หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รากฐานความรุนแรงคือชนชั้นปกครองไทย

รากฐานความรุนแรงคือชนชั้นปกครองไทย 



 
การปาระเบิดใส่ประชาชนหรือกราดยิงคนธรรมดา ไม่ว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องแย่ และเป็นสิ่งที่ไม่ก้าวหน้าและจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพ การฆ่าเด็กก็เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ 

เราไม่สามารถทราบว่าใครเป็นคนทำ อาจเป็นฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังรัฐประหาร หรือเพื่อให้ยิ่งลักษณ์ลาออก หรืออาจเป็นคนเสื้อแดงหัวรุนแรงที่รับไม่ได้กับความรุนแรงของม็อบสุเทพที่ลอยนวลเสมอ

 
แต่เราต้องมองภาพกว้าง เพราะเราจะเห็นว่าความรุนแรงในวิกฤตการเมืองรอบนี้ เริ่มเมื่อทหารนำอาวุธสงครามออกมาก่อรัฐประหารและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๔๙ หลังจากนั้นรัฐบาลทหารของอภิสิทธิ์และนายพลอย่างประยุทธิ์ ก็ออกมาเข่นฆ่าเสื้อแดงเก้าสิบศพเพราะแค่เรียกร้องประชาธิปไตย และหนึ่งในนั้นเป็นเด็ก หลังจากนั้นชนชั้นปกครองก็ถือหางม็อบสุเทพที่ก่อความรุนแรงต่อผู้ที่ต้องการไปเลือกตั้ง มีการถือปืนสงครามบนท้องถนนอย่างโจ่งแจ้ง และมีการใช้ปืนเหล่านั้นกราดยิงประชาชนที่ต้องการไปเลือกตั้งด้วย แต่ไม่มีใครถูกจับหรือถูกลงโทษ

พวกที่คอยเชียร์ทหารให้ทำรัฐประหาร สนับสนุนพันธมิตรฯ เงียบเฉยต่อการเข่นฆ่าเสื้อแดง และสนับสนุนหรือกึ่งสนับสนุนม็อบอันธพาลของสุเทพ ตอนนี้ออกมาโวยวายร้องไห้ด้วยน้ำตาเทียมเรื่องความรุนแรง แต่เขาเป็นคนช่วยเพาะเลี้ยงความรุนแรงในสังคมไทยแต่แรก

เราต้องไม่ลืมด้วยว่าในภาคใต้ ในแคว้นปาตานี มีการกราดยิงพลเรือนรวมถึงเด็ก จนเสียชีวิตไปหลายราย และเราคาดเดาได้ว่าบ่อยครั้งก็เป็นฝีมือของหน่วยรัฐที่ไม่แต่งเครื่องแบบหรืออาจพยายามป้ายสีขบวนการปลดแอกอีกด้วย

รัฐไทยก่ออาชญากรรมต่อประชาชนตั้งแต่ ๑๔ ตุลา, ๖ตุลา, พฤษภา ๓๕, ราชประสงค์ ๕๓ และตากใบกับสงครามยาเสพติดสมัยทักษิณ ไม่มีใครเคยถูกลงโทษเลย สรุปแล้วรัฐไทยสนับสนุนและสร้างบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองมาตลอด

ทางออกที่จะห้ามความรุนแรง คือการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยการนำอาชญากรรัฐและคนใหญ่คนโตมาขึ้นศาลและลงโทษ เพราะถ้าไม่จัดการกับหัวหน้าโจร การไปไล่จับลูกน้องโจรคงไม่มีผลอะไรเลยในการลดความรุนแรง
 
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น