หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อาการ ย้อนแย้ง ทิศทาง ของ ′กปปส.′ หอก สนอง คืน

อาการ ย้อนแย้ง ทิศทาง ของ ′กปปส.′ หอก สนอง คืน


 



นับแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา ปรากฏลักษณะอัน "ย้อนแย้ง" มากมาย

1 เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" แต่ไม่เอา "การเลือกตั้ง"
ที่น่าสนใจไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศยืนหยัดใน "แนวทางรัฐสภา" ตั้งแต่แรกก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2489 จะออกมาปฏิเสธหลักการของตน

หากแม้กระทั่ง "กกต." ก็ไม่แฮปปี้กับ "การเลือกตั้ง"

ทั้งๆ ที่นามเต็มของ กกต.คือ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจนี้ให้กับ กกต.อย่างถึงที่สุดและสิ้นเชิง

1 การแสดงตน "เป็นกลาง" ของกลไก "อำนาจรัฐ"
ทั้งๆ ที่ กปปส.ประกาศอย่างไม่ปิดบังอำพรางต้องการ "การปฏิวัติประชาชน" ต้องการล้มรัฐบาลอันมาตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญก็คือต้องการเป็น "รัฎฐาธิปัตย์"
แต่ก็มีกลไกแห่ง "อำนาจรัฐ" จำนวนมากที่อยู่ได้เพราะเงินภาษีของประชาชนแสดงตนเป็น "คนกลาง" ไม่เข้าข้างฝ่ายใด

ลักษณะ "ย้อนแย้ง" นี้ชวนให้ "พะอืดพะอม"

ยิ่งมองอย่างหยั่งลึกเข้าไป "ภายใน" การเคลื่อนไหวและการขยับในแต่ละจังหวะก้าวของ กปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ยิ่งมากด้วยความ "ย้อนแย้ง" กับตนเอง



ภาพ 1 เราเห็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปล่งความเชื่อมั่นบนเวทีไม่ว่าที่แยกศาลาแดง ไม่ว่าที่แยกปทุมวัน

ถึงภาวะ "ร่อแร่" อย่างยิ่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะ เดียวกัน ภาพ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกเหมือนกันที่เรียกร้องต่อ ผบ.เหล่าทัพให้แสดงออกเหมือนกับที่ ผบ.ทบ.ท่านหนึ่งเคยแสดงออกเมื่อปี 2551 ทางทีวี

นั่นก็คือวาทกรรมที่ว่า "ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมลาออกแล้ว"
เหมือนคอลัมนิสต์ "กปปส." บางคนตั้งหัวข้อเขียนของตน "นายกฯหมดสภาพ หมดสภาพนายกฯ ยิ่งอยู่ยิ่งสร้างความเสียหาย" แต่ในท่อนขมวดสุดท้ายกลับเป็น "กองทัพไทยถึงเวลาแสดงความกล้าหาญ ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

"จัดการกับภัยคุกคามความมั่นคงของชาติอย่างเด็ดขาดและแม่นยำ"

ความหมายก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับความหมายอันมาจากปากและหัวใจของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

นั่นก็คือ หวังพึ่ง "บริการ" จาก "กองทัพ"
คําถามที่เสนอเข้ามาในท่ามกลางการปรากฏขึ้นของลักษณะอัน "ย้อนแย้ง" ทางการเมืองตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 คือ

1 เมื่อเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ทำไมไม่เอา "การเลือกตั้ง"

ขณะเดียวกัน 1 เมื่อเสนอแนวทางและหนทางแห่ง "การปฏิวัติโดยประชาชน" ทำไมจะต้องวิงวอนร้องขอกำลังจาก "กองทัพ"
ถามว่า "มวลมหาประชาชน" อยู่ที่ไหน

ตามหลักการแล้ว หากสิ่งที่ กปปส.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอโดยความเห็นชอบเต็มพิกัดจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นคุณ

นั่นก็คือ ยืนอยู่บนพื้นฐานแห่ง "ธรรมาธิปไตย" แท้จริง

ลักษณะแห่ง "มวลมหาประชาชน" จะต้องแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างไพศาล ไม่เพียงแต่จะกระจุกตัวอยู่เพียงบางจังหวัดทางภาคใต้ ไม่เพียงแต่จะกระจุกตัวอยู่เพียงบางส่วน บางเขตของกรุงเทพมหานคร

จะต้องมีเสียงขานรับจาก ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตรงกันข้าม ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งมิอาจอ้างอิงต่อวลีแห่ง "มวลมหาประชาชน" ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งมีคนเข้าร่วมจำนวนน้อย

นี่ย่อมสวนกับสัจจะแห่ง "มีธรรมะ คนช่วยมาก" อย่างสิ้นเชิง
สภาพการ "เข้าร่วม" ของมวลชน

ลักษณาการอันถดถอยของ "มวลมหาประชาชน" สำคัญยิ่ง

สำคัญ 1 ต่อความรับรู้ความเข้าใจของประชาชนที่เฝ้ามอง ขณะเดียวกัน สำคัญ 1 ต่อกองเชียร์ที่เคยให้ความเชื่อมั่นและเคยเป็น "อีแอบ" จำเป็นต้องทบทวนและพิจารณาใหม่

เช่นนี้ประดา "อัศวินม้าขาว" ย่อมบังเกิดความ "ลังเล" เรรวน

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393313841&grpid=&catid=12&subcatid=1200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น