หน้าเว็บ

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ฉบับที่ ๒ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือกลลวงเพื่อล้มการเลือกตั้ง"

แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ฉบับที่ ๒ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือกลลวงเพื่อล้มการเลือกตั้ง"





ตามที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู็แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ กำหนดให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ดังนั้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เท่านั้น ไม่มีวิธีการใดโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว หรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลังจากวันดังกล่าวได้ ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้งก็ดี ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนก่อนแล้วค่อยเลือกตั้งก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นกลลวงที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขัดขวางไม่ให้มีการได้มาซึ่งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามวิถีทางประชาธิปไต

การปฏิรูปการเมืองเป็นวาระสำคัญของประเทศ จึงต้องเป็นอำนาจการตัดสินใจของประชาชนทั้งหมด กลุ่มบุคคลใดจะอ้าง “ความเป็นประชาชน” อ้างความเป็น “คนกลาง” หรืออ้างว่าเป็น “ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ” เพื่อผูกขาดการกำหนดวาระการปฏิรูปการเมืองไว้กับพวกตนแต่เพียงผู้เดียวมิได้ การปฏิรูปการเมืองมิใช่มีเพียงการปฏิรูปนักการเมืองหรือการป้องกันการทุจริตเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิรูปกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ และสถาบันการเมืองที่มีบทบาทในการใช้อำนาจสาธารณะทั้งหมด ภายใต้ความขัดแย้งของฝักฝ่ายทางการเมืองและความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนในปัจจุบันนี้ การปฏิรูปการเมืองจะเริ่มต้นและดำเนินต่อไปได้อย่างชอบธรรมได้จำเป็นต้องแสวงหาฉันทามติของคนในชาติร่วมกัน ซึ่งวิธีการแสดงออกซึ่งฉันทามติที่ดีที่สุด ก็คือการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง 

ในส่วนของนักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองได้ ด้วยการรณรงค์ผลักดันข้อเสนอของตนสู่สาธารณะ หรือกดดันพรรคการเมืองให้ลงสัตยาบัน นำข้อเสนอของตนไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคการเมือง จากนั้นประชาชนเป็นผู้กำหนดผ่านการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไป สภาผู้แทนราษฎรและ คณะรัฐมนตรีที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาตามระบบก็มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ในการเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมือง ผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ โดยสร้างกระบวนการให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม และกำหนดให้การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายต้องผ่านการออกเสียงประชามติ

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และยังเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งได้อย่างสันติ หากการเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวันดังกล่าว ประชาชน จำนวนมากที่ต้องการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ย่อมไม่พอใจและอาจจะอดทนต่อไปมิได้ จนต้องออกมาประท้วงต่อต้านการแย่งชิงอำนาจอธิปไตยของพวกเขาไป สังคมไทยก็จะตก อยู่ในวัฏจักรที่ฝ่ายหนึ่งล้มล้างรัฐบาลโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็จะออกมาต่อต้าน วนเวียนซ้ำไปมาอยู่เช่นนี้เรื่อยไป

เมื่อความพยายามแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติด้วยกระบวนการเลือกตั้งได้ถูกปิดตายลง สถานการณ์ก็อาจเดินไปสู่การนองเลือด และอาจเป็นการนองเลือดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็ได้ 

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยใคร่ขอย้ำว่า คำเตือนดังกล่าวสอดคล้องกับนักการทูตและนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากที่เห็นพ้องว่า หากในอนาคตอันใกล้นี้ มีการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญหรือมีการปะทะกันรุนแรงระหว่างประชาชนขึ้นอีก สังคมไทยอาจไม่มีวันก้าวพ้นจากความขัดแย้งอย่างสุดขั้วนี้ได้ และยิ่งนับวันก็จะยิ่งดำดิ่งลงสู่ภาวะอนาธิปไตยและความมืดมน ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนต่างประเทศอาจไม่ทนเผชิญกับสภาวะเสี่ยงเช่นนี้ได้อีกต่อไป และตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยดีขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนมากสูญเสียงาน ธุรกิจจำนวนมากสูญเสียรายได้จากการผลิตที่ลดลง กระทบดุลการค้าและรายได้เข้าประเทศ ฯลฯ ซึ่งวิกฤติที่ตามมาอาจรุนแรงและส่งผลระยะยาว

ฉะนั้น ในขณะที่ึผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาดีอาจคิดว่าตนจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ทว่า หากสังคมไทยเข้าสู่กลียุค ทุกคนในสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ประการสำคัญ สังคมที่เคยผ่านการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันมานั้น แม้ความรุนแรงจะยุติลง แต่ความคับแค้นและความเกลียดชังจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกเนิ่นนาน เราเชื่อว่าไม่มีคนไทยคนใดที่อยากให้ลูกหลานของตนเติบโตบนสังคมที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังระหว่างกัน

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ตระหนักถึงอันตรายดังกล่าว ได้โปรดส่งเสียงคัดค้านการกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและพวก ห้ามปรามกองทัพมิให้ แทรกแซงทางการเมืองหรือก่อการรัฐประหาร ส่งสัญญาณเตือนองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระทั้งหลายมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือขัดขวางมิให้มีการเลือกตั้ง และร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ให้จงได้

พลังของประชาชนเท่านั้นที่จะช่วยปกป้องระบอบประชาธิปไตย และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงต่อไป

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น