หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

คำพิพากษาที่ไม่เห็นคนเป็นคน ผลคือสงครามกลางเมือง

คำพิพากษาที่ไม่เห็นคนเป็นคน ผลคือสงครามกลางเมือง



โดย Dred Scott v. Sandford


คดี Dred Scott v. Sandford, 60 U.S. 393 (1857) เป็นคดีที่ถือได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดร็ด สก็อต ทาสผิวดำชาวเวอร์จิเนีย ได้เดินทางร่วมกับศัลยแพทย์จอห์น เอเมอร์สันไปยังรัฐอิลลินอยส์ และต่อมายังวิสคอนซิน ซึ่งเป็นรัฐที่ห้ามมีทาสตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐและสนธิสัญญาระหว่างรัฐ

ต่อมา เดร็ด สก็อต ได้แต่งงานกับแฮเรียต โรบินสัน ซึ่งเป็นทาสที่นพ.เอเมอร์สันซื้อมาขณะปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน ทั้งคู่มีลูกซึ่งตามกฎหมายมลรัฐต้องเป็นอิสรชน แต่ครอบครัวเอเมอร์สันรวมถึงภริยา ปฏิเสธจะไถ่อิสรภาพของครอบครัวสก็อตให้เป็นไท รวมถึงการกระทำของ นพ.เอเมอร์สันได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ กฎบัตร และสนธิสัญญาหลายฉบับที่ห้ามมีทาสในรัฐเขตเหนือ

เดร็ด สก็อต จึงฟ้องต่อคุณนายเอลิซ่า แซนด์ฟอร์ด ภริยาของ นพ.เอเมอร์สัน ภายหลังนพ.เอเมอร์สันตายที่ไอโอวา เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของพวกเขา

คดีนี้สู้กันยาว จนเรื่องส่งไปถึงศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคุณนายแซนด์ฟอร์ดเป็นประชากรรัฐนิวยอร์ค จึงเกิดปัญหากฎหมายขัดกันของมลรัฐ

ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐวินิจฉัยด้วยมติ 7-2 เสียงว่า ทาสไม่มีสิทธิเป็นพลเมือง จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องในศาล

ในคำวินิจฉัยของศาลยังให้ความเห็นต่อว่า หากทาสมีสิทธิเป็นพลเมืองแล้ว ชนเผ่านิโกรย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง การประกอบอาชีพ ไปจนถึงการถือครองอาวุธ จึงเป็นอันตราย จะให้มีสิทธิไม่ได้

ในคำวินิจฉัย สะกดชื่อคุณนายแซนด์ฟอร์ดผิดด้วยความเร่งรีบทำคำวินิจฉัย ภายใต้การกดดันของประธานาธิบดี เจมส์ บูคานัน ที่ต้องการให้ปัญหาทาสจบลงเร็วที่สุด เพื่อผลทางการเมืองของตน

คำวินิจฉัยดังกล่าวยังล่วงละเมิดอำนาจของรัฐสภาคองเกรสตามรัฐบัญญัติปรองดองแห่งมิสซูรี (Missouri Compromise Act) ที่ห้ามการมีทาสในรัฐตอนเหนืออีกด้วย โดยการประกาศว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ

:: ผลกระทบของคำวินิจฉัยนี้ ::

สถาบันศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งละเมิดสิทธิ ความเป็นคน และละเมิดอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา ละเมิดรัฐธรรมนูญของมลรัฐ สื่อมวลชนและนักวิชาการไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้อย่างกว้างขวาง ประชาชนถึงขั้นไม่เชื่อถือในความยุติธรรม และสุดท้าย เมื่อความยุติธรรมหาไม่ได้จากระบบตุลาการอันควรเป็นที่พึ่งสุดท้าย สหรัฐอเมริกาก็ก้าวสู่สงครามกลางเมือง

ทหารและพลเรือนทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เสียชีวิตราวหกแสนคน

เดร็ด สก็อต เจ้าของคดี หลังจากแพ้คดีก็ต้องกลับไปเป็นทาส และตายด้วยวัณโรค ใน 17 เดือนต่อมาก่อนจะได้เห็นสหรัฐอเมริกาในสงครามกลางเมืองและการเลิกทาส

ส่วนตุลาการคนเขียนคำวินิจฉัย ประธานศาลสูงสุด ผู้พิพากษาโรเจอร์บี ทานีย์ ก็ถึงแก่อนิจกรรมอย่างยากจนและอดอยากเพราะที่ดินถูกภัยสงครามเผาผลาญและยึดครองในวัย 84 ปี วันเดียวกับที่รัฐแมรีแลนด์บ้านเกิดของเขา ประกาศปลดปล่อยทาส

คำวินิจฉัยนี้เป็นบทเรียนและนำมาสู่การปฏิรูประบอบตุลาการในภายหลัง และในที่สุดคำวินิจฉัยนี้ก็ถูกลบล้างไป ด้วยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 14 และ 15 หลังสงครามกลางเมือง


ธีรภัทร เจริญสุข
-----------------------
สนใจอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์หอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา http://www.loc.gov/rr/program/bib/ourdocs/DredScott.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น