ทางตันหรือทางโล่ง?! เปิดโรดแมป "นายกฯม.7"
ท่ามกลางเสียงทักท้วงของนักวิชาการ
กระแสข่าว "สุญญากาศ" และนายกฯคนกลาง ที่จะโผล่ขึ้นจากสุญญากาศ เริ่มเห็นเค้าชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ชี้มูลความผิดกรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.
ทำให้ "นิคม" ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในเก้าอี้รักษาการประธานวุฒิสภา และจะต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป
เปิดทางให้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ต้องทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภา
เรียกว่าพยายามเดินตามต้นแบบ เพื่อให้เกิดนายกฯในสถานการณ์พิเศษ หรือ "โมเดล 14 ตุลาฯ 2516" เพราะหลัง 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ ขณะนั้น บินหนีไปแล้ว
ตำแหน่งนายกฯที่ว่างลง เกิดขึ้นโดย ทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน พล.ต.ศิริ ศิริจินดา ประธานสภาขณะนั้น ทำหน้าที่นำชื่อนายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นต้นแบบการแต่งตั้งนายกฯ ที่ฝ่ายผลักดันนายกฯมาตรา 7 พยายามจะนำมาใช้ หากนายกฯยิ่งลักษณ์พ้นจากรักษาการนายกฯ โดยให้ถือว่าเป็น "ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย" ที่เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว
แต่ ยังติดขัดที่ว่า ในปี 2516 ไม่มีกรอบจำกัดว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส. เหมือนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่เชื่อกันว่าฝ่ายผลักดันคงพยายามพลิกพลิ้วกันไปจนได้
ขณะที่ สถานการณ์ของนายกฯยิ่งลักษณ์โดนกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ปลายเดือนนี้ วันที่ 31 มีนาคมที่จะถึง ก็จะครบกำหนดเวลา 15 วัน ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอขยายเวลามาชี้แจง ภายหลัง ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ในคดีรับจำนำข้าว
เชื่อกันว่าไม่เกินเดือนเมษายนนี้ ป.ป.ช.น่าจะมีการชี้มูล
สมมุติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกชี้มูล ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่รองนายกฯในรัฐบาลรักษาการก็ทำหน้าที่แทนต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ไปจนถึง นายจาตุรนต์ ฉายแสง
จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการตีความหรือใช้แง่มุมกฎหมาย ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องหยุดทำหน้าที่ไปด้วย
หากเกิดขึ้นจริง ก็หมายถึง "จุดจบ" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตามมาด้วยสุญญากาศทางการเมือง
นำไปสู่ความต้องการของฝ่ายที่ต้องการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 คือให้วุฒิสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง
แต่ถ้าจะเอาหลักกฎหมายและประเพณีจริง นายกฯคนกลาง หรือนายกฯมาตรา 7 ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ
อย่างที่ นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า แม้ ป.ป.ช.จะชี้มูลนายกรัฐมนตรีในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว อาจทำให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ตาม
แต่ก็ยังคงมีกลไกการขึ้นมารักษาการของรองนายกรัฐมนตรีอยู่
แต่ถ้าหากชี้มูลคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็ยังมี "ปลัดกระทรวง" ต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่แทนได้
จึงขอยืนยันว่าการชี้มูลของ ป.ป.ช.ไม่ได้ทำให้สถานภาพของนายกรัฐมนตรีเสื่อมสลายไป เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจเต็มไม่ได้เท่านั้น
รัฐธรรมนูญไม่มีช่องว่างที่จะเอารัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ได้อย่างแน่นอน" นายยุทธพรฟันธง
และ ย้ำว่า ยังมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการอุดช่องว่างในการบริหารราชการแผ่น ดิน
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ไม่มีช่องว่างที่จะทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีพระราชทาน หรือแม้กระทั่งการนำประเทศไปสู่สุญญากาศทางการเมือง
วันนี้จะ เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่คนใช้มากกว่า ที่พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงและผลักดันให้เกิดนายกรัฐมนตรีพระราชทาน" นายยุทธพรให้ความเห็น
เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ กำลังบีบให้นำไปสู่นายกรัฐมนตรีพระราชทาน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้
นายยุทธพร มองว่า ไม่มีทางที่ประเทศจะเกิดสุญญากาศได้แน่นอน เพราะถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะทำงานเองไม่ได้ ก็ยังมีรองนายกรัฐมนตรีทำงานแทน โดยไม่จำเป็นต้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ เพราะถือเป็นระเบียบปฏิบัติทางราชการตามปกติ ส่วนการที่ประธานวุฒิสภายังทำหน้าที่ไม่ได้ก็ไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกัน
เป็นอันชัดเจนว่ากฎหมายได้อุดช่องว่างของสุญญากาศไว้หมดแแล้ว
แต่การหาจุดอ่อนเปราะที่สุดของกฎหมาย เพื่อนำไปสู่ "นายกฯคนกลาง" ยังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น
ขณะที่ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่ประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ว่าจะมีความเห็นอย่างไร
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395675043&grpid=&catid=12&subcatid=1200
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น