หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

วาด รวี ถาม สมศักดิ์ เจียมฯ: ทำไมต้องเถียงกันเรื่อง"ยกเลิก”หรือ“แก้ไข" ม.112

วาด รวี ถาม สมศักดิ์ เจียมฯ: ทำไมต้องเถียงกันเรื่อง"ยกเลิก”หรือ“แก้ไข" ม.112

 

 


บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อตั้งคำถามและวิพากษ์ความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่วิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์และ ครก.112 ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ตลอดเวลาที่สมศักดิ์วิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์ มีประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือ สมศักดิ์เห็นว่าข้อเสนอที่ถูกต้องนั้นคือการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่านั้น เพื่อยืนยันว่า “กฎหมายที่ดีพอสำหรับคนธรรมดา ก็ต้องดีพอสำหรับเจ้า” และข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มาจากฐานคิดเดียวกับรอยัลลิสต์คือ “เจ้าไม่เท่ากับคนธรรมดา”

โปรดสังเกตว่าข้อวิจารณ์นิติราษฎร์และ ครก.112 ของสมศักดิ์นั้น มองไม่เห็นข้อเท็จจริงสำคัญอันหนึ่ง  คือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ ทุกคนล้วนถูกบังคับให้ต้องเสนอภายใต้กรอบของระบอบ constitutional monarchy ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวสมศักดิ์เองซึ่งอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของตนนั้น เป็นไปเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสมัยใหม่

พูดง่าย ๆ คือสมศักดิ์เองก็อ้างอยู่เสมอว่าตัวเองกำลังเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว (สมศักดิ์พูดหลายครั้งว่าเป็นไปเพื่อเป็น “ผลดี” ต่อสถาบันกษัตริย์เอง รวมทั้งในการพูดครั้งหลังสุดที่งาน 80 ปี ส.ศิวรักษ์)

คำถามก็คือ ข้อเสนอ 8 ข้อของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ตั้งอยู่บนฐานคิดของรอยัลลิสต์กระนั้นหรือ? (ยังเสนอให้มีสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันประมุขของประเทศ)

ข้อเสนอของสมศักดิ์มีความแตกต่างอย่างไรกับข้อเสนอของคณะนิติ ราษฎร์ ในเมื่อทั้งสองข้อเสนอตั้งอยู่บนฐานคิดว่าให้มีสถาบันกษัตริย์ (และรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในระยะยาวในกรณีของสมศักดิ์)

โปรดสังเกตว่า เหตุผลที่เสนอให้แก้ไข 112 ของคณะนิติราษฎร์นั้นเป็นเหตุผลในทางกฎหมาย โดยให้สถาบันกษัตริย์ (ตามกรอบเดิมคือ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ถือเป็นสถาบันประมุขที่อาจทำหน้าที่เป็นตัวแทน (representative) รัฐ ดังนั้นจึงให้มีการแยกแยะกฎหมายไว้ต่างหาก และให้โทษเฉพาะตำแหน่งกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดาอยู่ 1 ปี ส่วนเหตุผลของสมศักดิ์ที่ให้ยกเลิกนั้นคือ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นสมัยใหม่ (ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนหรือเป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์เอง – คำพูดของสมศักดิ์เองที่อ้างอยู่เสมอ)


ถามตรง ๆ ว่าเหตุผลใครเป็นรอยัลลิสต์มากกว่ากัน? สามารถพิสูจน์สิ่งนี้ภายใต้สภาพบังคับปัจจุบันได้ไหม?

 “หลักการ” อะไรที่สมศักดิ์เอามาประเมิน (ว่าข้อเสนอ 112 ของนิติราษฎร์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่) ภายใต้สภาพบังคับของระบอบ constitutional monarchy ?

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่สมศักดิ์เองและปัญญาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่อง 112 ทราบกันดีอยู่แก่ใจก็คือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้ กรอบการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองเดียวที่เสนอได้ก็คือกรอบของระบอบ constitutional monarchy ไม่สามารถเสนอระบอบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ ทั้งที่ในสังคมประชาธิปไตยย่อมเป็นเรื่องปรกติที่ประชาชนจะมีความเห็นหรือ แสดงออกว่าอยากให้มีระบอบการปกครองแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น constitutional monarchy เท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอทุกข้อเสนอย่อมถูกบังคับ (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่) ให้ต้องเสนอในกรอบของรอยัลลิสต์ (คือต้องมีสถาบันกษัตริย์) ไม่มากก็น้อย

ถามว่าภายใต้สภาพบังคับแบบนี้ การที่สมศักดิ์วิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่าเป็นรอยัลลิสต์นี้ ขัดแย้งกับตัวเองหรือไม่? มองไม่เห็นสภาพบังคับ และมองไม่เห็น “ความเป็นรอยัลลิสต์” ในข้อเสนอ 8 ข้อของตนเองหรือ?

สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นสถาบันที่ “ไม่เท่ากับคนธรรมดา” โดยธรรมชาติ (ไม่เช่นนั้นจะเรียกสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร?) และความสืบเนื่องของสถาบันกษัตริย์ (สายตระกูล) ก็เป็นอะไรที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ นี่เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น เนื้อหาที่แท้จริงของการพยายามปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยภายใต้กรอบของระบอบ constitutional monarchy นั้นก็คือ การที่คุณกำลังพยายามเสนอให้สิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตยโดยธรรมชาติสามารถอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตย (ทุกคนเท่ากัน) ได้ นี่คือโจทย์ ถ้าคุณยังต้องการเสนอในที่สาธารณะโดยถูกกฎหมาย โจทย์ก็คือ คุณจะเสนออย่างไรให้สิ่งที่ไม่เท่ากันโดยธรรมชาตินี้ ดำรงอยู่ได้โดยไม่ละเมิดความเท่าเทียมกันภายใต้หลักการประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น หากจะวิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์และ ครก.112 ว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” (สมศักดิ์ใช้คำนี้ในเฟซบุค) อย่างไร คุณก็ต้องประเมินบนฐานคิดภายใต้สภาพบังคับคือ “จะทำให้สถาบัน กษัตริย์ดำรงอยู่ หรือ ทำให้สถาบันที่โดยธรรมชาติไม่เท่ากับคนธรรมดา ดำรงอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตย (ทุกคนเท่ากัน)” อย่างไร  ไม่ใช่หลักว่า “ทำให้เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” อย่างไร

การเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายร่วมกับคนธรรมดาก็คือหนทางหนึ่ง การเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นกษัตริย์โดยใช้โครงสร้างเดียวกับกฎหมายที่ใช้ กับคนธรรมดาดังเช่นร่างกฎหมายที่นิติราษฎร์เสนอก็คือหนทางหนึ่ง

แต่การจะบอกว่าหนทางไหนผิด หนทางไหนถูก สามารถบอกได้โดยใช้หลัก “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” ได้กระนั้นหรือ?

ถ้าจะบอกว่าใช้หลัก “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” มาเป็นตัวชี้วัด ถามว่า แล้วการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อของสมศักดิ์ เป็นการเสนอให้ “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” อย่างไร ในเมื่อสุดท้ายแล้วสาระของข้อเสนอก็คือยังคงมี “เจ้า” (ไม่ใช่คนธรรมดา) อยู่ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะ apply หลักให้เจ้าเท่ากับคนธรรมดาจริง ๆ ก็คือต้อง “ไม่มีเจ้า” นั่นก็เท่ากับเป็นการเสนอระบอบอื่นที่ไม่ใช่ constitutional monarchy แต่เสนอไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ในเมื่ออยู่ในสภาพที่เสนอไม่ได้แล้วจะเอาหลักนี้มาประเมินได้อย่างไร?

ภายใต้ระบอบ constitutional monarchy คุณจะวัดว่าแนวคิดหรือข้อเสนอใด เป็น หรือ ไม่เป็น ประชาธิปไตย คุณใช้หลัก “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” มาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ เพราะโดยสภาพของระบอบไม่อนุญาตให้หลักนี้ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น หลักที่ถูกต้องในการชี้วัดคือ “เจ้าจะอยู่กับคนธรรมดาได้อย่างไร” นี่คือคำถามที่แท้จริงของสถานการณ์ที่กำลังถูกบังคับ แต่สมศักดิ์ก็วิจารณ์ร่างแก้ไข 112 ของนิติราษฎร์โดยใช้หลัก “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา” มาตลอด โดยไม่ตระหนักเลยว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเสนอของตัวเอง ในกรณีข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สาระของข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ นั้น ถึงที่สุดยังคงเป็นการเสนอให้มี “สถานภาพที่ไม่เท่ากับคนธรรมดา” อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ให้ “เจ้าเท่ากับคนธรรมดา”  จริง ๆ (ไม่มีเจ้า)  เพราะเสนอไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่าตัวเองเสนอไม่ได้ รู้ว่ากรอบบังคับคืออะไร หลักไหนที่ไม่สามารถใช้ได้โดยตลอด แล้วทำไมจึงใช้หลักนั้นมาประเมินข้อเสนอของคนอื่น? (โดยยกเว้นตัวเอง)

ภายใต้การบังคับนี้ เราจะสามารถตัดสินได้ว่า ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์ เป็น หรือ ไม่เป็น รอยัลลิสต์ เช่นนั้นหรือ? ตราบใดที่กรอบเดียวที่เสนอได้คือ constitutional monarchy  และในเมื่อตัวกฎหมายที่เสนอนั้นก็มีดีกรีของความเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยไป กว่ากฎหมายที่มีอยู่ในประเทศที่ (ใช้กรอบเดียวกันและ) ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย คุณจะประเมินว่าร่างกฎหมายนี้เป็นการเสนอที่ผิดด้วยหลักอะไร?

วิวาทะเรื่อง “ยกเลิก” หรือ “แก้ไข” กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้มีสภาพที่ paradox เหมือนกับการพยายามเปิดล็อกประตูเพื่อเอากุญแจที่อยู่ในประตู กล่าวคือ เป็นการกระทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่หากกระทำสำเร็จแล้วจุดหมายนั้นก็จะกลายเป็น สิ่งที่ไร้ความหมายโดยทันที หากว่าสามารถ “เปิด” ประตูได้ การได้มาซึ่ง “กุญแจ” ก็ไม่มีความหมาย ในขณะที่ระหว่างที่พยายามเปิดประตูเรากลับคิดถึง “กุญแจ” อยู่ตลอดเวลา สังเกตว่าในประเทศยุโรปที่มีกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ใน “มาตรฐานเดียวกับร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์” การ “ยกเลิก” กฎหมายฯ ไม่เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองที่จะส่งผลกับความเป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่ น้อย ในกรณีของไทย ความ paradox คือ ถ้าเมื่อไรที่สังคมสามารถแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ได้ นั่นก็เท่ากับสังคมนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าปัจจุบัน (มาก) และอาจจะมากถึงจุดที่ว่า การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป ขณะเดียวกันในสภาพปัจจุบันที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ทำให้การแก้ไขหรือยก เลิกกฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง (ยิ่งไม่สามารถเปิดประตูกุญแจก็ยิ่งสำคัญ) หากเราเข้าใจสภาวะที่ paradox นี้ ก็จะเห็นว่า การโต้เถียงกันเรื่อง “ยกเลิก” หรือ “แก้ไข” กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เป็นสิ่งที่สูญเปล่า และไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสถานการณ์ เพราะประเด็นสำคัญคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะได้มาก่อนหรือหลังการ “แก้ไข” หรือ “ยกเลิก” กฎหมาย (ประเด็นคือ ความสามารถที่จะเปิดประตู ไม่ใช่การได้กุญแจ)

คำถามที่ผมอยากจะถามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ ประเด็นของการถกเถียงเรื่อง “ยกเลิก” หรือ “แก้ไข” กฎหมายอาญามาตรา 112 ในสภาพแบบนี้ สภาพที่ถูกบังคับให้เสนอได้เพียงกรอบเดียว และสภาพที่มีความเป็น paradox นี้ คืออะไร จะเถียงกันเพื่ออะไร?

  
จากบทความเดิมชื่อ: ถามสมศักดิ์ เจียมฯ: ภายใต้สภาพบังคับของระบอบ constitutional monarchy  และความ paradox ของสถานการณ์กฎหมายอาญามาตรา 112 จะเถียงกันเรื่อง “ยกเลิก” หรือ “แก้ไข” เพื่ออะไร?

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46209

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น