หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

ทางเท้า... ภาพสะท้อนชนชั้นทางสังคม

ทางเท้า... ภาพสะท้อนชนชั้นทางสังคม
 
ยิ่งรถเก๋งราคาแพงๆ ก็ยิ่งบอกชนชั้นและถ่างช่องว่างอย่างชัดเจน ซึ่งรถเหล่านี้พร้อมจะแผดเสียงแตรแสดงอำนาจ และไล่ชนคนเดินเท้าอย่างไม่ยี่หระ ข่าวบรรดาคนดัง ไฮโซ และลูกเศรษฐีขี่รถเฟอรารี่ ขี่โรลสลอยแพงระยับระดับคันละหลายสิบล้านก่อเหตุสยดสยองบนท้องถนนมีบ่อย ครั้งอย่างน่าเอน็จอนาจ 

โดย ยังดี  โดมพระจันทร์ 

ในสังคมไทย และอีกหลายสังคมที่ล้าหลัง ทางเท้านอกจากเป็นที่ทางสำหรับการก้าวเท้าเดิน ยังเป็นอะไรอีกหลายอย่าง เช่น ที่จอดรถวิน ที่กินข้าว เป็นลู่วิ่งจักรยาน ทางซิ่งมอเตอร์ไซค์  เป็นที่ขายของ ขายล็อตเตอร์รี่ เป็นที่ซ่อมนาฬิกา ปะชุนเสื้อผ้า แม้กระทั่งที่ซ่อมรถยนต์ ทางเท้าเป็นทั้งสนามเด็กเล่น เป็นที่พักผ่อน เป็นที่นอนคนจรจัด เป็นสารพัดดราม่า ที่หากินยามค่ำคืน คนตื่นเช้าทางเท้าใช้ออกกำลังกาย เป็นที่ถวายอาหารพระ สำหรับขบวนการประชาธิปไตย ทางเท้าเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัย ที่ชุมนุมเดินขบวน เป็นที่พักคนงาน และเป็นทั้งสุขาสาธารณะ ฯลฯ

• ทางเท้า...ใครเล่าเป็นเจ้าของ

ท่าพระจันทร์ที่เคยพลุกพล่าน วันนี้กลับดูเงียบเหงาไป ท่าเรือปิดตายมาเป็นปี เสียงเพลงเจื้อยแจ้วของวณิพกตาบอดริมทางเท้าก็เงียบหาย เพลงประจำเคยขับขานอย่าง

“....คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจเจ้า พี่ตรม พี่เหงาเพราะคิดถึงเจ้าเชื่อไหม ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว ทุกคราวก็ได้ เราต่างสุขใจเมื่อคิดถึงกัน คืนไหนข้างแรมฟ้าแซมดารา น้องจงมองหาดาวประจำเมือง ทุกคืนเราจ้องดูเดือนดาว ทุกคราวเราฝันเห็นกันเนืองเนือง ถึงสุดมุมเมืองไม่ไกล...”

คนค้าขายขนมจีบหัวมุมถนนบอกเล่าว่าที่ทางแถวนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะ “ทัศนียภาพ” ไม่อำนวย หมายความว่าสกปรกรกรุงรังในสายตาใครบางคน  แม้ทางเดินจะคับแคบแต่คนจำนวนมากก็ชอบมาซื้อหาของกินข้างทาง  นี่อาจจะเป็นความปรองดองที่อยู่ร่วมกันได้ในชนชั้นเดียวกัน

แต่คนธรรมดาต้องไม่พอใจกับภาวะจำยอมแบบนี้ ถามว่าแบบนี้น่ะแบบไหน ก็คือแบบไร้ที่ไร้ทาง ทางเดินเท้าก็คับแคบ เสี่ยงกับขอบกระทะทอดมัน ขอบเตาหมูย่าง ที่ทางของพ่อค้าแม่ขายรายย่อยๆที่เบียดเสียด และที่ทางของคนว่างงาน คนพิการ ที่ต้องแปรตัวเองมาเป็นวณิพก มาเป็นขอทานใช้ทางเท้าร่วมกัน


• รถยนต์สำคัญกว่าคนเดินเท้า

หากเป็นคนที่อยู่ป่าก็คงไม่ว่ากัน เพราะไม่เคยร้องหาว่าทางเท้าอยู่ไหน ไม่เรียกคืนสิทธิของผู้เดินริมถนนว่ามันเป็นยังไง เพราะในป่าแค่มองหาปล่องหรือช่องช้างก็จะมีทางให้เดิน “ปล่องสัตว์” นั้นคือทางของสัตว์ป่า เดินไปเดินมา แล้วก็ไปหาแหล่งอาหารแหล่งน้ำ แต่แปลกที่คนเมือง มีแต่ถนน มีแต่รถ ไม่มีทางคนเดิน นอกจากไม่มีทางเท้า เวลาจะข้ามถนน รถยนต์ก็ยังไม่หยุดให้อีกด้วย คนข้ามต้องคอยก้มหัวทำตัวนอบน้อมเพื่อให้รถหยุด ต้องขอทางขณะยกมือไหว้กัน เพราะรถยนต์นั้นม่ใช่เพียงเป็นพาหนะ แต่ยังแสดงถึงสถานะในสังคมอีกด้วย

ยิ่งรถเก๋งราคาแพงๆ ก็ยิ่งบอกชนชั้นและถ่างช่องว่างอย่างชัดเจน ซึ่งรถเหล่านี้พร้อมจะแผดเสียงแตรแสดงอำนาจ และไล่ชนคนเดินเท้าอย่างไม่ยี่หระ ข่าวบรรดาคนดัง ไฮโซ และลูกเศรษฐีขี่รถเฟอรารี่ ขี่โรลสลอยแพงระยับระดับคันละหลายสิบล้านก่อเหตุสยดสยองบนท้องถนนมีบ่อย ครั้งอย่างน่าเอน็จอนาถ บางรายถึงกับชนผู้โดยสารรถเมล์อย่างตั้งใจเพียงเพราะต้องการจะรีบไป และทุกรายก็ไม่เคยต้องรับโทษ

• รถยนต์ ความจำเป็น กำไรงาม หรือความฟุ่มเฟือย

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยด้วยความภาคภูมิใจเมื่อไม่นานมานี้ว่า ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ของไทยทุบสถิติในรอบ 51 ปี ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล รวม 9 เดือนผลิตได้ 1.7 ล้านคัน ขึ้นแท่นติดอันดับผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ใน 10 ของโลกแซงหน้าสเปน ฝรั่งเศส รัฐเซีย โดยมียอดผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 68.32% แล้วกำไรทั้งหมดของอุตสาหกรรมนี้ไปอยู่ที่ไหน ใครได้  ใครต้องคืนกำไรมาสู่สาธารณะ ใครควรรับผิดชอบต่อการสร้างทางเดินเท้าควบคู่กับถนนหนทาง

สหภาพแรงงานด้านยานยนต์อาจจะเป็นองค์กรแรกที่กล้าเผชิญปัญหา กล้าทวงถามแทนคนเดินเท้า....ขณะที่รับใช้ระบบทุนนิยม รับใช้นโยบายขยายอุตสาหกรรมด้านนี้ มีตัวเลขสถิติที่ไม่น่าเชื่ออย่างผลการวิจัยในปี 2555 ว่าขณะนี้ไทยติดอันดับโลกด้วยอัตราส่วน จำนวนพลเมือง100 คน มีรถยนต์ถึง 100 คัน นั่นไม่ได้แปลว่าคน 1 คนมีรถ 1 คัน แต่แปลว่ามหาเศรษฐีคนหนึ่งน่าจะมีรถเป็น 10 คันขณะที่อีกหลายคนไม่มีรถใช้เลย และต้องพึ่งรถโดยสารอื่นๆ

ตัวเลขผู้ใช้บริการรถ ขสมก มากว่า 1 ล้านคนแต่ละวัน ในเส้นทางเดินรถ 155 เส้นทาง  ต้องมีรถโดยสารสาธารณะรองรับ 7000 คัน จึงจะเพียงพอ แต่รถเมล์ที่วิ่งได้กลับมีไม่ถึงสามพันคัน จักรยานยนต์ตึงกลายเป็นทางออก รถตู้ รถสองแถว จึงกลายเป็นทางเลือก ขณะที่แท็กซี่ก็แย่งใช้พื้นที่บนถนในอัตราส่วน 30-40% บนพื้นที่ถนนในกรุงเทพมหานคร

• เรียกร้องเอาทางเท้าของประชาชนคืนมา

ทางเท้าถูกแชร์เป็นที่ให้บริการรถประเภทอื่น หรือแม้แต่รถจักรยาน เบียดแซงกันอยู่บนทางเดินเท้า  ต่างกับสถิติในนิวยอร์ค โตเกียว สิงคโปร์ จำนวนพลเมือง 100 คน มีรถ 20 คัน  ข้อสังเกตคือประเทศเหล่านี้มีระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง จากการต่อสู้ยาวนานของประชาชนคนเดินเท้า คนธรรมดาสามัญที่รวมตัวกันร่วมกับพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า ทำให้รัฐต้องหันมาใส่ใจในความสำคัญของระบบขนส่งมวลชน และยังต้องสร้างสวัสดิการอื่นๆ รื้อฟื้นทางเดินเท้าให้คนธรรมดาๆ

บางเมืองใหญ่ ทางเดินเท้ากลายเป็นหน้าตาที่บ่งบอกความเจริญ มีการลงทุนมากมายสร้างทางเท้าที่เป็นระบบระเบียบโอ่อ่าน่าเดิน มีแสงไฟสว่างไสวยามค่ำคืน เฉพาะที่โตเกียวและโอซาก้าการเดินเท้าเป็นหัวใจของคนเดินทาง เพราะเดินกันเป็นช่วงตึกแทนการโดยสารรถยนต์ หรือรถสาธารณะอื่นๆ

ทางเดินเท้าของไทยจะมีหรือไม่ มีเพียงพอไหม มีไว้เพื่อใคร....อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ที่จอดรถวิน ที่กินข้าว เป็นลู่วิ่งจักรยาน ทางซิ่งมอเตอร์ไซค์  เป็นที่ขายของ ขายล็อตเตอร์รี่ เป็นที่ซ่อมนาฬิกา ปะชุนเสื้อผ้า แม้กระทั่งที่ซ่อมรถยนต์ วิถีผู้คนบนบาทวิถีล้วนต่างจุดประสงค์  กิจกรรมเหล่านี้ต้องการพื้นที่ของตนเอง แต่ที่ดินส่วนใหญ่ใครกันที่เป็นเจ้าของ ทางเท้ากลับเป็นสนามเด็กเล่น แล้วสนามเด็กเล่นหายไปไหน?  ทางเท้าเป็นที่พักผ่อน เป็นที่นอนคนจรจัด ทำไมพวกเค้าถึงไม่มีบ้านอยู่ ?  สำหรับขบวนการประชาธิปไตย ทางเท้าเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัย ที่ชุมนุมเดินขบวน การเดินบนถนนกลายเป็นการก่อการร้าย และเป็นภัยต่อสังคม

สังคมของใครกัน.....ขนาดต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำไม ทำไม....????

อย่าให้คำถามเหล่านี้ต้องกลืนหายไปกับสายลม......  

 

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/04/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น