หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

เห็นคนเท่ากันก่อนปฏิรูป การเมืองและก่อนการเลือกตั้ง (ดีมั้ย)?

เห็นคนเท่ากันก่อนปฏิรูป การเมืองและก่อนการเลือกตั้ง (ดีมั้ย)? 



 
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ความผันผวนทางการเมืองของไทยนั้นทำให้เรื่องหลายเรื่องนั้นพลิกผันไปมาอย่างน่าสนใจ

อย่าง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมตั้งคำถามว่า กระบวนทัศน์/วาทกรรม "ปฏิรูปการเมือง" นั้นทำไมหายไปไหน? ท่ามกลางความฮึกเหิมของการนำเสนอการปฏิวัติของมวลมหาประชาชนและข้อเสนอ เรื่องสภาประชาชน

แต่เมื่อเกิดการรุกทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง ที่หน้าทำเนียบ และเกิดการยุบสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม ที่นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ก็พบว่าการพูดถึงการปฏิรูปการเมืองนั้นโผล่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเสนอว่าการปฏิรูปการเมืองต้องมาก่อนการเลือกตั้ง

เรื่อง นี้น่าสนุก และต้องถามกันว่า การปฏิรูปการเมืองที่ดูเหมือนจะเป็นอาวุธอันทรงอานุภาพของคนจำนวนหนึ่งในการ สกัดยับยั้ง "(นัก)การเมืองเลวๆ" นั้น จะสามารถมีพลังได้มากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับกระแสการปฏิรูปการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540

อย่า ลืมว่าการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้น ใช้เวลายาวนานมาก และที่สำคัญเป็นการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งในรอบแรก คือพรรคการเมืองขานรับนโยบายต่างๆ ว่าจะเริ่มปฏิรูป จากนั้นก็ยังกินเวลายาวนานกว่าจะเริ่มปฏิรูป นอกจากนั้นการปฏิรูปครั้งนั้นก็ริเริ่มด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญขนานใหญ่ ภายใต้ฉันทามติของสังคม

ใช่ว่าการปฏิรูปการเมืองในรอบที่แล้วนั้นจะ เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว ดังนั้น การปลุกกระแสเรื่องของการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง (แต่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ) ในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่มิใช่น้อย ทั้งนี้ในยุคสมัยที่เราอยู่ภายใต้การเมืองแบบปฏิรูปการเมือง ก่อนการรัฐประหารครั้งล่าสุดนั้น เราก็พูดกันเรื่องของ "อคติทางการเมือง" ซึ่งเป็นอคติพิเศษที่แตกต่างจากอคติทางการเมืองก่อนหน้านั้น หรืออคติการเมืองในการร่างรัฐธรรมนูญในสมัยก่อนปี 2540

ด้วยการใช้ กรอบความคิดของหนึ่งในปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ของไทย คือ เสน่ห์ จามริก ที่เสนอให้มองว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสมือนสิ่งที่สะท้อน "สัมพันธภาพทางอำนาจ" มากกว่าเป็นเรื่องของกฎหมายสูงสุด (สูงสุดที่ไหนมีตั้งหลายฉบับ?) เราจะพบว่า รัฐธรรมนูญในอดีตมีอคติในแง่ของอำนาจจากกลุ่มอำนาจที่แตกต่างกัน ใครมีอำนาจก็ร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ทหาร หรือพลเรือน แต่ในตัวรัฐธรรมนูญ 2540 เราพบว่าอคติที่สำคัญเป็น "อคติแบบชนชั้น" (class bias) ที่ชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเรื่องของการตั้งกฎของการที่ ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี และที่สำคัญก็คือชนชั้นในสังคมไทยนั้นเป็นชนชั้นที่ "ผูกโยงกับพื้นที่" ด้วย


ดังนั้น จึงไปสอดคล้องกับการพยายามแก้ปัญหา "สองนคราประชาธิปไตย" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่มองว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล และคนในเมืองล้มรัฐบาลโดยการเพิ่มอำนาจให้คนในเมืองผ่านการมีการเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อ

นอกจากนั้น ในงานวิจัยของ ไมเคิล คอนเนอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่เกาะติดประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยในช่วง นั้น (Democracy and National Identity in Thailand (2002)) ก็เสนอให้เห็นมิติที่น่าสนใจว่า การพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย อาจต้องพิจารณามิติของความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วยว่าใครสามารถที่จะช่วงชิงการ นิยามความหมายและปฏิบัติการของคำว่าประชาธิปไตย ได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งในแง่ของรัฐและในแง่ของกลุ่มพลังที่ไม่ใช่รัฐ รวมทั้งการตั้งคำถามกับเรื่องของความเป็นไทยในการกลายเป็นส่วนหนึ่งของการ สร้างนิยามประชาธิปไตย หรือการนำเอามุมมองแบบเสรีนิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาผสานกับพลัง อนุรักษนิยมในสังคมไทยเป็นต้น

ในแง่นี้การปฏิรูปทางการเมืองที่ผ่าน มาจึงมีมิติด้านชนชั้นอย่างชัดแจ้ง ชัดแจ้งกว่าการทำรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เสียอีก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดมีลักษณะของอคติในอีกแบบหนึ่ง คือเป็นอคติของการเมืองแบบกลุ่ม และต่อต้านคนคนหนึ่งเป็นการพิเศษ ดังนั้น จึงน่าพิจารณาว่าในการรื้อฟื้นอคติแบบชนชั้นที่มีอยู่ในการปฏิรูปทางการ เมืองในรอบที่แล้ว โดยเฉพาะที่มองว่านักการเมืองเป็นสถาบันตัวแทนของความเลวร้าย เมื่่อมาร่วมมือกับระบอบต้านทักษิณภายหลัง 2549 เป็นต้นมานั้นจะส่งผลในแง่เดียวกับความสำเร็จในรอบ 2540 หรือไม่?

ทีนี้ในเรื่องต่อมาก็คือเรื่องราวเฉพาะหน้าที่ยังเกี่ยวเนื่องกับกระแส "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ในรอบนี้ ที่เชื่อว่าหากไม่ปฏิรูปเสียก่อน เราก็ได้คนกลุ่มเก่าๆ กลับเข้าสู่ระบอบการเมืองอยู่ดี และทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ และเสียเปล่า

คำถาม ที่สำคัญในทางรัฐศาสตร์จึงอยู่ที่ว่า การเลือกตั้งนั้นสำคัญไฉน การเลือกตั้งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างจริงหรือไม่? และสังคมของเราและสังคมโลกนั้นเดินทางยาวนานแค่ไหนแล้วในการถกเถียงกันใน เรื่องนี้? 

คำตอบสั้นๆ ก็คงจะเป็นว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นส่วนสำคัญและเป็นเรื่องของเงื่อนไขขั้นต่ำของการมี ประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งนั้นให้หลักประกันกับการมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญของ ประชาธิปไตย นั่นก็คือ การยอมรับว่าคนนั้นเท่ากัน

เรื่อง นี้เป็นหลักการที่สูงกว่าเรื่องของเสียงข้างมาก อาจกล่าวได้ว่าเสียงข้างมากนั้นไม่ใช่เรื่องอุดมคติของการปกครอง แต่อาจเป็นหนึ่งในวิถีทางของการปกครอง ที่เป็นผลมาจากการยอมรับก่อนว่าคนนั้นเท่ากัน และสามารถปกครองตนเองได้

เพราะ สุดท้ายเรื่องราวของการมีรัฐบาล และการมีสัญญาประชาคมนั้นก็เพื่อแสวงหาเจตจำนงร่วมกันนั่นแหละครับ และการเลือกตั้งในระดับหนึ่งก็อาจจะนำไปสู่การแสวงหาเจตจำนงร่วมกัน

แต่ สิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปในประชาธิปไตยนั่นก็คือ การทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นที่ยอมรับในทุกฝ่าย และพัฒนาเรื่องราวอื่นๆ มาแบ่งปันอำนาจกับเรื่องของการปกครองโดยเสียงข้างมากด้วย โดยเฉพาะหลักการของการทำให้เสียงข้างมาก ยอมรับต่อหลักการของว่าคนนั้นเท่ากัน ไม่ใช่หลักที่ว่าเสียงข้างน้อยมีคุณภาพมากกว่าเสียงข้างมาก

ตัวอย่าง ของหลักการที่ช่วยให้คนเท่ากันก็เช่นหลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึงว่าทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม กฎหมายต้องทำงาน เพื่อรองรับหลักการว่าคนนั้นเท่ากัน และถ้าจะแก้กฎหมายก็ต้องไม่ขัดกับหลักที่ละเมิดความเท่ากันของคน เป็นต้น

ใน ส่วนของการทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนั้น คงจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขใหญ่สักสองประการ ประการแรกก็คือ เรื่องของนัยยะสำคัญของการเลือกตั้งต่อการปกครองประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะสรุปง่ายๆ ว่า การเลือกตั้ง โดยหลักการแล้วเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครอง และเป็นการสะท้อนเจตจำนงของประชาชน เป็นการทำให้เราได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนที่หลากหลาย เป็นการนำเสนอประเด็นที่สังคมต้องการโดยรวบรวมและจัดลำดับความสำคัญและกลั่น กรองมาเป็นนโยบาย รวมทั้งการเลือกตั้งยังเป็นเรื่องของการทำให้ประชาชนมี "เสียง" ที่จะได้สะท้อนออกมา ผ่านการแสดงสิทธิของเขาที่จะเลือกใครหรือไม่เลือกใคร และประชาชนยังมีโอกาสได้เรียนรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร และมีข้อถกเถียงอะไรกันบ้างในสังคม (ดูเพิ่มเติมจากเอกสารขององค์กรด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ UNDP - Elections and Conflict Prevention: A Guide to Analysis, Planning and Programming)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันก็คือ การจะทำให้การเลือกตั้งมีความชอบธรรมและนำไปสู่ความชอบธรรมของการปกครองได้ เราก็ต้องพิจารณาว่าการเลือกตั้งจะต้องมีองค์ประกอบสี่ประการ (หลักการ) ด้วย นั่นก็คือ

1.การเลือกตั้งจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรี (free) คือเป็นการเลือกตั้งที่ทุกคนสามารถลงสมัครได้

2.การเลือกตั้งจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม (fair) คือมีกฎกติกาต่างๆ ที่ยอมรับร่วมกัน

3.การเลือกตั้งจะต้องเกิดอย่างสม่ำเสมอ (regular) คือไม่ใช่ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่ ทั้งในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไป

4.การ เลือกตั้งจะต้องมีความหมาย (meaningful) ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และนักวิชาการรัฐศาสตร์กระแสหลักไม่ค่อยพูดถึง ขณะที่นักวิชาการสายการเมืองเชิงวัฒนธรรม (cultural politics) นึกถึงเสมอ เพราะการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการกำหนดความหมายของแต่ละสังคม ซึ่งในแง่นี้ก็ต้องพิจารณาไปถึงเรื่องของการพยายามไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือถ่วงการเลือกตั้งให้ล่าช้าไปด้วย นับตั้งแต่อดีต อาทิ ประชาชนยังไม่พร้อมในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน มาจนถึงยุคนี้ที่บอกว่า "ระบบยังไม่พร้อม" ดังนั้นต้องปฏิรูปการเมืองเสียก่อน หรืออาจลามไปถึงข้อเสนอที่ว่าประชาชนบางคนอาจจะยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ

ใน แง่นี้การพูดถึงการเลือกตั้งที่มีความหมายนั้น อาจทำให้เราต้องมาคิดอีกครั้งว่า เอาเข้าจริงมิติเรื่องความหมายของการเลือกตั้งนั้นอาจจะสำคัญกว่ามิติที่ ใครๆ ก็มองว่าเป็นมิติหลัก และเป็นมิติทางกฎหมาย (ในสามข้อข้างต้น) เสียอีก แต่ก็เป็นเรื่องราวที่นำมาสู่การช่วงชิงความหมายกันไม่มีที่สิ้นสุดนั่นแหละ ครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความง่ายๆ ว่าการพูดเรื่องการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการช่วงชิงนิยามความหมายเท่านั้น หรือมองว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลและความชอบธรรมราวกับ ว่าสังคมนั้นตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "สภาวะแรกเกิด" อยู่ตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริง สังคมที่มีการเลือกตั้งนั้นอาจจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งที่ร้าวลึก หรือในอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีการทำความเข้า ใจและบริหารจัดการที่ดี ก็มีส่วนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้เช่นกัน

ใน แง่ของประเทศที่มีประชาธิปไตยอยู่แล้ว รวมถึงประเทศที่เพิ่งมีประชาธิปไตยด้วย การพยายามปฏิรูประบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งนั้นก็มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นระบบการออกแบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนขึ้น จะเห็นระบบการคัดเลือกผู้สมัครของแต่ละพรรคมีการเพิ่มมิติการมีส่วนร่วมของ สมาชิกพรรคมากขึ้น เช่นระบบ primary เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่ง หน่วยงานการพัฒนาและสันติภาพระดับนานาชาติ ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่เต็มไปด้วย ความขัดแย้ง/รุนแรง/นองเลือด ทั้งในแง่ที่ไม่มีการเลือกตั้งมาก่อน หรือการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นนำไปสู่ความขัดแย้ง อาทิ บารุนดิ กูยาน่า เฮติ เคนย่า ศรีลังกา กัมพูชา และซิมบับเว

ประเด็นทางวิชาการที่ค้น พบจากประเทศที่การเลือกตั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองถึง ขั้นรุนแรงเสียเลือดเนื้อนั้น ก็คือการเลือกตั้งไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ก็มีส่วนที่ทำให้ความขัดแย้งระดับรากเหง้านั้นปะทุขึ้นมาได้ ถ้าการบริหารจัดการนั้นไม่ดีพอ และจะทำลายคุณูปการของการเลือกตั้งที่มีต่อสังคมประชาธิปไตยลงด้วย (ดูงานของ UNDP ที่กล่าวถึงไปแล้ว)

เงื่อนไขสำคัญในระดับรากฐานที่จะ ทำให้การเลือกตั้งกับความขัดแย้งในแบบทำลายล้างสัมพันธ์กันอาจจะเกี่ยว เนื่องกับเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้จากการชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งในแง่นี้เราอาจต้องพิจารณาว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่ฝ่ายหนึ่งครองอำนาจยาวนานนั้นโดยตัวมันเองก็เป็น เรื่องของการที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตนสูญเสียอำนาจเช่นกัน

ในอีก แง่หนึ่ง เมื่อความคาดหวังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในสังคมที่หาความแน่นอนในผลการ เลือกตั้งไม่ได้เช่นคะแนนใกล้เคียงกันมาก ก็อาจจะมีผลเช่นกันในแง่ของการเกิดความรุนแรงในการสังหารคู่ขัดแย้ง (แต่เรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะอย่างงานวิจัยของ ณัฐกร วิทิตานนท์ แห่งแม่ฟ้าหลวง ก็ชี้ว่า แม้ว่าจะชนะ แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะแพ้ได้เช่นกัน) หรือเมื่อรู้ว่าพรรคฝ่ายตนยังไงก็แพ้ และไม่ได้ร่วมอำนาจ ก็อาจหันไปหาหนทางที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน รวมไปถึงวิธีการเล่นการเมืองในการเลือกตั้งแบบสุดขั้วแต่ไม่ได้เป็นนโยบาย ที่สุดขั้ว หากแต่เป็น "อัตลักษณ์แบบสุดขั้ว" เช่นฉันเป็นคน "ชาติ(พันธุ์)นี้" ก็ทำให้คนอื่นร่วมอำนาจด้วยไม่ได้ หรือคนที่อยู่กลางๆ นั้นหาที่ลงในการเมืองแบบนี้ไม่ได้เช่นกัน ยิ่งพรรคการเมืองที่อ้าง "องค์รวม" เช่น ชาติหรือประชาชน ขณะที่ไม่สามารถดึงเอาฝ่ายอื่นๆ มาอยู่ในการสนับสนุนได้ ความรุนแรงก็อาจเปิดขึ้นได้เช่นกัน

กล่าว โดยสรุป ในวันนี้การพูดถึงการเลือกตั้ง เขามองกันยาวๆ ตั้งแต่มองว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการยืนยันว่าคนนั้นเท่ากัน แต่ก็ต้องมองต่อว่าการเลือกตั้งก็ต้องมีเงื่อนไขที่กำกับให้การเลือกตั้ง เป็นที่ยอมรับ และในการบริหารจัดการเลือกตั้งนั้นเขาก็มองตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งด้วยครับผม

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387277679&grpid=&catid=02&subcatid=0207 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น