หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ต่อสู้ 2 แนวทาง ของ กปปส. กับ นปช. ยืดเยื้อ ยาวนาน

ต่อสู้ 2 แนวทาง ของ กปปส. กับ นปช. ยืดเยื้อ ยาวนาน






การชุมนุม "ใหญ่" ของ กปปส. ซึ่งเลื่อนจากที่เคยประกาศว่าเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม มีความเด่นชัด

เด่นชัด 1 เพื่อกำจัดและขจัด "ระบอบทักษิณ"
เด่นชัด 1 ตามคำกล่าวบนเวทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนการเคลื่อนพล

"เพื่อเรียกร้องให้คนใหญ่คนโตในบ้านเมืองออกแรง ออกมาทำงานหน่อย หากบำเพ็ญเพียรอีก 4-5 วันแล้วคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองยังไม่ทำอะไร เราจะทำเองเลย ให้เวลามานานแล้ว

มาเป็นล้านๆ แล้วคนใหญ่คนโตยังนั่งอมยิ้มแก้มตุ่ย งานนี้จะแสดงออกเองแล้ว"

แสดงว่าภายในองคาพยพแห่ง กปปส.มิได้มีแต่ "มวลมหาประชาชน" หากแต่ยังจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า

"คนใหญ่คนโตในบ้านเมือง"
ถามว่าการขับเคลื่อนของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นคนใหญ่คนโตหรือไม่ การขับเคลื่อนของ "ป.ป.ช." เป็นคนใหญ่คนโตหรือไม่ การเตะถ่วง รั้งดึงของ "กกต." เป็นคนใหญ่คนโตหรือไม่ การเร่งรัดและเร่งรีบของ "40 ส.ว." เป็นคนใหญ่คนโตหรือไม่

หรือว่ายังมี "คนใหญ่คนโต" เหลืออีกที่ยังไม่ "ร่วมด้วยช่วยกัน"
นี่ย่อมเป็น "สัญญาณ" อันมาจาก "กปปส."
ทิศทางของ กปปส.เป็นเช่นนั้น ถามว่าแล้วทิศทางของ นปช. ทิศทางของคนเสื้อแดงจะดำเนินไปเช่นใด

เหมือนกับ "นปช." จะออกมาต้านยัน "กปปส."

อาจมองได้อย่างนั้น แต่ภายในกระบวนการเคลื่อนไหวทำท่าว่าทิศทางของ นปช.ในการชุมนุมใหญ่บนถนนอักษะนับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นต้นไป

กำลังจะไป "ไกล" กว่านั้น

เพราะหากศึกษาดูการปะทะระหว่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ กปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งพิจารณายิ่งมองเห็นความสลับซับซ้อน

กปปส.จึงเสมอเป็นเพียง "ปลายบน" สุดของ "ภูเขาน้ำแข็ง"
กปปส.สัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ขณะเดียวกัน ก็สัมพันธ์กับองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น "กกต." ไม่ว่าจะเป็น "ป.ป.ช." ไม่ว่าจะเป็น "ศาลรัฐธรรมนูญ" และแม้กระทั่ง ส.ว.กลุ่ม 40 อันเป็นการสนธิระหว่าง ส.ว.สรรหา กับ ส.ว.เลือกตั้งเส้นสายพรรคประชาธิปัตย์

ที่ว่าเป็นการสมคบคิดตาม Conspiracy Theory เป็นเช่นนี้

คำประกาศล่าสุดจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะประธาน นปช.ที่ว่า กำลังต่อสู้กับระบอบอำมาตย์นับแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงทรงความหมาย

เป็นการก้าวข้าม "กปปส." ไปยังเครือข่าย "อำมาตยาธิปไตย"
จากนี้จึงนำไปสู่สภาวะอัน "แหลมคม" ยิ่งในทางการเมือง นับแต่สถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

ถามว่าเป้าหมายเช่นนี้ของ นปช.สะท้อนอะไร

คำตอบ 1 สะท้อนการสืบทอดเจตนารมณ์

ซึ่งยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นในการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองของ "คณะราษฎร"
คำตอบ 1 สะท้อนการปะทะทั้งทางความคิด ทางการเมืองและทางการจัดตั้ง

การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงภายหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มิได้เป็นเรื่องผิดปกติ ผิดธรรมชาติ

มีหรือไม่มีพรรคไทยรักไทย "คนเสื้อแดง" ก็ต้องเกิด

เพราะคนเสื้อแดงคือมวลชนที่เติบใหญ่จากการลุกขึ้นสู้เมื่อเดือนตุลาคม 2516 การลุกขึ้นสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 การลุกขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เป็นการสืบทอดในสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ของคณะราษฎรเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

ในที่สุดเป้าหมายเขาก็ชัดว่าเป็น "อำมาตยาธิปไตย"
การมาของ "คนเสื้อแดง" บนถนนอักษะ พุทธมณฑล จึงเป็นการรวมศูนย์กำลังมวลชนครั้งใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของไทย

มีโอกาสก่อรูปเป็น "ปฏิมา" แห่ง "ไทยสปริง"

มีความแจ่มชัดอย่างแน่นอนระหว่าง "กปปส." ที่สวนลุมพินี กับ "นปช." ที่ถนนอักษะ

1 ต้องการอาศัยรูปแบบการชุมนุมเพื่อนำไปสู่ "นายกฯ คนกลาง" ฟื้นความรุ่งเรืองแห่งระบอบอำมาตยาธิปไตย 1 ต้องการประชาธิปไตย ต้องการการเลือกตั้งยืนยันอำนาจประชาชน

นี่คือ "สงคราม" ที่ดำเนินไป และมีลักษณะ "ยืดเยื้อ" มิอาจจบภายในเร็ววัน



(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น