หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ชี้ 'อำมาตย์ไทย' ดิ้นเฮือกสุดท้าย

ชี้ 'อำมาตย์ไทย' ดิ้นเฮือกสุดท้าย

 

ชี้ 'อำมาตย์ไทย' ดิ้นเฮือกสุดท้าย 
นักวิชาการชาวอังกฤษชื่อดังชี้ ชนชั้นนำเก่าที่มีชนชั้นกลางเป็นพันธมิตร กำลังถ่วงทานอำนาจของชาวชนบทที่กลายเป็นชาวเมือง แนะพรรคปชป.คิดนโยบายสู้ 'ทักษิณ' แทนสถาปนา 'เผด็จการกรุงเทพ'
 
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ตีพิมพ์บทความ เรื่อง "The last gasp of Thai paternalism" เขียนโดยอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ Duncan MacCargo  วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ 'มวลมหาประชาชน' เป็นภาพสะท้อนถึงความพยายามของชนชั้นนำจารีต กับชนชั้นกลางกรุงเทพ ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหอก ที่จะเหนี่ยวรั้งอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้งของชาวบ้านที่กลายเป็นชาว เมือง และจัดตั้งเผด็จการเมืองหลวงขึ้นปกครองคนทั้งประเทศ

ดันแคน แม็กคาร์โก บอกว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งสนับสนุนแกนนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวคิด "สองนคราประชาธิปไตย" ของนักรัฐศาสตร์ไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เสนอไว้เมื่อทศวรรษ 1990 นั้น ผิด
 
นายเอนกบอกว่า ชนชั้นกลางกรุงเทพสนับสนุนประชาธิปไตย มวลชนผู้ด้อยการศึกษาในชนบทถูกนักการเมืองขี้โกงปั่นหัวได้ง่ายๆ แต่แม็กคาร์โกแย้งว่า ในตอนนี้ การณ์กลับเป็นว่า ชนชั้นกลางกำลังถูกพวกนักการเมืองหัวดื้อเอาแต่ใจชักจูง และชาวชนบทต่างหากที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง
 
นักวิชาการไทยศึกษา ซึ่งนักศึกษาปัญญาชนในไทยเรียกเขาอย่างติดปากว่า "อาจารย์ดันแคน" ผู้นี้ บอกว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544 และมีชัยทุกครั้งในการเลือกตั้งในปี 2548, 2549, 2550 และ 2554 เนื่องจากเสนอนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน  
 
ด้านพรรคประชาธิปัตย์นั้น ชนะครั้งหลังสุดเมื่อปี 2535 พรรคนี้มีแนวทางอนุรักษ์นิยม สนับสนุนระบอบราชการ และฐานเสียงในภาคใต้ ฐานสนับสนุนนี้ไม่กว้างใหญ่พอที่จะช่วยให้คว้าชัยในระดับประเทศได้ พรรคผู้แพ้ที่เข็ดเขี้ยวนี้กำลังเป็นหัวหอกโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของ ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณ สมาชิกพรรคได้ลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมขับไล่ "ระบอบทักษิณ" และอ้างว่า นักการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ ซื้อเสียงจากชาวชนบท


อาจารย์ดันแคน บอกว่า ผู้ประท้วงไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า ตระกูลชินวัตรเพียงแต่รู้จักเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงอันมหาศาล ในเศรษฐกิจการเมืองไทยเท่านั้นเอง แม้เงินมีส่วนสำคัญในการเลือกตั้ง ทว่าทักษิณ, ยิ่งลักษณ์ และพรรคการเมืองของพวกเขาได้เรียกความนิยมอันเหนียวแน่น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความนิยมนี้เกิดจากนโยบายที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
 
เขาอธิบายว่า ทุกวันนี้ ในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศนั้น สภาพชนบทแทบไม่มีแล้ว เกษตรกรไม่ได้ยังชีพด้วยการงานในไร่นาแบบเต็มเวลาอีกต่อไป ชาวบ้านกลายเป็นชาวเมือง เป็นคนต่างจังหวัดแต่ในบัตรประชาชน คนเหล่านี้ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเขตกรุงเทพและปริมณฑล แต่กลับไปหย่อนบัตรที่บ้านเกิด ผลเลือกตั้งถูกชี้ขาดด้วยคะแนนจากชาวบ้านราว 16 ล้านคน
 
ชาวบ้านที่กลายเป็นชาวเมืองเหล่านี้ มีรายได้ไม่น้อยหน้าชนชั้นกลางเขตเมืองมากนัก แต่พวกเขามักมีหนี้สิน มีการงานไม่มั่นคง และต้องทำงานหลายอย่าง คนเหล่านี้ไม่สนใจการทำเกษตรแบบพอเพียง ต้องการได้ประโยชน์จากสังคมบริโภคนิยม ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ฝันถึงความก้าวหน้าเช่นเดียวกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่สนับสนุนทักษิณตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้

สำหรับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพ แม็กคาร์โก อธิบายว่า เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของความคิดแบบพ่อขุน สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นกลางซึ่งเป็นพันธมิตร ที่จะทัดทานอำนาจที่เพิ่มขึ้นของประชาชนที่เคยเป็นชาวชนบท ด้วยการโค่นล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ กลุ่มพลังนี้เรียกร้อง "สภาประชาชน" ซึ่งเป็นองค์กรปกครองชั่วคราว แต่งตั้งจากกลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อปฏิรูปการเมือง เป็นการเรียกหาเผด็จการเมืองหลวงที่จะปกครองคนทั้งประเทศ
 
เขาชี้ว่า การประท้วงนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางความวิตกกังวลหลายเรื่องภายในชาติ อาทิ ความหวาดหวั่นในเรื่องการสืบราชสมบัติ, ความหวาดหวั่นในเรื่องการแยกตัวของจังหวัดชายแดนภาคใต้, ความหวาดหวั่นในเรื่องการเอาใจออกห่างของประชาชนในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งปรากฏในรูป "หมู่บ้านเสื้อแดง" และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความหวาดกลัวในหมู่ชนชั้นกลางกรุงเทพ ที่ชาวบ้านที่กลายเป็นชาวเมืองจะมีสิทธิ์มีเสียงเหนือกว่าพวกตน
 
อาจารย์ดันแคน บอกว่า อันที่จริง การประท้วงนี้ไม่จำเป็นเลย ย้อนไปแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อน รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศด้วยแรงสนับสนุนโดยนัยจากกองทัพและสถาบันพระ มหากษัตริย์ จริงอยู่ รัฐบาลของเธอมีความล้มเหลวในหลายเรื่อง แต่ตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีการประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ และความแตกแยกแบ่งขั้วอย่างลึกซึ้งก็ได้คลายตัวลงไปมาก

เขาเห็นว่า ชนชั้นนำที่สนับสนุนทักษิณกับชนชั้นนำฝ่ายรอยัลลิสต์ จำเป็นต้องหาข้อตกลงกันให้ได้โดยเร็ว แต่ครั้งนี้ต้องขยายให้สาธารณชนมีส่วนร่วมด้วย ชาวบ้านควรได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง ควรมีการกระจายอำนาจไปยังระดับจังหวัด และพื้นที่ชายแดนใต้ควรได้สิทธิปกครองตนเองในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
 
อาจารย์ดันแคน ทิ้งท้ายว่า แทนการเข้ายึดครองสถานที่สาธารณะต่างๆ พรรคประชาธิปัตย์น่าจะพยายามแสวงหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนตามหัวเมืองจะดี กว่า ชนชั้นนำกรุงเทพไม่อาจเสกเป่าให้ชาวบ้านผู้กลายเป็นชาวเมืองปลาศนาการไปได้ เมื่อคนเหล่านี้เลิกถูกปฏิบัติเยี่ยงผู้กินน้ำใต้ศอก สายสัมพันธ์กับพรรคทักษิณก็จะจืดจางไปเอง แล้วเมืองไทยก็จะหมดสภาวะสองนคราประชาธิปไตย กลายเป็นชาติที่มีความเป็นปึกแผ่น.

(ที่มา)
http://news.voicetv.co.th/thailand/91685.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น