หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

ปฏิวัติประชาชน

ปฏิวัติประชาชน


 
โดย  อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์


สภาประชาชนของ กปปส.ถูกอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมียกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติของประชาชนไปแล้ว

คำว่า "ประชาชน" นี้น่าสนใจเป็นพิเศษ และควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน "ประชาชน" เป็นนามธรรม หมายถึงองค์รวมของคนทั้งหมดในชาติ ไม่ใช่คน 65 ล้านคนรวมกัน ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนๆ ได้ และอาจตรวจวัดว่าแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรได้

ดังนั้น "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมจึงไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถยึดกุม "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ แล้วอ้างเอาเจตจำนงทางการเมืองของตนไปเป็นเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่อยู่ในหมอกควันนี้เท่านั้น

วิธีในการยึดกุมหมอกควัน "ประชาชน" นี้ ทำได้หลายอย่าง อาจารย์ธีรยุทธยกกรณีที่ประมุขแห่งรัฐให้การรับรอง ซึ่งก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองทัพอ้าง "ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน" เข้าไปยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารในนามของ "ประชาชน" ที่เป็นแค่หมอกควัน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนไทยคุ้นเคย

แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมาก เช่นตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ทำสงคราม "ประชาชน" จนได้ชัยชนะแล้วก็สถาปนาระบอบปกครองของตนเองขึ้น ตามเจตจำนงของหมอกควัน "ประชาชน"

บางคนยังสามารถทำให้การอ้างของตนน่าเชื่อถือกว่านั้นอีก เช่น ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของตนราบคาบไปแล้ว หรือนโปเลียนจัดให้ลงประชามติหลอกๆ ว่า "ประชาชน" ในหมอกควันมีเจตจำนงที่จะให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ

แม้ว่า "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมเป็นเพียงหมอกควันที่ไม่มีใครจับต้องได้ แต่คำนี้กลับมีพลังไพศาล เพราะมันเกิดความชอบธรรมใหม่สำหรับอำนาจทางการเมือง ที่ทำลายล้างความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองแบบเก่าไปหมด นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ก็ถูกนักการเมืองแย่งยื้อกัน เพื่อแปรเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ในหมู่คนทั่วไป พลังของคำนี้อยู่ที่ตัวเขาเองถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเป็นครั้งแรก ฉะนั้นแม้เป็นหมอกควัน แต่ก็เป็นความมัวซัวที่มีตัวเขาอยู่อย่างเด่นชัดในนั้น ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ โดยแบ่งแยกคนจำนวนมากให้กลายเป็นคนนอก เพราะมีการศึกษาต่ำ ถูกซื้อเสียง หรือยากจน (sans-culottes-ไร้สมบัติ) คาถา "ประชาชน "ของเขาจึงไร้มนตร์ขลัง ที่จะปลุกคนส่วนใหญ่ให้ลุกขึ้นมาร่วม "ปฏิวัติ" ด้วย

ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายเป็นนามธรรม เราใช้คำว่า "ราษฎร" มาก่อน และนั่นคือที่มาของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เพื่อประกาศว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ข้าราษฎร" และคำนี้หมายรวมถึงทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ที่เกิดการ "ปฏิวัติประชาชน" ตามมาอีกมากมาย อันที่จริง แม้แต่ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คำนี้ก็ถูกใช้มาแล้วในการปฏิวัติของอเมริกัน เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษถูกมองว่าเป็นสงคราม "ประกาศอิสรภาพ" มากกว่าการ "ปฏิวัติประชาชน" เท่านั้น สงครามกู้เอกราชของนักชาตินิยมซึ่งเริ่มในละตินอเมริกามาก่อนใคร ก็เป็น "ปฏิวัติประชาชน" เหมือนกัน เพราะนักชาตินิยมอ้างเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้เช่นกัน ลัทธิชาตินิยมขยายไปทั่วโลก นำไปสู่"ปฏิวัติประชาชน"ในทุกทวีปของโลกต่อมา

"ปฏิวัติประชาชน" จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ตรงกันข้าม เกิดขึ้นบ่อยทั่วทั้งโลก และ (เท่าที่ผมนึกออก) การ "ปฏิวัติประชาชน" ทุกครั้ง หากทำสำเร็จก็มักจบลงที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สามารถยึดกุมอำนาจไว้เหนือผู้คนทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นหมอกควัน

แม้แต่การปฏิวัติอเมริกัน ก็มีคนอเมริกันอีกมากในช่วงนั้นที่ไม่ต้องการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน เฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ผลักดันให้แยกตัวจากอังกฤษ ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นใคร มีการตีความของนักประวัติศาสตร์ไว้หลายอย่าง นับตั้งแต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ ไปจนถึงพ่อค้าในเมืองใหญ่ และพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ "ปฏิวัติประชาชน" ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นรัสเซีย, จีน, ละตินอเมริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างหมอกควัน "ประชาชน" เข้ามายึดกุมอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง เพื่อชนชั้นของตน, ตระกูลของตน, หรือพรรคของตน

มีตลกอเมริกันที่เล่ากันว่า มัคคุเทศก์ซึ่งนำคณะทัวร์เที่ยวมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่า บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่มหานครนิวยอร์กแล้ว ระวังกระเป๋าสตางค์ของท่านให้ดี ผมจึงอยากสรุปอย่างเดียวกันว่า เมื่อไรได้ยินใครอ้างถึง "ประชาชน" ในความหมายนามธรรม จงระวังสิทธิเสรีภาพของท่านให้ดี

"ประชาชน" ในความหมายหมอกควันเช่นนี้มีใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ในความหมายตามหลักการบางกรณี เช่นในการฟ้องร้องคดีอาญาของสหรัฐ โจทก์จะเป็น"ประชาชน"เสมอ เป็นคดีระหว่าง"ประชาชน"กับนาย ก. นาย ข. เพราะความผิดทางอาญา คือการล่วงละเมิดต่อ "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ ในอังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ใช้คำว่า The Crown แทน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่หมายถึงสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

"ประชาชน" ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นนี้ หากเป็นกรณีประเทศไทย ก็ต้องหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากหมายถึงอธิปไตยของปวงชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทรงใช้ผ่านสภาเทือกตั้งได้

ส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ที่ใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของรถติดในกรุงเทพฯ

เพราะเป็นรูปธรรม จึงอาจนับหัวได้ แม้ว่าอาจนับยาก แต่ก็นับได้หากอยากนับ ระบอบเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนหัวของคน ซึ่งนับได้ กิจการสาธารณะใดๆ ย่อมตัดสินใจกันที่จำนวนของหัว เสียงข้างมากจึงมีความสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างเสรีและอิสระจึงเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบอบปกครองนี้

เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่มีคุณภาพที่สุด ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เราย่อมเห็นผิดได้เสมอ รวมทั้งเห็นผิดพร้อมกันจำนวนมากๆ จนกลายเป็นเสียงข้างมากก็ได้ เสรีประชาธิปไตยจึงต้องเป็นระบบที่เปิดให้เสียงข้างน้อย ได้แสดงออกอย่างอิสระเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและประเพณี เพื่อจะได้ขี้แจงแสดงเหตุผล จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่หลงผิด คิดใหม่และตัดสินใจใหม่จากข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า
เสียงข้างน้อยของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เคยทำอย่างนี้สำเร็จมาไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว แต่ที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ต้องมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความอดทนที่จะชี้แจงแสดงเหตุผล ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของนโยบายที่แตกต่างกัน

เสียงข้างน้อยที่ปราศจากความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จะไม่มีความอดทนเช่นนี้ หันไปใช้การขว้างเก้าอี้และเข้าของในสภา หรือลาออกจากสมาชิกภาพ หรือบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า ถึงพูดไปคนส่วนใหญ่ซึ่งโง่เง่ากว่าพรรคพวกของตนก็ไม่มีวันเขัาใจ

การสงวนกระบวนการปฏิรูปไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ก็มาจากความไม่เคารพในศักยภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง เพราะกระบวนการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย คือการต่อรองกันของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่ควรมีคนกลุ่มใดมีอำนาจสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว

แต่เพราะต้องการยึดกุมอำนาจไว้กับกลุ่มของตนเพียงฝ่ายเดียวต่างหาก จึงเหยียดหยามดูถูก "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยกย่องสรรเสริญ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรม เพราะ "ประชาชน" ประเภทหลังนี้แหละที่คนกลุ่มนี้สามารถอ้างตนเองเป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ สามารถจัดการประโยชน์สาธารณะให้เข้ามือตนเองฝ่ายเดียวได้ง่าย การปฏิรูปของพวกเขา (ซึ่งถูกอาจารย์ธีรยุทธยกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติไปแล้ว) โดยเนื้อแท้แล้วคือการปล้นกันกลางวันแสกๆ นี่เอง


(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น