การล่าแม่มด "คนคิดต่าง" 2010 บนโลกไซเบอร์
โดย : ศาลวัต บุญศรี
มีการตั้ง กลุ่มทางการเมืองขึ้นเป็นจำนวนมากตามอุดมการณ์ และความคิดเห็นทางการเมืองของตน อย่าง
กลุ่มเสื้อหลากสี ที่ทุกท่านคงได้เห็นผ่านสื่อในระยะที่ผ่าน กลุ่มหนึ่ง ชื่อ Social sanction ซึ่งประกาศตัว
ชัดเจนในการที่กำจัดนักการเมืองที่คอร์รัปชัน และผู้ที่คิดทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยใช้วิธีการทางสังคมแทนกฎหมาย ณ ขณะนี้ มีสมาชิกอยู่ราว 5,500 คน
วิธีการปฏิบัติ ของสมาชิกและผู้ดูแลในเพจ Social Sanction นี้ จะทำการบันทึกภาพหน้าจอของ
ผู้ใช้ เฟซบุ๊ค ที่พิมพ์เนื้อหาในเชิงวิพากษ์ วิจารณ์สถาบัน รวมถึงมีความคิดเอียงไปทาง "แดง" แล้วนำมา
โพสต์ พร้อมบรรยายสรรพคุณตั้งแต่ชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงาน พฤติกรรม บุคลิก พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิกใน
เพจ ใช้กระบวนการทางสังคมกดดันให้ผู้ใช้เฟซบุ๊ค ที่ถูกบันทึกภาพมารู้สึกผิด
หากเป็นผู้มีชื่อเสียง ทีมงานเรียกร้องให้สมาชิกไม่อุดหนุนงานของคนคนนั้น
หากเป็นคนธรรมดา นอกจากร่วมรุมด่าและประณามในเว็บแล้ว ก็เชิญชวนให้ส่ง sms อีเมล รวมถึงโทรศัพท์
ไปด่า ตัดออกจากสังคม จนถึงขั้นกดดันบริษัทให้ไล่ออก และส่งเรื่องให้ DSI ราวกับ "ฟัก" ในคำพิพากษา
งานของ ชาติ กอบจิตติ มิปาน
สมาชิกทั้งหลายมีความกระตือรือร้นมากในการเสาะแสวงหาผู้คิดต่างเอามา "เสียบประจาน" (คำนี้ถูกใช้ใน
กลุ่มจริงๆ) บางวันหากไม่มีการเสียบประจานจะมีสมาชิกบางคนบ่น และกระตุ้นให้ค้นหา
มีผู้คนได้รับผลกระทบจากเพจนี้จำนวนมาก พฤติกรรมของเพจ Social Sanction นี้
เชื่อว่า บรรดาสมาชิกล้วนแล้วแต่คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นทำถูกแล้ว บนสมมติฐานเบื้องต้นที่ว่า หากกฎหมายทำ
อะไรไม่ได้ เราก็ใช้บทลงโทษทางสังคมเล่นงานเสียเลย ยิ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เปราะ
บางด้วยแล้ว หลายคนเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ เพื่อแลกกับการปกป้องสถาบันมิใช่เรื่องผิดแม้แต่น้อย
เชื่อว่า สมาชิกในกลุ่มนั้น มีความรู้สึกนึกคิดมิได้ต่างจาก
ประชาชนที่มามุงดูเหตุการณ์ล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์
แต่อย่างใด พวกเขาล้วนเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อมา และมองผู้คิดต่างกลายเป็นคนอื่น ประกอบกับเปลี่ยนสื่อที่
ใช้เป็นสื่ออินเทอร์เน็ต ที่คุณสมบัติในการสื่อสารเร็วมาก แต่ยากในการตรวจสอบความเท็จจริง บวกกับการที่
คนใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ มักเชื่อว่าในโลกไซเบอร์นั้น การปลอมตัวเป็นเรื่องธรรมดา จะตามหาตัวจริง ว่า
อยู่ที่ไหนนั้นเป็นเรื่องยาก (ซึ่งความคิดนี้ความจริงแล้วผิด) ส่งผลให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงกันมาก
ขึ้น สะท้อนแรงขับความก้าวร้าวบนรอยยิ้มที่สนุกสนาน เมื่อเห็นคนที่คิดต่างได้รับความทุกข์ระทม
การแสดง ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่จะกระทำได้ ส่วนกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ผู้เขียนมี
ทัศนะว่า ใครที่หมิ่นก็ต้องได้รับผลตามกฎหมาย (ไม่ว่าไปดูหมิ่นคนธรรมดาหรือพระราชวงศ์ ก็ต้องได้รับผลจาก
ความผิดนั้นเหมือนกัน) แต่รับไม่ได้ต่อพฤติกรรมการตั้งตนเป็น ศาลเตี้ยพิพากษาความผิด ของคนอื่น จาก
บรรทัดฐานความคิดของตน แถมบรรทัดฐานเหล่านั้น ยังบิดเบี้ยวเต็มเปี่ยมด้วยอคติ เพราะปราศจากการศึกษา
ในเชิงวิชาการ
ผู้เขียนเชื่อในนิติรัฐและกฎหมายอันเที่ยงธรรม (หากยังไม่เที่ยงนักก็ต้องช่วยกันปรับให้สมบูรณ์) บ้านเมืองมีขื่อ
มีแป มิใช่ตัดสินความผิดคนโดยใช้บรรทัดฐานของตนเอง มิอย่างนี้แล้วสังคมไทยก็ยิ่งถอยลงๆ สู่โลกแห่ง
อนาธิปไตยเข้าไปทุกที
ล่าสุดเพจ Social Sanction นี้ได้ถูกลบไปโดยเว็บเฟซบุ๊ค หลังจากมีการร้องเรียนจำนวนมาก ทว่าก็มีความ
พยายามของกลุ่มผู้ดูแลในการสร้างหน้าเว็บใหม่ แต่ยังคงอุดมการณ์เดิมขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดมีการสร้างหลายหน้า
เว็บ เพื่อ "ลับ ลวง พราง" มิให้ผู้ที่มิใช่สมาชิกทราบว่าเพจไหนแน่ที่เป็นของจริง
ปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากเพจ Social Sanction ได้ก่อให้เกิดการสร้าง กลุ่มใหม่ๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นทาง
การเมืองอย่างสุดโต่งมากขึ้น ล่าสุดผู้เขียนเองสะเทือนใจมากที่เห็นเพจ "กลุ่มเสพศพคนเสื้อแดง" ที่ตั้งขึ้นมา
เพื่อแสดงความยินดีที่ได้เห็นคนเสื้อแดงต้องเสียชีวิต มีการโพสต์ รูปศพที่เสียชีวิตพร้อมกับด่าทอว่าสมควรแล้ว
กับสิ่งที่ได้รับ ถือเป็นเรื่องที่เสียสติและไร้มนุษยธรรมอย่างมากที่คนคนหนึ่ง พึงทำต่อคนที่ไม่เคยรู้จักแม้แต่หน้า
กัน ไม่เคยมีความแค้นต่อกันเลยแม้แต่น้อย
นี่คือ สิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็นจริงแล้ว อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ท่านผู้อ่านที่มีมิตรสหายหรือลูกหลานชอบเล่น
อินเทอร์เน็ตโปรดเฝ้าระวัง เรื่องนี้ให้ดี ความน่ากลัวของโลกไซเบอร์ มิใช่มีเพียงที่ท่านเคยรู้เท่านั้นแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น