แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ฉบับที่ ๓
แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ฉบับที่ ๓
เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และคณะรัฐมนตรีรักษาการในการจัดการการเลือกตั้ง
ตามที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ เสนอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ออกไป จนกว่าจะหาข้อยุติระหว่างคู่ขัดแย้งร่วมกันได้นั้น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กกต. ไม่ได้แสดงออกถึงความเลื่อมใสที่มีต่อการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้ว่า กกต.ไม่เคยพยายามชี้แจงยืนยันให้สังคมและคู่ขัดแย้งทางการเมืองยอมรับความสำคัญและความชอบธรรมของการเลือกตั้ง และสิทธิอันเท่าเทียมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่าเลย
ยิ่งไปกว่านั้น กกต.บางท่านยังแสดงพฤติกรรมให้สาธารณชนเห็นว่าขาดเจตจำนงที่จะดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ทั้งนี้เนื่องจากนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร กกต.บางท่านได้พยายามเสนอว่าอาจเลื่อนการเลือกตั้งได้ และแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลไปเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุม ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจากการที่ผู้ชุมนุมพยายามขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ก็ไม่ได้พยายามแสวงหาช่องทางอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การเปลี่ยนสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้งออนไลน์ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่กลับยังยืนยันใช้สถานที่ที่กำหนดไว้เดิมและวิธีการในการสมัครรับเลือกตั้งแบบเดิม
สภาวการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพฤติกรรมของ กกต. ทำให้เกิดความกังวลขึ้นทั่วไปในหมู่ของประชาชนผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งว่าจะเกิดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นได้จริง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้ทรงสิทธิเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมและกฎหมายดังนี้
๑. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนย่อมมีความชอบธรรมในการที่จะแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของอำนาจรัฐผ่านการแสดงเจตนาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ดังนั้น การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ย่อมเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งย่อมสามารถดำเนินการด้วยวิถีทางใดๆ ตามกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเลือกตั้งอันชอบธรรมของตนได้
๒. เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ กกต.จึงมีหน้าที่จัดการการเลือกตั้งในวันดังกล่าวให้จงได้ ไม่มีทางเลือกอื่น หากมีเหตุที่ไม่สามารถจัดการการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดได้ในวันเลือกตั้ง กกต.ย่อมต้องใช้ดุลพินิจเลื่อนการเลือกตั้งเฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาออกไป และดำเนินการจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวในภายหลังเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวน ด้วยเหตุผลข้างต้น กกต. จึงต้องดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ ในกรณีที่กกต.ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการของกฎหมายโดยถือเอาเหตุผลที่ปรากฏในแถลงการณ์ฯ เป็นข้ออ้าง รวมทั้งจะดำเนินการใดๆ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งเป็นรายบุคคล อันส่งผลให้การรับสมัครรับเลือกตั้งไม่เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ ย่อมถือว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประชาชนผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งทุกคนซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีอาญากับ กกต.ที่กระทำการดังกล่าวนี้ได้
๓. หากคณะรัฐมนตรีรักษาการยอมรับข้อเสนอของกกต. และดำเนินการให้มีเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญรองรับการดำเนินการดังกล่าว ย่อมเท่ากับว่า คณะรัฐมนตรีรักษาการจงใจใช้อำนาจหน้าที่กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปจนเกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร อาจถือได้ว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประชาชนผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้เช่นกัน
๔. เพื่อให้การดำเนินการสมัครรับเลือกตั้งดำเนินการต่อไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ กกต. และผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง และขอให้ กกต.ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในกรณีจำเป็นรัฐบาลอาจต้องสั่งการให้กองทัพเข้ามาหนุนเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมให้ยึดถือตามบทกฎหมาย เป็นไปตามหลักสากล และระมัดระวังไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตกับทุกฝ่าย
๕. วิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่นี้เป็นวิกฤติของการฝ่าฝืนกฎหมาย ฉีกรัฐธรรมนูญ และทำลายระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ทั้ง กกต.และรัฐบาลจะต้องไม่ร่วมมือหรือโอนอ่อนผ่อนตามให้กับการกระทำดังกล่าว ประการสำคัญ กกต.และรัฐบาลไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการล้มเลิกการเลือกตั้ง
สุดท้าย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอย้ำว่า กกต. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายมอบหมายหน้าที่ให้จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กกต.จึงต้องกระทำอย่างถึงที่สุดเพื่อปกป้องไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้นคณะรัฐมนตรีรักษาการจะต้องยืนยันที่จะปฎิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เกิดจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ การพยายามทำให้การเลือกตั้งสะดุดหยุดลงจะ ไม่เป็นผลดีต่อสังคมเพราะอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระลอกใหม่ได้ ซึ่งหากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น กกต. ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
ประการสำคัญ การเลือกตั้งคือการยืนยันต่อกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยว่า พวกเขาต้องยอมรับอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนทั้งประเทศ สิทธิของประชาชนไทยล้วนเท่าเทียมกัน การปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของกกต. เท่านั้น ที่จะช่วยให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น