"ปฏิรูปการเมือง"
"ปฏิรูปการเมือง"
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
เราได้ยินคำว่า "ปฏิรูปการเมือง" อย่างติดหูหลังเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕
อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับนักวิชาการ การวิจัย เพิ่มงบประมาณให้กับนักวิชาการ ซึ่งออกดอกออกผลถึงปัจจุบัน บรรดานักวิชาการได้ลืมตาอ้าปาก ได้เชิดหน้าชูตา มีช่องทางทำมาหาได้จากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านโครงการวิจัยศึกษา ผ่านโครงการปฏิรูปต่างๆ นักวิชาการจึงเป็นเครือข่ายผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง
บรรหาร ศิลปอาชา เริ่มนโยบายปฏิรูปการเมือง จนนำมาสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ ๔๐
การปฏิรูปการเมืองแบบอมร จันทรสมบูรณ์และพวกกีดกันนักการเมืองออกไปจากการปฏิรูปการเมือง โดยอ้างว่านักการเมืองมีผลประโยชน์และส่วนได้เสีย ให้มาปฏิรูปการเมืองไม่ได้
นักปฏิรูปการเมือง กีดกันนักการเมืองออกไป โดยอ้างว่านักการเมืองมีส่วนได้เสีย แต่นักปฏิรูปการเมืองก็มีประโยชน์ มีส่วนได้เสีย มีวาระของตนเหมือนกัน
การปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องของนักวิชาการ เทคโนแครต นักร่างรัฐธรรมนูญ ที่อ้างความรู้ความเชี่ยวชาญ ความเป็นกลาง คนดี เพื่อผูกขาดการปฏิรูปการเมืองไว้กับตนเองแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อออกแบบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ นักการเมืองก็ต้องเล่นเกมในสนามนี้ ส่วนนักปฏิรูปบางส่วนก็ผันกายลงไปเป็นผู้คุมกติกา ไปสังกัดองค์กรอิสระต่างๆ ศาลที่เกิดขึ้นใหม่
การสร้างวาทกรรม "ปฏิรูปการเมือง" แบบนี้ คือ การชิงพื้นที่ทางการเมือง การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของพวกเทคโนแครต โดยเปลี่ยนร่างจากเทคโนแครตที่มีบทบาทในสมัย "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" มาเป็นนักปฏิรูปในสมัยที่นายกฯมาจากการเลือกตั้ง
การปฏิรูปการเมืองของไทยที่ผ่านมา คือ การสร้างวาทกรรมของเทคโนแครตเพื่อเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง แต่เข้ามามีบทบาทใช้อำนาจริง ผ่านการเป็นกรรมการปฏิรูปต่างๆ ผ่านการเป็น สสร
การเมืองไทย จึงช่วงชิงกันระหว่าง นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และ นักปฏิรูป-เทคโนแครต
รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายของพรรคการเมืองเอง ไม่พึ่งพาอาศัยเทคโนแครตและนักปฏิรูปมากเท่าไรนัก
บทบาทของนักปฏิรูป เทคโนแครตก็ลดน้อยถอยไป
จนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นักปฏิรูป เทคโนแครต นักร่างรัฐธรรมนูญก็กลับขึ้นมาใหม่
แม้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะกลับมาคุมอำนาจได้ แต่ยังไม่เบ็ดเสร็จ การเมืองยังยื้อกันไปมาระหว่างสองขั้วอำนาจอยู่ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับนักปฏิรูปและเทคโนแครต
เราจึงพบเห็นการตั้งคณะกรรมการสารพัดโดยรัฐบาล
เวลานี้ มีการจุดกระแสเรื่องปฏิรูปขึ้นมาอีก
บางฝ่าย ชูการปฏิรูปเพื่อมาขัดขวางการเลือกตั้ง
บางฝ่าย ชูการปฏิรูปเพื่อให้ตนได้เข้าไปมีบทบาท เข้าไปแบ่งปันอำนาจ
บางฝ่าย ชูการปฏิรูปเพื่อต้องการผลักดันวาระเฉพาะของตนเข้าไป
การปฏิรูปของบางฝ่าย คือ การปฏิรูปนักการเมืองเท่านั้น
การปฏิรูปของบางฝ่าย คือ การแก้เรื่องทุจริต
การปฏิรูปของบางฝ่าย คือ การปฏิรูปกองทัพ องค์กรอิสระ ศาล ฯลฯ
เมื่อความต้องการการปฏิรูปแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ จึงไม่อาจยกวาระการปฏิรูปให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงผู้เดียว
การปฏิรูปการเมืองควรเริ่มต้นด้วยการเลือกตั้ง
นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองได้ ด้วยการรณรงค์ผลักดันข้อเสนอของตนสู่สาธารณะ หรือกดดันพรรคการเมืองนำข้อเสนอของตนไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคการเมือง แล้วประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้ง
สภาผู้แทนราษฎรและ คณะรัฐมนตรีที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมือง ผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ โดยสร้างกระบวนการให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม และกำหนดให้การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายต้องผ่านการออกเสียงประชามติ
นี่คือ การปฏิรูปที่มีประชาชนเป็นตัวตั้ง
และการปฏิรูปการเมืองครั้งต่อไป ต้องจัดให้เครือข่ายนักปฏิรูป-เทคโนแครต เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ผู้มีอำนาจในการกำหนดวาระการปฏิรูปแต่เพียงผู้เดียว
และเครือข่ายนักปฏิรูป-เทคโนแครต ก็อยู่ในข่ายที่ต้องถูกปฏิรูปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น