หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทบาท การเมือง อาจารย์ นักวิชาการ ก้าวหน้า ถอยหลัง

บทบาท การเมือง อาจารย์ นักวิชาการ ก้าวหน้า ถอยหลัง





นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ "มติชน" เมื่อต้นสัปดาห์

ถึงสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ว่า

"ถ้าย้อนกลับไปดูวันนี้เราไม่ได้ก้าวเกินกว่าปัญหาในปี 2549 เลย

"ที่เสียดายคือมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นคนกลาง ดีกว่าให้ทหารเป็นคนกลางในการเชื่อมรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

"ผม มีความฝันอยู่เสมอว่า ถ้ามีวิกฤตในสังคมไทยอยากเห็นจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิด้า หรือมหิดล เปิดเวทีเชื่อมคู่ขัดแย้งทางการเมืองให้หันกลับมาคุยกันอย่างมีสติ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

"วันนี้การที่ทุกคนโยนภาระให้ทหารก็เพราะทุกคนต้องการหาคนกลาง หรืออยากหาผู้อำนวยความสะดวก เพื่อมีเวทีกลางให้เกิดการพูดคุย

"เมื่อมหาวิทยาลัยปิดประตูเลือกข้าง ความหวังจึงไปอยู่กับทหาร"


เป็นข้อวิเคราะห์ที่ "จี๊ด" เข้าไปในใจนักวิชาการ

ถ้ายังมีความเป็นนักวิชาการหลงเหลืออยู่

เพราะตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุมที่อำนวยการโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่นาน

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็แสดง "จุดยืน" ทางการเมืองชัดเจน

ชัดเจน ที่สุดก็คือในวันที่ 24 พฤศจิกายน เมื่อเป็นทั้งตัวตั้งตัวตีและใช้สรรพกำลังทุกอย่างของมหาวิทยาลัย เอื้อให้ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ร่วมเดินขบวนใหญ่ตามคำเรียกร้องของนายสุเทพ

ก่อนจะออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมหน่วยงานของรัฐและกลไกอื่นของรัฐให้แก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

ตามด้วยแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ในวันที่ 29 พฤศจิกายนเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาโดยเร็ว

และให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนยุบสภา

รวมทั้งประเด็นการบริหารประเทศในระหว่างยุบสภา

ตามมาด้วยประกาศฉบับที่ 4 ในวันที่ 2 ธันวาคม

ที่เรียกร้องหา "รัฐบาลคนกลาง"


เป็นเสียงเดียวกัน เป็นท่าทีเดียวกันกับนักวิชาการที่ขึ้นเวทีชุมนุมของนายสุเทพ อย่าง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า ที่แถลงเสียงดังฟังชัดว่า

ระบบการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ใช้ไม่ได้ผลในประเทศไทย

ควบคู่ไปกันนั้น โลกไซเบอร์ก็เผยแพร่ทรรศนะของ นายเสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่พูดว่า 300,000 เสียงของคนกรุงเทพฯที่มีคุณภาพ ดีกว่า 15 ล้านเสียงของคนที่ไม่มีคุณภาพ

อันเป็นคำให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ปี 2554 หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนกว่า 15 ล้านเสียงไม่นาน

และล่าสุด นายเสรีก็จะขึ้นเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ประกาศไม่ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่มิใช่จะมีเฉพาะนักวิชาการฝั่งม็อบเท่านั้นดอก

การ เกิดขึ้นของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ที่พัฒนาจากการรวมตัวของ 135 อาจารย์ ผู้คัดค้านการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำชื่อของมหาวิทยาลัยไปใช้โดยไม่สอบ ถามความเห็นจากประชาคมมหาวิทยาลัย เพราะจุดยืนที่เอียงกระเท่เร่ทางการเมือง

ก็น่าสนใจยิ่ง

ไม่ใช่เพียงเพราะจะมี "มวลมหาประชาชน" เข้ามา "กดไลค์" ในเฟซบุ๊ก กว่า 200,000 คนและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาไม่กี่วัน

แต่ยังเพราะจุดยืนและน้ำหนักของข้อเสนอในการรักษาและขยายพื้นที่ "สิทธิเสรีภาพ" และ "ประชาธิปไตย" นั่นหรอก

ที่โดนใจคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

จุดยืนของ สปป.ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักวิชาการและประชาชนหลากหลายอาชีพ อาทิ นาย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเกษียร เตชะพีระ, นางพวงทอง ภวัครพันธุ์, นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายประจักษ์ ก้องกีรติ ฯลฯ นั้นชัดเจนยิ่ง

ว่าทางออกจากวิกฤตประเทศอย่างสันติตามหลักกติกาสากลคือ

การเลือกตั้ง
ในสงครามที่จะต้องช่วงชิง "การสนับสนุนของมวลชน" ลำพังจุดยืนและท่าทีของนายสุเทพก็หลุดไปไกลสุดกู่อยู่แล้ว

ยิ่งมีลูกคู่คอยอธิบายขยายความ มีลูกขุนพลอยพยัก ก็ยิ่งไปกันใหญ่

จึงกลับมาที่คำถามข้างต้นของนายสุรชาติว่า

ทำไมมหาวิทยาลัยเป็นหลักความคิดไม่ได้ ทำไมบางส่วนก้าวหน้าทันโลก

แต่บางส่วนสมัครใจเดินหน้าเข้าคลอง?

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387439798&grpid=&catid= 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น