หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

การเมือง ฮอตฮ้อน รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ประหมัด เลือดเดือด

การเมือง ฮอตฮ้อน รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ประหมัด เลือดเดือด



ขณะ ที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับพิจารณาคำร้อง นายสมชาย แสวงการ ให้วินิจฉัยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในตอนบ่าย

ตอนดึกของคืนวันที่ 3 เมษายน วันเดียวกัน

ที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ อันเสนอโดย 312 ส.ส. และ ส.ว.

367 ต่อ 204 รับร่างแก้ไขมาตราว่าด้วยที่มาของ ส.ว.

374 ต่อ 209 รับร่างแก้ไขมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศ

374 ต่อ 206 รับร่างแก้ไขมาตรา 68 และ 237

นี่ไม่เพียงแต่ยืนยันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า รัฐสภามีอำนาจในการสถาปนา แก้ไข เพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

หากเท่ากับเป็นการปะทะโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะ เดียวกัน การรับคำร้องจาก นายสมชาย แสวงการ อย่างรวดเร็วก็เป็นการยืนยันอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อการสถาปนา แก้ไข เพิ่มเติม รัฐธรรมนูญด้วย

ถึงครา "รัฐสภา" กับ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต้องปะทะกัน

ต้องชมเชย นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ทำให้ภาวะเหลื่อมซ้อนระหว่างอำนาจของรัฐสภากับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

หากถาม นายสมชาย แสวงการ ต้นเหตุย่อมมาจากการเสนอแก้ไขมาตรา 68

หากถามสมาชิกรัฐสภาจำนวน 312 ซึ่งถูกร้องว่ากระทำความผิด ต้นเหตุย่อมมาจากความคลุมเครือของมาตรา 68



ที่เสนอแก้ไขก็เพราะต้องการ "ความชัดเจน"

เป้าหมาย 1 ของ นายสมชาย แสวงการ ที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อต้องการระงับยับยั้งมิให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไป

หรือดึงดันจะเดินหน้าก็เป็นการเดินหน้าอย่างรวนเร กระจัดกระจาย

กระนั้น หากประเมินจากจำนวนคะแนนเสียง 374 ของผู้ให้ความเห็นชอบผ่านวาระ 1 เด่นชัดยิ่งว่าดำเนินไปอย่างหนักแน่น มั่นคง

พร้อมเข้าสู่วาระ 2 พร้อมผ่านวาระ 3

การ รับเรื่องเพื่อพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอาจเท่ากับเป็นระเบิดเวลา เหมือนกับที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับก่อนต้องค้างวาระ 3 อยู่ในรัฐสภาตราบ ณ บัดนี้ แต่ดูเหมือนสมาชิกรัฐสภา 374 พร้อมที่จะตีฝ่าไป

เพื่อยืนยันอำนาจของรัฐสภา อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

ไม่มีใครคาดการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะลงมารับลูกในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยความรวดเร็วอย่างนี้

เพราะประเมินว่ามี "บทเรียน" มาแล้ว

เป็นบทเรียนที่ฝ่ายนิติบัญญัติในเบื้องต้นอาจละล้าละลัง รวนเร ไม่แน่ใจ จึงยื่นแก้ไขเป็นรายมาตรา แทนที่จะเดินหน้าโหวตวาระ 3

นี่คือความพยายามในเชิง "ประนีประนอม"

นี่คือความพยายามอันเท่ากับเป็นการยอมรับต่อคำวินิจฉัยและคำชี้แนะจากศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพ

หวังว่าจะได้รับความเมตตา หวังว่าจะเปิดช่องทางให้ทำได้

แต่ จากการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของ ส.ว.สรรหาอันมาจากขบวนการรัฐประหาร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญขานรับด้วยมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องไว้พิจารณาจึงมีความแน่ชัด

แน่ชัดในอาการ "จงอาง" หวงไข่

คำถามอยู่ที่ว่า 374 เสียงอันเป็นสมาชิกรัฐสภาจะมีความเป็นเอกภาพ จะดำรงจุดมุ่งหมายและความแน่วแน่ไว้มากน้อยเพียงใด

นี่ย่อมเป็นการประลองพลังอันแหลมคมยิ่งทางการเมือง

สถานการณ์ในเดือนเมษายนจึงร้อนทั้งอากาศและเข้มข้นด้วยบรรยากาศแห่งการปะทะขัดแย้ง

การ ดำรงความมุ่งหมายของขบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังมีอยู่อย่างเข้มข้น และพร้อมจะใช้กลไกทางกฎหมายและทางการเมืองที่มีอยู่มาเป็นอาวุธ

เป็นอาวุธในการโค่นล้มและทำลาย

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น