หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิติราษฎร์ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลทางกฎหมาย ร่างแก้ไข รธน.ยังสมบูรณ์

นิติราษฎร์ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลทางกฎหมาย ร่างแก้ไข รธน.ยังสมบูรณ์

 

 
แถลงการณ์นิติราษฎร์ เรื่องคำวินิจฉัยศาลรธน.กรณีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.


23 พ.ย.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนิติราษฎร์จัดแถลงข่าววิพากษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ที่มีคำวินิจฉัยไปเมื่อ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา  การแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลขนและประชาชนเป็นจำนวนมาก

ช่วยเสียงข้างน้อยทำลายเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มการแถลงข่าว ระบุว่า นิติราษฎร์เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความผิดพลาดร้ายแรงในแง่ของ เขตอำนาจของศาลตลอดจนความบกพร่องในการวินิจฉัย ซึ่งศาลชี้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีความบกพร่องทั้งในแง่เทคนิค คือ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน รวมถึงกรณีความบกพร่องทางเนื้อหา

สำหรับเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น วรเจตน์ชี้ว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ถ้าทำให้ความเข้าใจถ่องแล้วก็ไม่ต้องวิเคราะห์ เรื่องอื่นต่อไปอีก

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ด้วยตัวเอง ไม่ได้เกิดจากกฎหมายธรรมชาติหรือเทศบัญญัติหรือกฎหมายอื่นใด ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญก่อตั้งศาลขึ้นมาก็กำหนดอำนาจหน้าที่ขึ้นมา

บุคคลที่ทรงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานหรือตัดสินคดีไม่สามารถตัดสินคดีได้ตามอำเภอใจ เช่นมีคนฆ่าคนตาย ฝ่ายของคนที่ถูกฆ่าตายก็ไปร้องให้ศาลวินิจฉัยโดยเชื่อว่าศาลจะทรงความ ยุติธรรมเหนือกว่าศาลอื่นใด ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรับตัดสินก็ไม่มีผลทางกฎหมาย

ศาลมีเขตอำนาจจำกัดตามที่รธน. และการดูเรื่องขอบเขตอำนาจเป็นเรื่องต้องทำก่อนการวินิจฉัยคดี

สิ่งที่ทำเมื่อวันที่ 20 พ.ย. คือศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าตัวเองมีอำนาจวินิจฉัย แต่ไปอ้างหลักการเสียงข้างน้อยมาใช้ ฟังดูอาจจะเคลิ้มแต่ถ้าเราคิดและตรึกตรองดูให้ดีแล้วจะพบว่าการอ้างหลักการ คุ้มครองเสียงข้างน้อยมีความคลาดเคลื่อนหลายประการ

นิติราษฎร์เห็นว่าสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือเสียงของ ประชาชน และประชาชนนั้นมีจำนานมาก และมีความคิดความเห็นต่างกัน หากต้องหาเจตจำนงของประชาชนให้ยุติโดยความเห็นพ้องอย่างเอกฉันท์นั้นเป็นไป ไม่ได้ จึงต้องใช้หลักเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องมีหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยเพื่อให้ข้อยุติจากเสียงข้างมาก เป็นไปอย่างมีเหตุผล แต่การคุ้มครองเสียงข้างน้อยไม่ใช่การยอมทำตามเสียงข้างน้อย แต่เปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็น เพื่อโน้มน้าวให้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อจะเป็นเสียงข้างมากในวันหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่เป็นหลักการที่สำคัญ

ศาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ในการทำให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมาย เพราะศาลรธน. ไม่ใช่ผู้แทนของเสียงข้างน้อย ผู้แทนของเสียงข้างน้อยคือฝ่ายค้านในสภา แต่ศาลรธน.เป็นคนกลางที่ทำหน้าที่วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญสรุปลงอย่างง่ายๆ ว่าเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืน แต่ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่สนับสนุนว่าเสียงข้างน้อยในประเทศนี้ไม่มีที่อยู่ที่ยืนอย่างไร ไม่มีที่บอกว่าทุกวันนี้ไม่มีกลไกการตรวจสอบเสียงข้างมาก ตราบที่มีศาลรัฐธรรมนูญมันยังมีกลไกตรวจสอบ ยังมีมติสาธารณะ มีคอลัมนิสต์มีการแสดงความเห็นที่ทำให้เห็นว่าเสียงข้างน้อยมีที่อยู่ที่ยืน

สำหรับการแก้ไขที่มา ส.ว.เสียงข้างน้อยที่ไมเห็นด้วยกับเสียงข้างมากที่ลงคะแนนไปแล้วก็ควรจะไป รณรงค์ใช้เหตุผลโน้มน้าวใจคนอื่นให้เห็นด้วย ไม่ใช่การบังคับข่มขืนใจคนอื่นให้เห็นด้วยได้

ศาลรธน. สมควรต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างการเมืองว่าควรอย่างไร เป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองคือ รัฐสภา เพราะบุคคลเหล่านี้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนร่วมกับองค์กรทางการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างหลักนิติธรรมขึ้นในหลายแห่งของคำวินิจฉัย ฟังดูดีแต่พอดูรายละเอียดจะพบว่าเป็นการอ้างที่เลื่อนลอย การอ้างอย่างนี้โดยผลของคำวินิจฉัยนี้ก็คือการควบคุมขัดขวางเสียงข้างมาก เพื่อให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผล การทำอย่างนี้สุดท้ายเป็นการช่วยให้เสียงข้างน้อยทำลายเจตนารมณ์ของเสียง ข้างมาก และทำให้เสียงข้างมากต่างหากที่ไม่มีที่อยู่ที่ยืน เป็นการสนับสนุนเผด็จการเสียงข้างน้อยในที่สุด


ตัดสินไม่มีผลทางกฎหมาย

วรเจตน์กล่าวว่า อารัมภบทที่ศาลรธน. พูดมายืดยาว ไม่เข้าข้อกฎหมาย เมื่อพิจารณาตามมาตรา 68 ทุกคนก็เห็นว่าไม่ค่อยมีที่ใช้โดยปกติ เว้นแต่ปัจเจกบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการเข้าองค์ประกอบ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้น

ตัวบทของมาตรา 68 พูดเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" ว่าบุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางล้มล้างการปกครองหรือให้ได้มาซึ่งอำนาจอัน ไม่เป็นไปถามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้  จะไปแปลว่าเป็นเรื่อง "อำนาจ" ได้อย่างไร เรื่องทีเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบุคคลหรือพรรคการเมืองด้วย แต่เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีอำนาจ  แต่คำวินิจฉัยของศาลนั้นปะปนกันไปหมดระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพกับการใช้ อำนาจหน้าที่ และนักกฎหมายหลายคนก็ออกมาพูดว่าสิทธิเสรีภาพก็คืออำนาจ

“เดี๋ยวนี้คนเขามีสติปัญญาที่จะคิดได้ว่าที่คุณพูดมามันมั่ว”

นอกจากนี้วรเจตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในคำวินิจฉัยนั้นศาลอ้างเรื่องการไปตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอื่นๆ แต่กลับไม่มีการถ่วงดุลตัวเอง

“ศาลถ่วงดุลคนอื่นหมดเลย แล้วใครถ่วงดุลท่าน” วรเจตน์ตั้งคำถาม

คนที่ไม่ทำตามขั้นตอนที่รธน.กำหนดไว้แน่ๆ ก็คือศาลรธน.เอง เพราะรธน.กำหนดให้ไปยื่นเรื่องที่อัยการสูงสุดก่อนเพื่อกลั่นกรอง แต่นี่เสียงข้างน้อยที่โหวตแพ้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรธน.โดยตรงและศาลก็รับไว้ พิจารณา เป็นการไม่เคารพขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องเรียนกฎหมายก็รู้ 

ผลของการวินิจฉัยมาตรา 68 เป็นการสถาปนาอำนาจของศาลรธน.ขึ้นมาเอง ตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ชอบด้วยหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ชอบด้วยหลักการจัดโครงสร้างรัฐ ถ้าปล่อยให้การตีความมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมเป็นแบบนี้ก็เป็นการปล่อยให้เขตอำนาจขยายไปเรื่อย เชื่อว่าจะมีคนมาร้องศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา เพราะมีคนพร้อมจะทำเช่นนั้นอยู่แล้วในทุกเรื่อง ศาลจะมีอำนาจในการรับคดีต่างๆ มาพิจารณาคดีเต็มไปหมด กลายเป็น "ซูเปอร์องค์กร" เป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรทั้งปวง และศาลนั้นแม้จะเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่โดยผลของการใช้กฎหมายแบบนี้จะกลับเป็นคนที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเอง มันจะเกิดสภาพวิปลาส ผิดเพี้ยนไปหมด มีผลรุนแรงทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด โดยความร้ายแรงแบบนี้เองที่ทำให้เราต้องยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐ ธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมาย


 

เวลาจะล้มเรื่องใหญ่ๆ มักอ้างกระบวนการไม่ชอบ

ปิยบุตร แสงกนกกุล วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ วินิจฉัยข้อบกพร่องในกระบวนการ โดยอธิบายว่าเวลาเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ต้องเอาประเด็นมาวาง เอาหลักกฎหมายมาวางแล้วเอาข้อเท็จจริงมาวินิจฉัย แล้วปรับใช้ แต่จากคำวินิจฉัยของศาลนั้นไม่ใช่การอ้างหลักกฎหมาย เป็นการพรรณนาความไปเรื่อยๆ แล้วพอจะลากเข้าหาเขตอำนาจ ก็ไปอ้างเอาหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรธน.เพื่อจะบอกว่ากำลังทำตามรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งจริงๆ รธน.กำหนดให้ทุกองค์กรทำไปตามหลักนิติธรรมซึ่งต้องรวมตัวศาลรัฐธรรมนูญด้วย

"ท่านเทศนา สั่งสอนประณามฝ่ายการเมืองลงไปในคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะเอามาตัดสินคดี ในระบบกฎหมายเขียนแบบนี้ไม่ได้ ไม่ใช่การใช้เหตุผลในทางกฎหมาย"

องค์คณะมีปัญหา

ประเด็นองค์คณะ นิติราษฎร์ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ และเมื่อมาพิจารณาในแง่องค์คณะ เวลาที่รับคำร้อง ไม่มีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและโปรดเกล้าฯ ภายหลัง แต่ท้ายสุดกลับมาลงคะแนนเสียงในการวินิจฉัย ซึ่งตามหลักแล้วทำไม่ได้ สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ คู่ความต้องรู้ล่วงหน้าว่าใครจะมีตัดสินคดีเขา ถ้าไม่ไว้วางใจ คู่กรณีจะได้มีโอกาสในการร้องคัดค้านองค์คณะ

ประเด็นต่อมาคือ ถ้าองค์คณะรับฟ้องมี 7 คนแล้วมาตัดสิน 9 คน ถ้ามีการเปิดโอกาสแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเปิดโอกาสให้เติม-ลดองค์คณะได้เรื่อยๆ  ซึ่งมีผลต่อการนับเสียงในการวินิจฉัย โดยปิยบุตรย้ำว่าองค์คณะที่รับเรื่องไปจนตัดสินวินิจฉัยต้องเป็นองค์คณะเดิม เป็นจำนวนเดิมและเป็นคนเดียวกัน เว้นแต่กรณีตาย หรือถูกร้องค้าน

ประเด็นถัดมา องค์คณะต้องเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่ทัศนคติของนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งได้เคยแสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภาแบบเลือกตั้งแล้วในอดีต ในการอภิปรายเรื่องส.ว.สรรหา ในสสร.50 หากให้นายจรัญวินิจฉัยคดีนี้ก็ชัดเจนว่าเขาจะไม่สนับสนุน ส.ว. เลือกตั้ง  ปิยบุตรเห็นว่านี่เป็นกรณีที่นายจรัญต้องถอนตัว

ทำไมเราต้องใส่ใจคำวินิจฉัยนี้ คำตอบคือเพราะศาลได้อ่านออกสาธารณะจนทำให้สาธารณชนได้เข้าใจว่าเรื่องเหล่า นั้นเกิดขึ้นจริง เพราะสภาก็ทำผิดจริง แม้ว่าศาลจะไม่มีอำนาจ ปิยบุตรโต้แย้งว่ากระบวนการต่างๆ ที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบนั้น ไม่จริงเลย ทั้งประเด็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมเป็นคนละร่างกับร่างฯ ที่เสนอ ประเด็นการนับวันในการเสนอคำแปรญัตติซึ่งศาลเห็นว่าให้เวลาฝ่ายที่ไม่เห็น ด้วยเสนอคำแปรญัตติแค่ 1 วัน ซึ่งน้อยเกินไป รวมไปถึงประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน

กระบวนการไม่ชอบจริงหรือ 

ประเด็นแรก เรื่องร่างฯ วันที่ยื่นกับร่างฯ วันที่แก้ เป็นคนละร่างฯ กันนั้นเป็นความจริง แต่ไม่ส่งผลเสียหายใดๆ ตามกระบวนการขั้นตอนเพราะวันที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้โอกาสในการพิจารณาร่างฯ ฉบับที่มีการแก้ไขในวันนั้นเหมือนๆ กัน สมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่ได้รับแจกร่างฯ ที่มีการแก้ไขแล้วทั้งหมด นี่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะส่งผลร้ายถึงกับจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีความ บกพร่อง

ประเด็นนับวันเสนอการแปรญัตติ ที่ศาลเห็นว่าเหลือเวลา 1 วันเท่านั้นศาลชี้ว่าขัดข้อบังคับ ปรากฏว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2553 ข้อ 96 กำหนดให้แปรญัตติภายใน15 วันนับจากวันรับหลักการในวาระ 1 เว้นแต่รัฐสภาเห็นเป็นอย่างอื่น ซึ่งต้องลงมติว่าจะเปลี่ยนจาก 15 เป็นกี่วัน ข้อเท็จจริงคือประธานรัฐสภาถาม ก็มีคนเสนอขอ 60 วัน แต่ปรากฏว่าเมื่อจะโหวตองค์ประชุมกลับไม่ครบ จึงกลับไปสู่หลักเดิมคือ 15 วัน

“ปัญหาคือ 14 วันก่อนหน้านั้นทำไมท่านไม่มาเสนอคำแปรญัตติ พอมาเหลือ 1 วัน ท่านมาขอขยายเวลาเป็น 60 วัน”

ความร้ายแรงของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าการนับเวลาย้อนหลังไปจะ ทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1 วันขัดข้อบังคับการประชุมและขัดกับหลักนิติธรรม แต่กลับไม่มีข้อบังคับข้อไหนเลยที่ศาลจะนำมาอ้าง เพราะไม่มีข้อบังคับไหนกำหนดให้นับวันแบบศาลรัฐธรรมนูญบอก หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้โดยไม่มีกฎหมาย คนที่เป็นศาลจะต้องตัดสินคดีด้วยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ไม่ใช่ตัดสินตามความรู้สึก ไม่ใช่สร้างกฎหมายขึ้นมาเอง โดยเขายกเอารธน. มาตรา 197 มาอ้าง

ประเด็นต่อมา คือ การตัดไม่ให้สมาชิกอภิปรายในวาระ 2 ซึ่งมีคนแปรญัตติ 57 คน ถูกตัดสิทธิอภิปรายเพราะทำผิดข้อบังคับเนื่องจากเหลือวันอภิปรายเพียง 1 วัน แต่ศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ปิยบุตรชี้ว่าประเด็นนี้ศาลได้ทิ้งเชื้อไว้ ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติในประเทศไทยมีปัญหาในอนาคต ต่อไปกฎหมายฉบับที่สำคัญๆ พรรคฝ่ายค้านจะขอแปรญัตติเป็นร้อยๆ คนเมื่อใกล้กำหนดเวลา และหากจะโดนตัดสิทธิอภิปรายก็จะหยิบยกคำวินิจฉัยนี้ขึ้นมาอ้าง

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ศาลมีอำนาจในการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเองตามคำร้อง มีการเสียบบัตร 8 ใบ ต่อให้จริง มติเห็นชอบในการแก้ไขรธน.นั้นกระทบกระเทือนหรือไม ข้อเท็จจริงคือมันไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงมติตอนจบ จะเอาเรื่องเสียบบัตรแทนมาล้มมติไม่ได้ และถ้ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องก็ต้องไปลงโทษคนที่ เสียบบัตรแทนกัน ไม่ใช่มาล้มร่างฯ ฉบับนี้ เพราะถ้าจะใช้วิธีนี้ก็จะเกิดการกลั่นแกล้งกันต่อไป เช่น ต่อไปฝ่ายข้างน้อยก็อาจจะใช้การเสียบบัตรแทนกันเพื่อทำลายมติในตอนหลัง อย่างไรก็ตาม หากประเด็นเสียบบัตรแทนจะมีผลล้มมติ ต้องเป็นการเสียบบัตรจำนวนมากๆ ต่างกับกรณีนายทวีเกียรติเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีองค์คณะจำนวนน้อย

“เวลาศาลจะล้มเรื่องใหญ่ๆ ศาลจะใช้เรื่องกระบวนการ” ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตโดยยกกรณีการเพิกถอนการเลือกตั้งเพราะหันคูหาออก ซึ่งเขาชี้ว่ากระบวนการนั้นเป็นเรื่องผิดพลาดได้ในการทำงาน หากจะมีผลต่อผลลัพธ์ต้องเป็นกรณีที่หากบกพร่องแล้วผลลัพธ์จะเปลี่ยน

ชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของศาล

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา วิจารณ์ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลในเนื้อหาของร่างแก้ไขรธน.โดยศาลชี้ว่าจะ ทำให้เกิดการไม่สมดุล เป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัวหรือสภาผัวเมียทำให้สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญา ให้กับสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา
ศาลเข้ามาใช้อำนาจชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมืองเป็นกรณีที่ศาลกระทำ สิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลและการมีวุฒิสภาในประเทศอื่นในโลกที่เป็น ประชาธิปไตยก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งการที่ศาลอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย

ส่วนการมีเจตจำนงให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งเป็นการถาวรตลอดไปก็ต้องเขียนไวในรัฐธรรมนูญมาตรา 291

ปิยบุตรกล่าวเสริมว่า การพยายามมาแตะเรื่องเนื้อหาเพราะว่าการแก้ไขส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตาม ระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางหลักไว้ว่าจะไม่มีใครสามารถมาเสนอเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายแดนของบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตามรธน.มีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นที่แก้ไม่ได้ คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรื่องรูปของรัฐ

ถ้าเห็นด้วยกับ ส.ว. แต่งตั้งก็ไปร่วมรณรงค์กับเสียงข้างน้อยเพื่อโน้มน้าวให้เสียงข้างมากเห็น ด้วย ไม่ใช่เอาทัศนคติตัวเองไปลงไว้ในคำวินิจฉัย ซึ่งปิยบุตรย้ำอีกครั้งส่า ส.ว. แต่งตั้งเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหาร

ถ้ายอมรับคำวินิจฉัย ต้องอยู่กับ รธน. 2550 ชั่วกัลปาวสาน

วรเจตน์ ปิดท้ายการแถลงข่าวโดยสรุปว่า หลังจากนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า แม้คำวินิจฉัยจะมีปัญหาร้ายแรงตามที่วิพากษ์วิจารณ์มา แต่หากไม่ทำตาม ไม่ยอมรับ บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อไม่มีแป จะทำอย่างไรกันต่อไป

“เราจะยอมถูกกดขี่โดยคำวินิจฉัยไปชั่วกัลปาวสานหรือ นี่มันไม่ใช่หลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย” วรเจตน์กล่าวพร้อมระบว่าอาจมีคนอ้างมาตรา 206 วรรค 5 ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรธน. ให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แต่วรเจตน์เห็นว่ากรณีนี้โมฆะ เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอง ในทางกฎหมายต้องถือเป็นโมฆะ บังคับองค์กรของรัฐไม่ได้ แต่ถามว่าจะเกิดวิกฤตไหม เกิดวิกฤตแน่นอน

ในส่วนของผลทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไร ระหว่างนี้มีคนบอกว่าร่างรธน. นี้ตกไปแล้ว แต่ถามว่าตกไปจากไหน ตอบไม่ได้ กระบวนการขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ได้บอกว่าร่างรธน.นี้ตกไป เพราะเขาไม่มีอำนาจจะบอกได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย จะสั่งกษัตริย์ให้ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ไม่ได้ มาตรา 68 ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ

ดังนั้นขณะนี้ร่างรธน. ยังมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และหากกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าไม่ทรงวงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาก็ต้องมาปรึกษากัน ถ้าลงมติยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ตกไป แต่ถ้าลงคะแนนถึง 2 ใน 3 ก็ต้องยืนยันทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และครั้งนี้หากพ้น 60 วันก็ประกาศเป็นกฎหมายต่อไปได้

"ไม่มีหลักกฎหมายที่บอกให้นายถอนร่างฯ ดังกล่าวออกหลังจากที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว"

ผลทางการเมืองของคำวินิจฉัย ปัญหาตอนนี้ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องหงอ ยอม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง ผลคือสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย กระทบกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ รัฐสภาจะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ได้อีก และจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปตลอดกัลปาวสาน และศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นองค์กรที่ีอำนาจสูงสุด ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ายังคงยอมรับผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เขาชี้ว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่มีผลในทางแก้วิกฤตความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ซ้ำยังสร้างวิกฤตของหลักนิติรัฐด้วย

วรเจตน์ชี้ว่าหลังจากนี้สภาต้องประชุมกันลงมติว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่มีผล ผูกพันสภา จึงจะเป็นทางออกได้ บีบให้เกิดการปะทะกันของขั้วทางสังคม และหากมีปัญหาต่อไปภายภาคหน้า ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัยวันที่ 20 พ.ย. 2556
"ผมพูดจากใจให้รัฐบาลไทยไปให้สัตยาบันในอนุสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แล้ว เพราะถ้าวันข้างหน้าการพูดจากันทำไม่ได้อีกแล้วในสังคมนี้ อย่างน้อยการใช้กำลังทหารมาทำความรุนแรงกับประชาชนจะได้ไปในระดับระหว่าง ประเทศ คนที่จะเอาทหารออกมาจะได้คิด แล้วนี่น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในระยะเวลาอันไม่ช้าไม่นานมานี้"

ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในประเทศ

ธีระ สุธีวรางกูร สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์แสดงความเห็นส่วนตัวในช่วงท้ายของการแถลงข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในประเทศไทย เพราะเริ่มมีสถานะเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และตามคำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2556 ศาลกำลังวางเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในอันตราย ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะปกปักรักษาโครงสร้างของระบบการเมืองแบบเดิมๆ เอาไว้ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนผ่าน อีกประการหนึ่งจากที่ศาลบอกว่ารัฐสภาไม่สามารถไปแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจการ ตรวจสอบของตัว เป็นการแสดงให้เห็นงว่าศาลไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตัว เอง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลไม่ยอมให้แก้ไขยุบองค์กรของตัวเอง

เขากล่าวว่าความเข้าใจของนายถาวร เสนเนียม ที่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดจากหลักการ แต่ถูกต้องในความเป็นจริง

อันตรายอยู่ตรงที่ว่าเมื่อสังคมไทยต้องการเปลี่ยนแปลงในระบบปกติ เมื่อระบบปติทำไม่ได้ประชาชนจะใช้วิธีการที่ไม่ปกติ และการเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจึงเปลี่ยนได้ยาก โดยท้ายที่สุดเขาได้เรียกร้องความรับผิดชอบจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคม ไทยต่อการใช้อำนาจบาทใหญ่ในสังคมมากขึ้นทุกวันของศาลรัฐธรรมนูญ

"ถ้าท่านไม่สู้ ผมก็จะอยู่บ้านเลี้ยงลุก แต่ถ้าท่านสู้ ผมก็จะสู้ร่วมกับท่าน"

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/11/49936 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น