หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น

คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น

 

 
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษา คดี นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกฟ้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ คือ การประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์ฯโดยไม่ได้รับอนุญาต ในที่สุด ศาลก็ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จึงให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี และปรับ ๑ แสนบาท แต่เนื่องจากจำเลยเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงเหลือโทษจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๖๖,๖๖๖ บาท และหลังจากนั้น นายเอกชัยก็ถูกนำตัวเข้าคุกทันที


คงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ว่า คดีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งของข้อถกเถียงในทางวิชาการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ เกิดจากการตัดสินของศาล เพราะความจริงแล้ว กรณีนี้ในทางเหตุผลและหลักฐานไม่อาจจะอธิบายได้เลยว่า นายเอกชัยมีความผิด



นายเอกชัย หงส์กังวาน เดิมมีอาชีพขายหวยบนดิน หลังรัฐประหารใน พ.ศ.๒๕๔๙ เขาเริ่มสนใจการเมือง และเริ่มเข้าฟังการปราศรัยทางการเมืองเป็นระยะ เหตุการณ์การจับกุมนายเอกชัย หงส์กังวาน เกิดขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มแดงสยามที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนาม หลวง นายเอกชัยได้นำเอาซีดีที่บันทึกรายการโทรทัศน์ของสำนักข่าวเอบีซี (the Australian Broadcasting Corporation) ของออสเตรเลีย และข้อมูลของวิกิลีกส์มาจำหน่าย ทางตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เห็นว่าเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงได้มอบหมายให้ ดาบตำรวจนคร คงกลิ่น ได้ทำการล่อซื้อซีดีที่เขาขายราคาแผ่นละ ๒๐ บาท จากนั้นก็จับกุมโดยแจ้งข้อหาคดีตามความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ยังได้ยึดของกลางเป็นวีซีดีอีก ๑๔๑ แผ่น พร้อมเอกสารวิกิลีกส์อีก ๒๖ ฉบับ นายเอกชัยถูกขังอยู่ ๘ วัน จึงได้รับการประกันตัวออกไป แต่นายเอกชัยก็ยังถูกดำเนินคดีต่อมา


ประเด็นสำคัญคือ ในซีดีที่เป็นหลักฐานนี้ เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยสำนักข่าวเอบีซี ซึ่งเผยแพร่ในออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลธรรมดาที่เผยแพร่ทั่วไป และไม่มีคำหยาบหรือหมิ่นประมาทใครเลย ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นองค์รัชทายาท ก็เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า คลิปริมสระ ซึ่งเป็นไปในทางชื่นชมพระบารมีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายและพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายา ที่ประทับในงานเลี้ยงริมสระแห่งหนึ่ง แต่ พ.ต.ท.สมยศ ผู้ดำเนินการจับกุมอธิบายว่า การนำคลิปริมสระมาออกรายการ และการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมขององค์รัชทายาทและราชินีองค์ต่อไป เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะซับไตเติลที่กล่าวถึงการมีชายาหลายพระองค์ ซึ่งถือเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ


ในกรณีนี้ คงต้องขออธิบายว่า ในเมื่อรายการสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลียครั้งนี้ ไม่เคยถูกประกาศที่ไหนให้เป็นรายการที่ผิดกฎหมายไทย นอกจากนี้ คงจะต้องย้ำว่า ในคำบรรยายของรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นไปโดยสุภาพและไม่ได้มีการหมิ่นประมาทใครเลย ดังนั้น การเผยแพร่รายการนี้ จึงไม่น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะคุณเอกชัยก็ไม่ได้ผลิตรายการนี้เอง หรือถ้าจะผิด ก็คงต้องให้สำนักข่าวออสเตรเลียฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์เสียมากกว่า



นอกจากนี้ การอ้าง พ.ต.ท.สมยศที่ว่า ในรายการของเอบีซี มีการกล่าวถึงเรื่อง การมีพระชายาหลายคนเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระเกียรติ ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดของทางตำรวจเอง เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น มีชายามากเป็นเรื่องธรรมดา ดังจะเห็นได้จากสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ว่า การมีชายามากก็เป็นเรื่องปกติของกษัตริย์ในเอเชียด้วยซ้ำ เช่น กษัตริย์จีนในอดีตก็มีชายามากเช่นกัน ดังนั้น การมีชายามากในสายตาของเจ้านายจึงไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย สรุปแล้ว การที่คุณเอกชัยนำเอารายการโทรทัศน์ของออสเตรเลียมาเผยแพร่จึงไม่น่าที่จะมี ความผิดได้


ในส่วนที่สองเป็นส่วนข้อมูลรั่วไหลของวิกิลีกส์ ซึ่งเป็นคำปรารถด้วยความห่วงใยบ้านเมืองของบุคคล ๓ คน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และ อานันท์ ปันยารชุน ต่อเอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าฟ้าชาย การรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ และอนาคตทางการเมืองไทย เป็นที่น่าแปลกอย่างมากว่า ทางการตำรวจไม่เคยมีการดำเนินการล่อซื้อหรือจับกุมบุคคลทั้ง ๓ คน เพื่อมาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระเดชานุภาพเลย ราวกับเป็นที่ยอมรับกันว่า บุคคลทั้งสามมีสิทธิพิเศษทางกฎหมายเหนือกว่าคุณเอกชัย และผู้พิพากษาในคดีนี้เอง ก็ยืนยันสิทธิพิเศษนี้ เพราะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลเชิญ พล.อ.เปรม พล.อ.สิทธิ และนายอานันท์ มาเป็นพยานในศาลอย่างเป็นทางการ เพื่อต่อสู้ในเชิงข้อเท็จจริงตามฟ้อง ผู้พิพากษาได้ทักท้วงเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ วีระมิตรชัย ได้ย้ำกับทนายจำเลยว่า การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีความจำเป็นต่อการต่อสู้คดีเลย เพราะ”ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น” การเชิญทั้งสามคนนั้นมาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ด้วยท่าทีของผู้พิพากษาในลักษณะนี้ ทนายจำเลยจึงต้องถอนคำร้อง


แต่กระนั้น คงต้องอธิบายว่า การที่ศาลไม่เอาความผิดบุคคลทั้งสามในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การดำเนินคดีเพื่อเอาความผิดต่อบุคคลอื่น ที่นำคำพูดของบุคคลทั้งสามมาเผยแพร่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล


แต่กระนั้นศาลไทยก็ยังอุตส่าห์ตัดสินว่า จำเลยมีความผิด โดยอ้างว่า “รัฐและประชาชนมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ ครั้งโบราณกาล ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้” แต่ข้อความในซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์ ศาลเห็นเองว่า เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท องค์รัชทายาท และยังกล่าวหาว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่ามีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารพ.ศ.๒๕๔๙ และเกี่ยวข้องกับความยุ่งเหยิงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน หรือเสียดสีเปรียบเปรยทำให้พระองค์เสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นายเอกชัยผู้เผยแพร่จึงถือว่ามีความผิด


ในคำพิพากษายังอธิบายด้วยว่า แม้ว่าจะอธิบายได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารจากประเทศไทย”มีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลาง” ซึ่งหมายถึงว่าสำนักข่าวต่างประเทศนั้น ไม่ได้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ศาลเห็นว่าจะพิจารณาในลักษณะนี้ไม่ได้ “ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น” ซึ่งเหตุผลของศาลในข้อนี้ ต้องถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “วิญญูชนทั่วไป”คงจะให้ความหมายได้ยาก ในกรณีที่บุคคลมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างน้อยพยานโจทย์และพยานจำเลยก็มีความเห็นต่างกัน ถ้าอธิบายตามคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงว่า พยานโจทย์ที่ปรักปรำจำเลยให้มีความผิดเท่านั้นที่เป็น”วิญญูชน” หรืออธิบายใหม่ว่า วิญญูชนคือคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับคณะผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจึงไม่ได้ถือหลักนิติปรัชญาอันถูกต้องแต่ประการใด


นอกจากนี้ ในส่วนโทษปรับที่ศาลก็ขาดความสมเหตุผลอย่างมาก เพราะจากข้อมูลก็จะเห็นได้ว่า คุณเอกชัยขายซีดีเพียง ๒๐ บาท แต่ศาลปรับข้อหาขายซีดีไม่ได้รับอนุญาตกว่า ๖.๖ หมื่นบาทเป็นมูลค่าของซีดีมากกว่า ๓ พันแผ่น ถ้าพิจารณาว่า คนขายซีดีในประเทศไทยจำนวนมากก็ไม่มีใบอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มาตรฐานการปรับตำนวนเช่นนี้จึงเป็นการลงโทษคนยากจนโดยไม่เป็นธรรม


สรุปแล้ว การตัดสินให้นายเอกชัยถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และสะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากศาลเอง และเป็นการสะท้อนอีกครั้งว่า คำพิพากษาของศาลนั้นขาดความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น