หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน

 

Photo 
อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล


“มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 

นายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้กลายมาเป็นข้อเสนอให้กับความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในการเคลื่อนไหวของ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งนี้ข้อเสนอเรื่องมาตรา 7 ได้เคยปรากฏขึ้นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2549 โดยในครั้งนั้นได้มีการเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทานขึ้นในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้มี “นายกฯ พระราชทาน” ได้มีคำอธิบายว่าเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะกระทำได้ โดยการอ้างอิงถึงการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกตำแหน่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งนายสัญญา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งในภายหลังได้มีการเรียกขานกันทั่วไปว่านายสัญญาเป็น “นายกฯ พระราชทาน”

อย่างไรก็ตาม มีลักษณะสำคัญบางประการในแง่มุมทางรัฐธรรมนูญซึ่งจำเป็นต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้

ประการแรก การ แต่งตั้งนายสัญญา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นไปภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (ธรรมนูญการปกครอง 2515) มิได้เป็นการใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 (ซึ่งอยู่ในมาตรา 22 ของธรรมนูญการปกครอง 2515 แต่บทบัญญัติมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ซึ่งในการแต่งตั้งนายสัญญา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการอันเป็น ไปตามบทบัญญัติของธรรมนูญการปกครอง

ความสำคัญของการกระทำในลักษณะดัง กล่าว แสดงให้เห็นถึงการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ได้ดำเนินไปภายใต้บท บัญญัติที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ซึ่งสะท้อนลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มิใช่ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ประการที่สอง การ แต่งตั้งนายกฯ พระราชทานนั้น บังเกิดขึ้นภายหลังจากที่จอมพลถนอม ได้ลาออกตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นห้วงเวลาที่บังเกิด “สุญญากาศนายกรัฐมนตรี” แต่ไม่เกิด “สุญญากาศรัฐธรรมนูญ” ขณะที่การเรียกร้องนายกฯ พระราชทานในปัจจุบันเป็นการเคลื่อนไหวในขณะที่ยังคงมีนายกรัฐมนตรีดำรง ตำแหน่งอยู่ และเป็นผู้ที่มาจากชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญ หากพิจารณาในแง่นี้การเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน ก็มีความหมายเท่ากับการดึงเอาสถาบันให้ลงมาเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตรง ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับการจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบ รัฐสภาซึ่งจะจัดวางให้สถาบันอยู่พ้นไปจากการเมือง หรือที่ถูกอธิบายกันว่า “The King can do no wrong” อันจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ ในทางการเมือง

ประการที่สาม กรณีที่จะบังคับใช้ มาตรา 7 นั้น ต้องปรากฏว่าต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะนำมาบังคับใช้ เสียก่อน แต่สำหรับความขัดแย้งที่บังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นกรณีที่มีบทบัญญัติ บังคับใช้อย่างชัดเจน เช่น หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาหรือลาออก ก็มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนและกระบวนการต่อไปอย่างชัดเจนว่าแต่ ละบุคคลและองค์กรมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้การจะใช้มาตรา 7 ก็ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากมีการกระทำใดๆ เข้ามาขัดขวางการดำเนินของบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยตรง

ประการที่สี่ การให้ความหมายของนายกฯ พระราชทานว่ามีสถานะเป็น”ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรืออีกนัยหนึ่งมีความหมายถึง “รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี” อาจเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากเท่าใด เพราะโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงจารีตประเพณีก็ย่อมมีความหมายถึงการกระทำ บางอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ และเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามกันมาอย่างกว้างขวางโดยดุษฎีว่ามันเป็นสิ่ง ที่ต้องเป็น โดยปราศจากข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยอย่างรุนแรงในสังคม ซึ่งสำหรับกรณีของนายกฯ พระราชทานนั้น จะพบว่าเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่การเปลี่ยน แปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา หากปรากฏการณ์เพียงครั้งเดียวจะถูกนับเป็นประเพณีการปกครองได้ก็ย่อมนับเป็น เรื่องที่ประหลาดพิสดารเป็นอย่างมาก

การเคลื่อนไหวในทางการเมืองบน ฐานของแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่ปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขพื้นฐานของของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเคารพในกติกาพื้นฐานของ สังคม หากเห็นว่ากติกาพื้นฐานดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ก็ควรจะต้อง ผลักดันให้เกิดการปรับแก้โดยการใช้เหตุผลและกระบวนการที่ดำรงอยู่

ความ พยายามจะตีความรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบ “ชั่วข้ามคืน” ภายใต้การนำของคนดีก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ชัดเจนว่าจะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร ล้วนแต่จะบ่อนทำลายให้สังคมไทยกำลังเดินไปสู่การขาดหลักการพื้นฐานร่วมกัน  

  
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น