หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สื่อในรัฐประหาร

สื่อในรัฐประหาร

 

 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ผมไม่ทราบว่าสื่อกระแสหลักสักกี่ฉบับกี่ช่องกี่คลื่นที่เสนอข่าวแถลงการณ์ของคุณจอม เพชรประดับ ได้เห็นข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเสนอข่าวแต่เพียงว่า คุณจอมได้ประกาศยุติการทำหน้าที่สื่อไว้ก่อนจนกว่าประเทศไทยจะได้เสรีภาพกลับคืนมา แต่ก็ไม่มีรายละเอียดของแถลงการณ์ เพียงแต่อ้างที่มาของแถลงการณ์ไว้ในเว็บไซต์อื่นให้ตามไปอ่านกันเอง

เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดแถลงการณ์ฉบับเต็มของคุณจอมจึงเสนอในสื่อกระแสหลักไม่ได้ เพราะนอกจากคุณจอมจะชี้ให้เห็นความน่าเคลือบแคลงของคณะรัฐประหารแล้ว คุณจอมยังตั้งคำถามสำคัญถึงสื่อทั้งหลายว่า ท่ามกลางการถูกจับกุมคุมขังและ "กระทำย่ำยีอย่างไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก" เหตุใดสื่อจึงไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ปราศจากสิทธิเสรีภาพ สื่อทำงานต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่นี้ก็ "เหมือนคนโกหกหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงคนอื่น"

ด้วยเหตุดังนั้น คุณจอมจึงเลือกที่จะยุติบทบาทสื่อจนกว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพจริง

ขอค้อมหัวคารวะคุณจอม เพชรประดับ ไว้ ณ ที่นี้

คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจเมื่ออ่านแถลงการณ์ของคุณจอมก็คือ ปราศจากเสรีภาพอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ สื่อส่วนใหญ่ทนทำงานอยู่ได้อย่างไร เสรีภาพของสื่อซึ่งคนนอกสื่อเคยร่วมรณรงค์ปกป้องนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของสื่อจริงหรือ ปราศจากเสรีภาพที่สื่อเรียกร้องก็เห็นสื่อทำงานได้อย่างไม่อนาทรร้อนใจแต่อย่างไร ทั้งยังมีคำถามที่ร้ายแรงกว่านั้นด้วยว่า เสรีภาพที่สื่อเรียกร้องนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักเอามันไปใช้ทำอะไร คุ้มหรือไม่ที่จะไปต่อสู้ปกป้องเสรีภาพของสื่ออีก

ผมทราบดีว่า ส่วนใหญ่ของคนทำสื่อเวลานี้ไม่มีที่หลบภัยในต่างประเทศอย่างคุณจอม อีกหลายคนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมพอจะหลบไปอยู่ต่างประเทศได้ แต่ชีวิตส่วนตัวและความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นที่จะเขียนต่อไปนี้จึงไม่มีเจตนาจะโจมตีคนทำสื่อในฐานะบุคคล แต่อยากชวนให้ช่วยกันคิดถึงบทบาทของสื่อในสังคมปัจจุบัน (โดยเฉพาะสังคมไทย) ว่าสื่อกระแสหลักยังมีความสำคัญเพียงไรในสิทธิการรับรู้ของพลเมืองระบอบประชาธิปไตย

สื่อ กระแสหลักในทุกวันนี้เป็นธุรกิจที่ใหญ่มากความจำเป็นในการแข่งขันด้านธุรกิจ ของโลกปัจจุบันทำให้สื่อไม่มีทางเลือกมากนักมีรายได้น้อยก็ไม่อาจทำสื่อที่ มีคุณภาพได้ คุณภาพที่ต่ำก็ทำให้โฆษณาไม่เข้า รายได้ก็ยิ่งหดหายไป จนในที่สุดก็ต้องเลิกกิจการ ดังนั้นสื่อจึงต้องลงทุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก จนเป้าหมายของความเป็นสื่อลดความสำคัญลงเรื่อยๆ บ้างอาจขยายไปสู่ธุรกิจสื่อแขนงอื่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็เพิ่มต้นทุนด้านภาระของลูกค้าไปพร้อมกัน เช่น เลือกจะไม่ลงข่าวที่เป็นผลเสียต่อลูกค้าโฆษณารายใหญ่ บ้างขยาย (หรืองอกมาจาก) ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สื่อ ทำให้ต้องคอยระวังผลกระทบต่อธุรกิจทั้งด้านสื่อและด้านอื่นซึ่งตัวทำกำไร อยู่

ยิ่งลงทุนมากผลกำไรมากก็ยิ่งมีเดิมพันสูงจนกระทั่งบรรทัดฐานของการทำงานห่างไกลจากอุดมคติของความเป็นสื่อมากขึ้นทุกที เมื่อรัฐใช้อำนาจตรวจข่าว (ทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม) ธุรกิจสื่อย่อมเลือกที่จะ "โกหกหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงคนอื่น" ตามคำของคุณจอม เพชรประดับ มากกว่าเสี่ยงที่จะล้มละลายหรือขาดทุนสูงทางธุรกิจ
สภาวะ ทางธุรกิจในประเทศไทยอาจพร้อมที่จะเปิดให้สื่อลงทุนด้านธุรกิจขนาดใหญ่เช่น นี้แต่สภาวะทางการเมืองไม่พร้อมหากเปรียบเทียบกับโลกตะวันตก เสรีภาพของสื่อได้รับการประกันอย่างแน่นหนาไม่แต่เพียงตามรัฐธรรมนูญเท่า นั้น แต่ได้รับการประกันอย่างแน่นหนาเสียกว่าจากสังคม ไม่มีฝ่ายบริหารคณะใด ไม่ว่าจะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นสักเพียงไร จะสามารถละเมิดเสรีภาพของสื่อซึ่งสังคมรับรองอย่างแข็งขันได้ แม้แต่สมมติให้เกิดรัฐประหารขึ้นในอังกฤษ หนึ่งในสิ่งที่คณะรัฐประหารไม่กล้าทำอย่างเด็ดขาดก็คือ ตรวจข่าวหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แม้แต่ปลดผู้อำนวยการบีบีซีก็คงไม่กล้า

ในเมืองไทยมีแต่ความพร้อมด้านสภาวะทางธุรกิจ แต่ไม่มีความพร้อมด้านสภาวะทางการเมืองที่จะปล่อยให้สื่อขยายตัวจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่แน่ใจว่าสื่อได้พยายามพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นหรือยังว่าเสรีภาพ

ของสื่อมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่อย่างไรผมหมายความว่าพิสูจน์ด้วยการกระทำนะครับไม่ใช่พิสูจน์ด้วยการโฆษณา (ชวนเชื่อ)

ผ่านไปแล้วครับ ยุคสมัยของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ คุณอิศรา อมันตกุล เหลือไว้เพียงชื่อให้สื่อในทุกวันนี้ทำมาหากินเท่านั้น นั่นเป็นยุคสมัยที่สื่อยังเป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์อย่างทุกวันนี้

ตรงกันข้ามกับสื่อกระแสหลัก คือ สื่อออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าสื่อทางเลือก รวมทั้งโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อทางเลือกเหมือนกัน

สื่อเหล่านี้ในเมืองไทยยังไม่พัฒนาไปเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบส่วนใหญ่ไม่เป็นธุรกิจเลยอีกทั้งการเริ่มกิจการก็ไม่ยาก จึงแทบไม่มีการลงทุนมากไปกว่าเวลาของผู้ทำและพร้อมจะถูกปิดเมื่อไรก็ได้ เพราะอาจหาช่องเปิดใหม่ได้ไม่ยากอีกเหมือนกัน หรือเลิกไปเลยก็ได้ ลูกเมียไม่เดือดร้อน
ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร สื่อทางเลือกเท่านั้นที่ยังพอรักษาเสรีภาพของสื่อไว้ได้ (เพราะต้นทุนในการรักษาต่ำ) เหตุดังนั้น ในทุกวันนี้หากต้องการตรวจสอบข่าวสารข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงในบ้านเมือง สื่อทางเลือกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ มีคลิปวิดีโอที่หาชมที่ไหนไม่ได้ มีเนื้อหาข่าวที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ มีตัวเลขข้อมูลบางอย่างซึ่งไม่เปิดเผยทั่วไป มีความเห็นของคนต่างๆ ซึ่งไม่อาจแสดงออกในสื่อใดได้เลย รวมทั้งมีบทความ (ทั้งแปลแล้วและยังไม่ได้แปล) จากสื่อต่างประเทศที่มีเสรีภาพจากคณะรัฐประหาร และอีกมากทีเดียวมีข่าวลือที่แพร่หลายทั่วไปในสังคม

ข่าวสารข้อมูลที่ได้จากสื่อทางเลือกเหล่านี้เชื่อถือได้หรือไม่เพราะทำได้ง่ายอย่างแทบไม่ต้องลงทุนจึงทำให้ใครๆ ก็สามารถทำสื่อได้ ด้วยจุดประสงค์ที่คละเคล้ากันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นจึงเชื่อถือไม่ได้เท่ากับข่าวสารข้อมูลที่ได้จากสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารข้อมูลจากสื่อประเภทใด ผู้รับก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบทั้งนั้น แม้ไม่อาจตรวจสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ตรวจสอบเพื่อให้น้ำหนักแก่ข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วยการตรวจสอบข่าวต่างๆ กันเองบนวิจารณญาณที่มีตรรกะของผู้ตรวจสอบ อย่างที่เห็นได้ในสื่อทางเลือกอันหนึ่งคือ Bangkok Pundit พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเป็นความสามารถที่คนในโลกยุคปัจจุบันขาดไม่ได้เสมอ

สื่อกระแสหลักต้องการขายชื่อเพราะชื่อจะทำให้ได้มาซึ่งกำไรจากโฆษณาแต่พูดกันอย่างไม่เกรงใจยังไม่มีสื่อกระแสหลักใดในประเทศไทยที่มี "ชื่อ" ในความน่าเชื่อถือของข่าว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มีความพยายามอย่างนี้ปรากฏในสื่อทางเลือกบางชื่อ ขอยกตัวอย่างเพียงชื่อเดียวคือ "ประชาไท" อย่างน้อย "ประชาไท" ก็เคยขออภัยผู้อ่านที่ลงข่าวผิดพลาด ในขณะที่สื่อกระแสหลักไม่เคยทำ แม้แต่ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา

ผมเดาไม่ถูกว่าสื่อทางเลือกในเมือง ไทยจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจโฆษณาเต็มรูปแบบพอจะเลี้ยงตนเองได้สักวันหนึ่งข้าง หน้าหรือไม่(ไม่นับฉบับออนไลน์ของสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นของแถมแก่ผู้ลง โฆษณา)แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ ผมคิดว่าเสรีภาพของสื่อทางเลือกต่างหากที่เราต้องช่วยกันปกป้อง ไม่ใช่เสรีภาพของสื่อกระแสหลักซึ่งไม่ต้องการเสรีภาพมากไปกว่ากำไร

สักวันหนึ่งเมื่อเรากลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเราควรเฉยเมยต่อการละเมิดเสรีภาพสื่อกระแสหลักของนักการเมืองในฐานะสหภาพแรงงานสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์สู้เอาเอง แต่เราควรร่วมกันปกป้องเสรีภาพของสื่อทางเลือก ผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในสภา นำเทคโนโลยีการหลบหลีกการเซ็นเซอร์ของนักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารมาเผยแพร่และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สื่อกระแสหลักอาจไม่ใช่สื่อของสังคมปัจจุบันไปแล้วเราจะดูทีวีออนไลน์ฟังวิทยุออนไลน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ อย่างรู้จักประเมินด้วยความระมัดระวัง (ซึ่งเรามักลืมที่จะทำอย่างนั้นกับสื่อกระแสหลัก) และปล่อยให้สื่อกระแสหลักค่อยๆ ตายไปเอง


(ที่มา) 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404722239 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น