หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเมือง ′ใหม่′ วิถี แย่งชิง อำนาจ เป้าหมาย ′เก่า′

การเมือง ′ใหม่′ วิถี แย่งชิง อำนาจ เป้าหมาย ′เก่า′


 

ทั้งๆ ที่ "คำวินิจฉัย" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม ความหมายที่เข้าใจร่วมกันคือ

เลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ "โมฆะ"
โมฆะอันหนังสือ พจนานุกรม ฉบับ

มติชน นิยามไว้อย่างรวบรัดที่หน้า 695 สดมภ์ 2 บรรทัดที่ 17 นับจากล่าง

"เปล่า ว่าง ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผล"
ขณะที่คำว่า โมฆกรรม อันเป็นคำนามนิยามว่า "นิติกรรมที่เสียเปล่า, ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย"
อันเท่ากับ 20 กว่าล้านเสียง "ไม่มีผล"

อันเท่ากับจำนวนเงินงบประมาณ 3,800 ล้านบาท เสียไปเปล่าๆ ไม่มีผล ไม่มีประโยชน์ ยิ่งกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ปรากฏเสียง "โห่" อย่างปีติปราโมทย์ ดังมาจาก "สวนลุมพินี"
ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างออกมา "ขานรับ" กับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างคึกคัก ลิงโลด

เป็นความลิงโลดภายในความว่างเปล่า
คําวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีลักษณะประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรม

นูญเมื่อปี 2549

สะท้อน "รูปแบบ" แห่ง "ตุลาการภิวัฒน์"


แม้ถ้อยคำของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่จังหวัดสกลนครอัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ชี้ชวนให้ ผบ.ทบ.อ่าน

เหมือนกับฝากความหวังไว้กับ "ทหาร" ไว้กับ "กองทัพ"
แต่ความเป็นจริงที่ชาวบ้านรับรู้กันเป็นลำดับ การขับเคลื่อนของ "องค์กรอิสระ" และศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็น "ความหวัง"
เห็นได้จาก ป.ป.ช.ฟัน นายนิคม ไวยรัชพานิช ฉับ

เห็นได้จากบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนซึ่งเป็นเสียงข้างมากทำให้การเลือกตั้งต้องเริ่มต้นใหม่

เริ่มต้นกำหนดวันใหม่ เริ่มต้นกำหนดงบประมาณใหม่

แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่เห็นก็คือ การเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเร็วก็อีกไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า เป็นการเลือกตั้งโดย กกต.ชุดเดิม เป็นการเลือกตั้งโดย กปปส.ยังประกาศขัดขวางเหมือนเดิม

เหมือนกับบอกใบ้ให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" รับรู้ล่วงหน้าว่าผลจะเป็นเช่นใด
ปัญหาทางการเมืองของสังคมประเทศไทยในขณะนี้จึงแทบจะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของรัฐบาลไปแล้ว

เพราะรัฐบาลก็เสมอเป็นเพียง "รักษาการ"
รักษาการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เพื่อรอให้การเลือกตั้งสำเร็จ เพื่อรอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา

รอการเลือกตั้ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร"
ถามว่าสิ่งที่สังคมประเทศไทย "รอ" อยู่นี้ รัฐบาล "รักษาการ" จะเป็นผู้รับผิดชอบอย่างนั้นหรือ

ไม่ใช่

ตามรัฐธรรมนูญ กกต.ต่างหากที่จะต้องรับผิดชอบ กกต.ต่างหากที่จะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินการ

ถามว่าการจัดการเลือกตั้งที่ถูกวินิจฉัยให้ "โมฆะ" ไปแล้วเป็นอย่างไร

ถามว่า กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ยังจะขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งหรือไม่

คำตอบอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แจ่มชัด คือ ไม่ยอมให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินต่อไป คำตอบของพรรคประชาธิปัตย์ก็ขึ้นอยู่กับ กปปส.

ถามต่อว่า ทั้งหลายทั้งปวงใคร "รับผิดชอบ"
ความสนุกสนานทางการเมืองในขณะนี้จึงเป็นความสนุกสนานของกระบวนการ "นอก" รัฐบาล

เป็นความสนุกสนานของ กปปส.เป็นความสนุกสนานของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นความสนุกสนานขององค์กรอิสระ เป็นความสนุกสนานของศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นความสนุกสนานเพื่อ "นายกฯ" นอกรัฐธรรมนูญ นายกฯ "คนกลาง"


(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395734466&grpid=&catid=12&subcatid=1200 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น