9 ปีตากใบ PerMAS จี้คู่ขัดแย้งบอกวันยุติสงคราม เปิดทางประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง
โดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เกาะกระแส 9 ปีตากใบ PerMAS ออกแถลง จี้คู่ขัดแย้งบอกวันยุติสงคราม
เปิดทางประชาชนใช้สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง
เวทีเสวนาชี้เหยื่อตากใบตายหลังเหตุชุมนุมอีกเพียบ
องค์กรสิทธิยันให้เงินเยียวยาไม่ใช่ความยุติธรรม
ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ ชี้ทั้งสองฝ่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบ
กอ.รมน.ระบุคนที่ไม่เกี่ยวเอามาใช้ปลุกระดม
วอนอย่ายกมาอ้างเพื่อก่อความรุนแรง
25 ตุลาฯ ครบรอบ 9 ปีตากใบ
วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ตรงกับวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์ตากใบ หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างร่วมกันจัดงานรำลึกหรือมีความเคลื่อน ไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น การออกแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ในพื้นที่
เหตุการณ์ตากใบ คือ เหตุเจ้าหน้าที่รัฐได้สลายการชุมนุมของประชาชนนับพันคนที่หน้าสถานีตำรวจ ภูธรตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนชาวมุสลิมรวม 85 คน โดยเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 78 คน เหตุการณ์กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของรัฐไทยต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยกลุ่มที่ออกมาทำกิจกรรมในวันดังกล่าว เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ที่จัดงานเสวนา 9 ปีตากใบ "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โดยนำเรื่องการรำลึก 9 ปีเหตุการณ์ตากใบโยงกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเต็มห้องประชุม
ชี้เหยื่อตากใบตายหลังเหตุการณ์อีกเพียบ
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ฝ่ายต่างประเทศ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวระหว่างเสวนาว่า สถานการณ์ปัจจุบันของผู้ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ตากใบไม่ค่อยมีการพูดถึง หรือรำลึกมากนัก เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาจากรัฐ โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิตที่ได้รับเงินเยียวยาถึงรายละ 7.5 ล้านบาท
นายอาเต็ฟ กล่าวอีกว่า การเยียวยาดังกล่าวเป็นความฉลาดของรัฐไทยในการเมืองระหว่างประทศ เพราะรัฐไทยต้องการให้นานาชาติเห็นว่ารัฐได้ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งๆที่ชาวบ้านได้เงินเยียวยา7.5 ล้านบาทนั้น เป็นผลพลอยได้จากนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของ คนเสื้อแดง ไม่ได้มาจากการเรียกร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบโดยตรง
“ที่สำคัญคือหลังเหตุการณ์ตากใบ ผู้ชุมนุมหลายคนที่กลับไปอยู่บ้านแล้วถูกยิงเสียชีวิตจำนวนมากกว่าผู้เสีย ชีวิตในเหตุการณ์ตากใบเสียอีก แต่หน่วยงานที่เก็บสถิติไม่ได้เก็บสถิติผู้เสียชีวิตในกรณีนี้” นายอาเต็ฟ กล่าว
หลังการเสวนามีการแสดงละครใบ้ตากใบ แสดงโดยกลุ่มนักศึกษาหญิงงของ Permas ประมาณ 20 คน จากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์ โดยมีนายสุไฮมี ดูละสะ ประธาน Permas
PerMAS แถลง “ตากใบบทเรียนเพื่อยุติสงคราม”
แถลงการณ์ เรื่อง รำลึก 9 ปีตากใบบทเรียนเพื่อยุติสงคราม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับปาตานีได้ยกระดับถึงขั้นมีการพูดคุย สันติภาพแล้ว แต่เหตุการณ์ตากใบยังคงเป็นคำถามคาใจของประชาชนปาตานี โดยรัฐไทยยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ให้เป็นจุดเริ่มต้นสอบเหตุรุนแรง-ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง
แถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ สรุปได้ดังนี้
1.ให้คู่สงครามทำสงครามภายใต้กติกาสากล
2.ขอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน โดยเฉพาะรัฐมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพปาตานีควร แสดงบทบาทนี้โดยเริ่มจากเหตุการณ์ตากใบ
3.ให้คู่สงครามชี้แจงว่าจะยุติสงครามเมื่อไหร่และอย่างไร เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถกำหนดบทบาทและท่าทีต่อการสร้างสันติภาพได้อย่างสอด คล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
4.ขอให้คู่สงครามและผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพให้ความสำคัญว่า ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองตามหลักสิทธิมนุษยชนและ ประชาธิปไตยสากล
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยัน“ให้เงินเยียวยาไม่ใช่การให้ความยุติธรรม”
ส่วนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ CRCF ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มา อย่างต่อเนื่อง ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ตากใบเช่นกัน
แถลงการณ์ดังกล่าวได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบกับการเยียวยาและความ ยุติธรรม โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นคนละ 7.5 ล้าน บาท ผู้ได้รับบาดเจ็บคนละ 200,000 - 4.5 ล้าน และผู้ถูกควบคุมตัว คนละ 15,000บาท จากเดิมในคดีแพ่งที่รัฐตกลงจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสีย ชีวิตและผู้บาดเจ็บคนละ 3-4 แสนบาท
แถลงการณ์ยังระบุว่า แม้รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเยียวยาอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่า คือการเยียวยาด้วยความจริงและความยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเยียวยาต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวมด้วย
“การจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจมองว่าเป็นการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด”
แถลงการณ์ระบุว่า กรณีมีผู้เสียชีวิต 6 ศพในที่เกิดเหตุ ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนและไม่มีการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม มาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด จึงงดการสอบสวน
เผยจุดจบเส้นทางคดี “อัยการไม่ฟ้องผู้ทำผิด”
“ส่วนผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 ศพ แม้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพและศาลมีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสีย ชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวพนักงานอัยการก็มีคำ สั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ เป็นเหตุให้การดำเนินคดีอาญา โดยรัฐสิ้นสุดเพียงเท่านี้”
แม้กฎหมายจะให้สิทธิญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง ที่ ผ่านมาญาติได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)เป็นผู้ฟ้องคดีแทน แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยกสม.ให้เหตุผลว่าญาติผู้เสียชีวิตไม่ประสงค์จะฟ้องคดีอาญาแล้ว เนื่องจาก มีปัจจัยหลายประการที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ยาวนาน ความกังวลต่อความปลอดภัย ฯลฯ
“การที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแต่เพียง ลำพังเป็นภาระที่มากเกินไป รัฐต้องสนับสนุนให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย”
“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กระบวนการปรองดอง และสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากซึ่งความจริงและความยุติธรรม จึงขอ เรียกร้องให้รัฐอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง”
แอมเนสตี้ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ
ส่วนองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ออกแถลงการณ์ต่อกรณีตากใบเช่นกัน โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ ประท้วง 85 คนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นางสาวปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณี ความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลพ้นผิดไม่ต้องรับโทษในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ไปด้วย
“กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ”
ให้เงินแล้วไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ละเมิดสิทธิอีก
นางสาวปริญญา ได้ยกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ที่บังคับใช้ในพื้นที่มีลักษณะที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้เป็นข้ออ้างไม่ต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกทันที หรือแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้าน สิทธิมนุษยชนได้
นางสาวปริญญา กล่าวด้วยว่า การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้า สู่กระบวนการยุติธรรม และไม่ได้เป็นการรับประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งสองฝ่ายที่ก่อความรุนแรงต้องมีส่วนรับผิดชอบ
นางสาวปริญญา กล่าวว่า นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
“ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้ เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางหรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษผู้ละเมิดสิทธิ มนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม” ปริญญากล่าว
(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2013/10/49414
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น