หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทุนสามานย์

ทุนสามานย์ 


โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


ใครก็ตามที่คิดคำว่า "ทุนสามานย์" ขึ้นมา น่าจะได้ซีไรต์, บัวหลวง, ศิลปินแห่งชาติ, พระเกี้ยวทองคำ และอื่นๆ บรรดามีในเมืองไทยพร้อมกันในปีเดียว

เพราะ คำนี้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของโลกทรรศน์คนจำนวนไม่น้อย และในนั้นมีทั้งนักวิชาการ, กวี, ศิลปิน, ปัญญาชน, เอ็นจีโอ หรือแม้แต่พระภิกษุ ทั้งเป็นคำที่ให้ความสะใจสำหรับใช้ประณามศัตรูของตน นับตั้งแต่ศัตรูทางการเมืองไปจนถึงศัตรูหัวใจ

แต่ในขณะเดียวกัน เพราะพลังทางภาษาของคำคำนี้ จึงทำให้ผู้หลงใหลลืมความสามานย์ของทุนทั้งระบบ

ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า นายทุนที่ใช้เส้นสายและติดสินบนอำนาจรัฐ เพื่อผูกขาดขายบริการโทรศัพท์มือถือ กอบโกยกำไรโดยการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างหน้าด้านๆ นับตั้งแต่ตั้งราคาตัวโทรศัพท์, ซิม, ไว้สูงเกินจริง และบีบบังคับผู้บริโภคให้ต้องซื้อบริการมากๆ เช่นกำหนดเวลาสั้นๆ ในการใช้บริการแก่ผู้ซื้อบัตรเติมเงิน ฯลฯ คือทุนสามานย์อย่างแน่นอน

ยิ่ง ใช้กำไรมหาศาลที่ได้จากการผูกขาดและการขายบริการอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เข้ามากุมอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย เพื่อใช้อำนาจนั้นในการเพิ่มพูนทรัพย์สินของตน (ตัวเลขของราคาหุ้นในตลาด) ก็ยิ่งย้ำความเป็นทุนสามานย์อย่างแน่นอน

แต่ทุนผูกขาดในเมืองไทยไม่ได้เริ่มต้นจากการผูกขาดโทรศัพท์มือถือ จะว่าไปก็ไล่ย้อนไปได้ถึงกรุงศรีอยุธยาโน่น พระคลังสินค้าผูกขาดสินค้าส่งออกและนำเข้าอันเป็นที่ต้องการของตลาดมาเกือบ จะโดยตลอด และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของราชสำนักไทย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่คนละโลกกับประชาชนของตนเอง ซ้ำในเวลาต่อมาก็ยังกินหัวคิวจากการผลิตสินค้าสู่ตลาดทุกชนิดในราชอาณาจักร โดยอาศัยระบบเจ้าภาษีนายอากร ซึ่งยังดำรงอยู่ต่อมา แม้เมื่อฝรั่งบังคับให้ต้องเลิกการผูกขาดสินค้าเข้า-ออกแล้วก็ตาม

ทุน ไทยตอบสนองต่อการเปิดตลาดข้าวอย่างกว้างขวาง ด้วยการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองที่ตนลงทุนขุดในภาคกลาง แต่ก็ไม่ได้ลงไปบุกเบิกด้านเกษตรกรรมเอง หากนอนกินค่าเช่าจากชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวขายป้อนตลาดต่างประเทศ ที่ดินซึ่งบริษัทคลองคูนาสยาม (อันประกอบด้วยผู้ถือหุ้นที่เป็นราชนิกุลและคนใกล้ชิด) มีชาวนาที่เข้ามาบุกเบิกจับจองไว้ก่อนแล้วจำนวนไม่น้อย เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของโรงสีและท่าเรือส่งออกข้าว แต่ก็ถูกบริษัทซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง ใช้กำลังทั้งเถื่อนและกำลังของรัฐขับไล่ออกไป หลายครั้งด้วยวิธีรุนแรง เช่นเผาบ้านทิ้ง

นี่คือการผูกขาดปัจจัยการผลิตนั่นเอง แต่กระทำโดยกฎหมายที่รัฐออกมาเพื่อเอื้อให้ทุนสามารถผูกขาดได้
 
หลัง 2490 ทั้งนายทหารและนายตำรวจเข้าไปนั่งเป็นประธานและกรรมการบริษัทจำนวนมาก บางคนเป็นกรรมการถึงกว่า 50 บริษัท เพราะทุนเชื้อเชิญเข้าไปเป็นร่มเงาให้แก่การผูกขาดในรูปแบบต่างๆ เช่นหากเป็นธนาคาร ก็ทำให้รัฐสั่งเอาเงินของบางกระทรวงไปฝากไว้กับธนาคารที่ตนนั่งเป็นประธาน การยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคพัฒนา ไม่ได้ขจัดความไม่เป็นธรรมในการลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่ขจัดคู่แข่งของตนออกไปจากการกินส่วยของทุน แต่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างทุนและอำนาจรัฐซึ่งตัวยึดมาได้เป็นระบบมากขึ้น เท่านั้น

หากทุนต้องการทำโรงงานน้ำมันละหุ่ง ก็จะมีกฎหมายห้ามส่งออกเมล็ดละหุ่งดิบ เพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศต่ำ โรงงานทอผ้าทั้งหมดทำกำไรได้มโหฬารจากกฎหมายที่รอนสิทธินานาประการของฝ่าย แรงงาน เราผลิตผ้าได้หลายร้อยล้านหลาต่อปี ด้วยแรงงานที่ไม่เคยได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นสิบปี และทำงานในโรงงานที่มีสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง

การ "ผูกขาด" เพิ่มความซับซ้อนขึ้น เช่นเราอาจเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าเพื่อขายผ้าให้แก่เวียดนาม เพราะตระกูลของตนลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไว้มาก แม้ไม่มีบริษัทก่อสร้างปลอมๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อกินหัวคิวการก่อสร้างภาครัฐแล้ว แต่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภาครัฐก็ยังวนเวียนกันอยู่กับบริษัทใหญ่เพียง ไม่กี่บริษัท และทุกบริษัทต่างมีเส้นอยู่กับภาครัฐ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมทั้งสิ้น

(อ่านต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346044936&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น