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยของไทยคงไม่ได้รับการพัฒนา

ปวิน – ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในสหรัฐอเมริกา

Joe Gordon – อยากให้ชาวเสื้อแดงในนครลอสแอนเจลิสได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมา กลุ่มเสื้อแดงในแอลเอก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว หากมีกิจกรรมที่พบปะกับเรื่อยๆ ผมก็จะเดินทางมาร่วมด้วย ส่วนตัว ผมเองก็มีส่วนช่วยรณรงค์ให้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 โดยผ่านทาง social media อาทิ ผ่านช่องทาง Facebook  ของผม จะพยายามรณรงค์ให้ปัญหาที่เกิดกับมาตรา 112 ได้รับการรับรู้มากขึ้นในแวดวงต่างประเทศ ผมไม่อาจละทิ้งประเด็นนี้ไปได้ ผมใช้ชีวิตในเรือนจำนานถึง 14 เดือน เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะเพิกเฉยต่อประเด็นปัญหาที่เกิดจากมาตรา 112

ปวิน – สภาพเรือนจำที่อยู่ในระหว่างการกักขัง

Joe Gordon – สภาพแย่อย่างมาก เรือนจำไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน ไม่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่มีแพทย์ ถึงมี แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไร้จรรยาบรรณ ยิ่งเป็นผู้ต้องหาคดี 112 แล้ว แพทย์ส่วนใหญ่ปฏิเสธการรักษาพยาบาลในทันที นักโทษมีสภาพเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน นอกจากนี้ ผู้คุมขังส่วนใหญ่ยังมีอคติอีกด้วย การรักเจ้าของผู้คุมขังเหล่านี้ ทำให้พวกเขาปฏิบัติต่อนักโทษ 112 อย่างเลวร้าย แต่หลังจากที่สมาชิกเสื้อแดงได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยิบยื่นการช่วยเหลือนัก โทษ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะการปรับสภาพเรือนจำใหม่ ไม่ให้มีการทุบตีนักโทษ กลั่นแกล้ง หรือมีอคติ อาหารการกินดีขึ้น การเยี่ยมเยียนมีความสะดวกมากขึ้น ผมได้เรียกร้องให้ไม่มีการแยกนักโทษมาตรา 112 ออกจากนักโทษการเมือง ที่ผ่านมา นักโทษมาตรา 112 ต้องถูกขังรวมกับนักโทษคดีอาญชกรรมอื่นๆ ที่มีความแออัด บ้างครั้ง มีนักโทษมากถึง 50 คนในห้องขังเดียว ต้องถูกขังรวมกับนักโทษที่ป่วยเป็นโรคไวรัสเอดส์และวัณโรค เป็นต้น

ปวิน – ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังออกจากเรือนจำ

Joe Gordon – ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ติดต่อผมอีกหลังจากที่ผมเดินทางออกจากประเทศไทย แต่ตอนที่ออกจากเรือนจำ ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ ก็ให้การดูแลผมดี ตอนที่อยู่ในเรือนจำ ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปเยี่ยมเยียนผมประมาณเดือนละครั้ง และถี่มากขึ้นในช่วงที่ผมใกล้ได้รับอิสรภาพ คอยเฝ้าตามเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว เจ้าหน้าที่สถานทูตได้มารับตัวผมตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นข่าว ดูแลผมตลอดและต้องการให้ผมเดินทางออกจากไทยโดยทันที แต่ก่อนออกเดินทาง ผมได้ไปพำนักใน safe house ชั่วคราวเพื่อตรวจสุขภาพ ก่อนที่จะมารับผมและไปส่งขึ้นเครื่องบินกลับสหรัฐฯ (และอยู่ส่งผมจนแน่ใจว่าเครื่องบินได้เดินทางออกจากสุวรรณภูมิแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้ง ผมเดินทางด้วยสายการบิน United Airlines ครับ) จากนั้นก็จบภารกิจ

ปวิน --- ท้ายสุด ความเห็นต่อความเคลื่อนไหวในแวดวงนักวิชาการเกี่ยวกับกฏหมายมาตรา 112 และการถกกระเด็นเรื่องสถาบันกษัติรย์

Joe Gordon – เป็นเรื่องดีที่เหล่านักวิชาการได้ออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ แรงผลักดันจากนักวิชาการเท่านั้นไม่พอ แต่ยังต้องอาศัยมวลชน อาจกล่าวได้ว่า เรายังไม่มี “นักปฏิบัติ” แต่ผมต้องยอมรับว่า นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความกล้าหาญ ให้ความรู้และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะต่อการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46212 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น