หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

'การเมือง' เร่งเร้า เข้าเขต′สุญญากาศ′ ก้าวสู่ บทอวสาน ?

'การเมือง' เร่งเร้า เข้าเขต′สุญญากาศ′ ก้าวสู่ บทอวสาน ?


 

ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ขับไล่ระบอบทักษิณตกอยู่ในสภาพ "หมดมุข" การเมืองไทยก็ปรากฏความเคลื่อนไหวใหม่ขึ้นมา

หนึ่งคือ ความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่มีมติเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเข้ารับข้อกล่าวหากรณีเพิกเฉยต่อความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

เป็นความเคลื่อนไหวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นว่าเร็วไปเมื่อเทียบการดำเนินการในคดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า คดีนี้ ป.ป.ช.ไต่สวน 21 วันก็เรียกแจ้งข้อหา ขณะที่คดีของนายอภิสิทธิ์ใช้เวลา 5 ปียังไม่เสร็จ

หนึ่งคือ ความเคลื่อนไหวของนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ที่ร้องต่อศาลแพ่งให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และศาลมีคำสั่ง 2 ประการใหญ่ๆ คือ ไม่เพิกถอนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากแต่ยกเลิกคำสั่ง 9 ข้อที่ศูนย์รักษาความสงบอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศใช้

เป็นผลให้ ศรส.ไม่สามารถสั่งการใช้กำลังสลายการชุมนุม ไม่สามารถปิดกั้นการจราจร ไม่สามารถตรวจสอบเคมีภัณฑ์ และอื่นๆ

กระทั่งดูเหมือนว่า รัฐบาลแม้จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้

หนึ่งคือ ปมข้อสงสัยทางกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบ

นั่นคือ ระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง

การจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้ ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 475 คนถึงจะเปิดการประชุมได้


แต่ในขณะนี้ยังไม่อาจประกาศผลการเลือกตั้งได้ และแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่อีกครั้งใน 5 จังหวัด แต่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้งยืนยันว่า "ทำไม่ทัน"

กรณีนี้ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. เน้นว่า หากปล่อยให้เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดอาจนำรัฐบาลไปสู่การสิ้นสภาพ ...และสุญญากาศจะเกิดขึ้น

จาก "สุญญากาศ" ที่นางสดศรีเตือนภัยล่วงหน้า สอดรับกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้

เพราะเมื่อมีคำพิพากษาจากศาลแพ่งให้ยกเลิกคำสั่ง 9 ข้อของ ศรส. ย่อมหมายความว่า อำนาจพิเศษในการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม...ไม่มี

ช่วงเวลานี้ จึงกลายเป็น "สุญญากาศ" ทางกฎหมาย

หลังจากที่เกิด "สุญญากาศ" ทางการบริหาร กรณีจ่ายค่าจำนำข้าวแก่ชาวนา เพราะรัฐบาลรักษาการถูกจำกัดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ กระทั่งหางบประมาณไปจ่ายให้ชาวนาไม่ได้

ก่อเกิดเป็นม็อบชาวนา สร้างความวุ่นวายเกิดขึ้น

แม้กระทรวงการคลังพยายามหาวิธีหลากหลาย ทั้งขอกู้แบงก์รัฐ ขอออกพันธบัตร แต่สุดท้ายก็ยังเกิดอาการสะดุด

เมื่อรวมไปถึงข้อกังวลเรื่องการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ด้วยแล้ว ทำให้แลเห็นว่า การบริหารงานของรัฐบาลเริ่มเข้าสู่โหมด "สุญญากาศ"

ยิ่งเมื่อบังเกิดความเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช.ที่เรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแจ้งข้อหาในคดี "ข้าว" เพื่อพิจารณาและชี้มูลต่อไป

หากปรากฏว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

ตรงนี้จะเป็น "สุญญากาศ" อีกหรือไม่?

เป็น "สุญญากาศ" ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย "นายกฯมาตรา 7"

"นายกฯมาตรา 7" เป็นข้อเสนอที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นำเสนอมาตั้งแต่แรก และที่ผ่านมาได้ปรากฏกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นนักวิชาการ อดีตนายทหาร อดีตข้าราชการ สนับสนุนแนวทางนี้ เพียงแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลรักษาการปฏิเสธ โดยยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร !

จากความเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์ที่เกิดจึงทำให้กระแสข่าว "คนกลาง" ที่จุดประกายขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน...เริ่มเลือนหาย

กระแสข่าว "คนกลาง" ที่เริ่มต้นที่ นายวิษณุ เครืองาม และขยายความต่อด้วยการขานรับจากกลุ่มการเมือง และแกนนำ กปปส.บางคนได้แสดงความเห็นในทำนอง "รับได้"

แต่เมื่อกระแสเริ่มแรง นายสุเทพกลับขึ้นเวทียืนกราน ไม่ยอมรับ "คนกลาง" ทำให้กระแสดังกล่าวแผ่วลง

อย่างไรก็ตาม แม้กระแส "คนกลาง" จะแผ่ว แต่กระบวนการเจรจาพูดคุยยังมีอยู่ เพียงแต่ความเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ความโน้มเอียงของเหตุการณ์ เทไปทางด้านลบ

การเมืองไทยกำลังเข้าสู่สภาวะสุญญากาศ !

ความโน้มเอียงที่เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลสัมผัสได้ และปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาลที่สัมผัสได้คือ...สู้

กรณี ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความแสดงความข้องใจทั้งเรื่องระยะเวลาการสอบสวนที่เร่งเร็วเมื่อเทียบกับคดีของนายอภิสิทธิ์

ทั้งข้อข้องใจที่ ป.ป.ช.ยินยอมให้นายวิชา มหาคุณ ร่วมการพิจารณาด้วย

กรณีคำสั่งศาลแพ่งที่ห้ามใช้คำสั่ง ศรส. 9 ข้อ วันรุ่งขึ้น ศรส.ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงใยสถานการณ์โดยรวมทันที พร้อมทั้งประกาศจะอุทธรณ์คำสั่ง และเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

รวมทั้งกำหนดการของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะเดินทางไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้แจงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

ขณะที่กลุ่มพลังทางภาคเหนือและอีสานเริ่มมีความเคลื่อนไหวตอบโต้

การรวมตัวของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 40 คนที่ภาคอีสาน ซึ่งประกาศสู้กับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการประชุมแกนนำคนเสื้อแดงที่ จ.นครราชสีมา

หรือการที่ชาวนาอุบลราชธานีล้อมธนาคารออมสิน ปราศรัยต่อว่าเรื่องการงดปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

วันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ "สุญญากาศ" ในด้านต่างๆ

ขณะที่กลไกหาบทสรุปสุดท้ายก็ทำงานอย่างขะมักเขม้น

ทำงานทั้งกลไกสร้างสรรค์คือ การเจรจา และกลไกทำลายล้างคือ การฟาดฟันในทุกมิติ

จึงได้แต่ลุ้นเหตุการณ์ต่อไปว่าจุดสุดท้ายจะลงเอยแบบไหน

สร้างสรรค์ หรือ ทำลายล้าง ?


(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393141697&grpid=&catid=12&subcatid=120

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น