บทบาท ถลกหนัง ว่าด้วย "รัฏฐาธิปัตย์" บทบาท "ณัฐวุฒิ"
ผลสะเทือนจากรายการ "ถลกหนังเทือก" ผ่านเอเชียอัพเดท
และยูดีดีทีวี ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รุนแรง ล้ำลึกกว้างไกล
รุนแรงเพราะมิได้ถลกเพียง "หนัง" ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ล้ำลึกเพราะว่าได้ลากดึงเอากระบวนการได้มาซึ่ง "รัฏฐาธิปัตย์" ตั้งแต่อดีตกระทั่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันอย่างครบถ้วน
กว้างไกลเพราะเริ่มกลายเป็น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์"
จากข้อสังเกตแบบขี่ม้าชมสวนของ นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เด่นชัดยิ่งว่า "สาร" อันมาจาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เริ่มได้รับความสนใจเหนือกว่าสารอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ยึดครอง "พื้นที่" ในหน้า 1
เท่ากับสะท้อนให้เห็นลักษณะ "ขาขึ้น" ของคนเสื้อแดงผ่าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เท่ากับสะท้อนให้เห็นลักษณะ "ขาลง" ของ กปปส.ผ่าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ไม่ว่าจะจาก "คนชอบ" ไม่ว่าจะจาก "คนชัง"
พลันที่มีการถกเถียงถึงเนื้อหาอันเกี่ยวกับ "รัฏฐาธิปัตย์" ยิ่งทำให้คำว่า "อำนาจอธิปไตย" ทรงความหมายในทางการเมือง
อะไรคือ "รัฏฐาธิปัตย์"
น่ายินดีที่หนังสือศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ พ.ศ.2536 บอกให้รู้ว่า
รัฏฐาธิปัตย์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า SOVEREIGNTY
อันหนังสือ NEW MODEL ENGLISH-THAI DICTIONARY ของ SO SETHAPUTRA บอกไว้ว่า
1 กษัตริย์ 1 ยิ่งใหญ่ 3 อธิปไตย 4 สำคัญ 5 เหรียญทองคำ
และหนังสือปทานุกรม ศัพท์การเมือง อังกฤษ-ไทย โดย สังข์ พัธโนทัย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยศูนย์การพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2513
อธิบายความหมายของ SOVEREIGNTY ว่า
อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในรัฐ กฎหมายระหว่างประเทศถือว่าอำนาจนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของประเทศเอกราช
ถ้าไม่มีอำนาจนี้ก็ไม่อาจรับเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสากลต่างๆได้
ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ประชาชนใช้อำนาจนี้โดยเลือกตั้งผู้แทนฯ ขึ้นไปดำเนินการ
สอดรับกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
ปฏิบัติการของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จึงเท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นบทบาทและความหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
นั่นก็คือ ทำทุกอย่างเพื่อก้าวไปยังมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ
ลักษณะอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งก็คือ มาตรา 3 มิได้มีแต่ท่อนอันระบุว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" เท่านั้น
หากแต่ยังมีท่อนอันยืนยันด้วย
"พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภาคณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
ท่อนหลังมากด้วยความอ่อนไหว
อ่อนไหวอย่างเป็นพิเศษเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงกระบวนการได้มาซึ่ง"รัฏฐาธิปัตย์" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนกันยายน 2549
นี่จึงมิได้เป็นการ "กระตุก" ไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากยังกระตุกไปยังบรรดา "MASTERMIND" อันกำลังชักเชิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ไม่ว่ารัฐประหารโดย "ตุลาการ" ไม่ว่ารัฐประหารโดย "กองทัพ"
สํานวนไทยบ่งบอกปฏิบัติการนี้ได้หลายแนว ไม่ว่าเปิดโปกลางบ่อน ไม่ว่าตีปลาหน้าไซ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การ "ถลกหนัง" โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อนำเอาภาพในอดีตมาศึกษาและสอดสวมเข้าไป ก็มองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะมิใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น
เพียงแต่หนนี้
"เบี้ยหมาก" คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น