หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

มติชนวิเคราะห์...เมษาฯฮอต ฮอต ศึก"ใน"-ศึก"นอก" ท้าพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

มติชนวิเคราะห์...เมษาฯฮอต ฮอต ศึก"ใน"-ศึก"นอก" ท้าพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

 



การเมืองเดือนเมษายนที่ว่าร้อนและฮอตมีด้วยกัน 2 เรื่อง

เรื่อง แรก เป็นการขึ้นให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน ในคดีที่กัมพูชาเสนอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2505 อีกครั้ง

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากวันที่ 10 เมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม

ใน ประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีนั้น กระทรวงการต่างประเทศไทยในวันนี้ตั้งตัวติด และตั้งทีมขึ้นมาต่อสู้ด้วยข้อกฎหมาย โดยยึดคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี พ.ศ.2505 เป็นหลัก

โดยเฉพาะคำพิพากษาที่ระบุว่า เรื่องเขตแดนนั้นศาลโลกไม่ขอพิจารณา

อย่าง ไรก็ตาม การเมืองในกรณีดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่คดีความ หากแต่เป็นผลพวงจากการยื่นตีความและการต่อสู้คดี โดยเป็นการเมืองภายในประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มความคิดชาตินิยมออกมาเรียกร้องมิให้รับคำสั่งศาลโลก ควบคู่ไปกับการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เคยมีเรื่องวิวาทกันมาถึงขั้นเกิดการถล่มใส่กันมาแล้ว

สำหรับการ เมืองระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เมื่อประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาดีขึ้น สัญญาณที่ดีบ่งชี้เป็นลำดับจนกระทั่งมีการพระราชทานอภัยโทษ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจำคุกในกัมพูชา


ขณะที่การเมืองภายในประเทศนั้น รัฐบาลและหน่วยงานอย่างกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ตำรวจ ยังกังวล โดยการเฉพาะการปลุกระดมมิให้รับคำสั่งศาลโลก เพราะหากกระแสคัดค้านคำสั่งศาลโลกปลุกขึ้น ย่อมทำให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับมวลชนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เนื่อง จากการตีความคดีพระวิหารนี้ เป็นคดีที่ไทยต้องต่อสู้คดี เนื่องจากเป็นคดีที่มีคำพิพากษาเดิมอยู่แล้ว หากไทยไม่สู้คดีก็เท่ากับปล่อยให้ถูกตีกินไปเปล่าๆ

และเมื่อไทยต่อสู้คดีแล้วก็ต้องรับฟังคำสั่งของศาลโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

อย่า ว่าแต่รัฐบาลในยุคปัจจุบันที่ต้องพึ่งพิงโลก และมาจากการเลือกตั้งเลย แม้แต่รัฐบาลในอดีต อย่างรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังต้องรับคำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ.2505

ดังนั้น เมื่อศาลโลกรับฟังคำให้การของไทยและกัมพูชาในเดือนเมษายนแล้ว คาดว่าจะมีการตัดสินคดีในเดือนตุลาคมนี้ การยอมรับคำสั่งศาลโลกจึงเป็นสิ่งที่มิอาจเลี่ยง หากยังคิดจะยืนเป็นสมาชิกหนึ่งในโลก

รัฐบาลและหน่วยงานทั้งหมดจึง ต้องบริหาร "การเมือง" ภายในให้อยู่ และเผื่อแผนสำหรับการบริหาร "การเมือง" ระหว่างไทยกับกัมพูชาไว้ด้วย ในกรณีที่ผลการตัดสินคดีเป็นคุณแก่ฝ่ายไทย

ทั้งนี้ การเมืองจากปัญหาปราสาทพระวิหารจะเป็นเช่นไร ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวหลังวันที่ 19 เมษายน

แต่การเมืองเรื่องปรองดองและนิรโทษกรรมนั้น ดูท่าจะแรงขึ้นหลังสงกรานต์ผ่านไป

ทั้ง นี้ จับปรากฏการณ์ได้จากเมื่อวันที่ 10 เมษายน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเนืองแน่น

ตอกย้ำเหตุการณ์วันแรกที่รัฐบาลเมื่อปี 2553 ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้า "ขอคืนพื้นที่" จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายทหาร กับ ฝ่ายประชาชน

ผลจากการสูญเสียครั้งนั้น ทำให้เหตุการณ์มิอาจยุติ ทุกอย่างดำเนินไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง

มีการเผา มีคนเจ็บ และมีคนตาย

ต่อมามีคนอีกจำนวนหนึ่งติดคุก !

วันนี้ คนเสื้อแดงจึงต้องการให้ญาติพี่น้องคนที่ตาย คนที่บาดเจ็บ-พิการ ได้รับการเยียวยา

วันนี้ คนเสื้อแดงต้องการให้คนที่ติดคุกจากเหตุความรุนแรงได้รับการนิรโทษกรรม

เพียง แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้ออกจากการคุมขังได้ ดังนั้น ภารกิจต่อไปที่รัฐบาลมิอาจเลี่ยงก็คือการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม

ค่ำ คืนวันที่ 10 เมษายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สไกป์ปราศรัยกับผู้ชุมนุม ระบุว่าภารกิจยังไม่จบ ยังมีสิ่งที่ต้องกระทำต่อไป คือ การนิรโทษกรรมให้กับเหยื่อจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรม ค้างอยู่ในกระบวนการรัฐสภา

ฝ่ายรัฐบาลถูกฝ่ายค้านสกัดกฎหมายนิรโทษกรรมเอาไว้

ทางหนึ่งถูกเบรกด้วยวิธีการ "เลื่อน" การพิจารณาออกไป อีกทางหนึ่งถูกระงับเพราะต้องรอคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ

เท่ากับว่าแนวรุกทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลถูกยับยั้ง

ขณะที่รัฐบาลยังต้องการ "มวลชน" สนับสนุน แต่รัฐบาลไม่สามารถปกป้อง "มวลชน" ที่สนับสนุนตัวเองได้

หลังจากครบรอบ 3 ปี 10 เมษายน พรรคเพื่อไทยจึงต้องทบทวนยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางการเมือง

ยุทธวิธีจะทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พลิกจากฝ่ายรับทางการเมืองมาเป็นฝ่ายรุก

และเมื่อรัฐบาลเริ่มรุก ฝ่ายตรงข้ามก็จะเริ่มต้านด้วยมาตรการที่แรงขึ้น และแรงขึ้น

เหตุการณ์ที่กำลังจะอุบัติจึงท้าพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาล

ฝีมือในการบริหารการเมือง...การเมืองภายใน และการเมืองระหว่างประเทศ


(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น