"ดร.พวงทอง" วิเคราะห์เส้นทางของ "กำนันสุเทพ" หลังโดนหมายจับคดีที่ 3 จากศาลอาญา
อาจารย์พวงทอง แสดงทัศนะในฐานะนักวิชาการ และ ศปช. โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ในช่วงปี 2553 ของการชุมนุมคนเสื้อแดง และจากสถานการณ์ในปัจจุบันว่า หากมองในส่วนของคดีความ ปี 2553 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายสุเทพ ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายและมีความพยายามปฏิบัติตัวเหนือกฎหมาย โดยอ้างว่ารัฐบาล ไม่เคารพกฎหมายและยกตัวอย่างการปฏิเสธคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมาอ้างโดยตลอด ขณะที่นายสุเทพเอง ก็ไม่ไปรายงานตัวต่อศาลจนยืดเยื้อมาสู่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
หากมองในมุมของ เหตุการณ์เมื่อปี 2553 นายสุเทพ ก็จะได้รับประกันตัวออกมาอย่างแน่นอนเหมือนกับกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้รับการประกันตัวออกไป แต่หากมองในมุมของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ศาลอาญาออกหมายจับนายสุเทพ ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 3 แล้ว เชื่อว่าครั้งนี้ นายสุเทพ จะกลัวและไม่ไปรายงานตัวอย่างแน่นอน หรือจนกว่าจะชนะทางการเมืองและพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายต่างๆ เนื่องจากว่าขณะนี้มีคดีจากการชุมนุมกลุ่ม กปปส. รวมด้วย และมีโทษรุนแรงคงจะทำตัวเหนือกฎหมายเหมือนทุกครั้ง รวมถึงรัฐบาลก็จะไม่สามารถจับตัวนายสุเทพได้
และนี่ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 ทำให้อาจารย์พวงทองเชื่อว่า ผู้สูญเสียทุกคน ต้องการให้นายสุเทพ ได้รับโทษนั่นคือ จำคุก
เมื่อถามว่าการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กับ กลุ่ม กปปส. มีความแตกต่างกันอย่างไร อาจารย์พวงทองกล่าวว่า สมัยปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ใช้กำลังทหารกับผู้ชุมนุมมากถึง 60,000 นาย มีการเบิกกระสุน 1 แสนกว่านัด กระสุนสไนเปอร์กว่า 2,000 นัด โดยทั้งหมดนี้สามารถดูได้จากรายงานของ ศปช.ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการปราบปรามกระบวนการคนเสื้อแดง ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. รัฐบาลมีความพยายามในการเจรจาหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล ซ้ำยังมีการใช้ความรุนแรง มีบุคคลแอบแฝงในการใช้อาวุธกระทำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการสูญเสีย ไม่ว่าจะที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น ที่ถนนราชดำริ บริเวณสะพานผ่านฟ้า หรือแยกหลักสี่
นอกจากนี้อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่าไม่เคยเชื่อคำพูดของนายสุเทพ ว่าจะไม่กลับมา รับตำแหน่งทางการเมือง เพราะนายสุเทพ เป็นคนมีอำนาจหากไม่เล่นการเมืองเบื้องหน้าก็ชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์เกรงใจนายสุเทพ โดยจะเห็นได้ว่า ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์เองยังต้องไปแวะเวียนไปเวทีของ กปปส. อยู่เรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่านายสุเทพยังมีอำนาจและคนในพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความเกรงใจนายสุเทพอยู่มาก
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มกปปส.มองว่ามีการลดระดับการชุมนุมลงมามากเพราะอาจไปต่อไม่ไหว เงินทุนไม่เพียงพอ ผู้สนับสนุนถอนตัว หรือไม่ว่าจะเป็นผลกระทบภาคธุรกิจที่ไม่สามารถแบกรับได้ โดยกลุ่มมวลชนก็มีจำนวนลดลง มีความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การชุมนุมอ่อนแอลง ทำให้ตอนนี้ความหวังของกลุ่ม กปปส. ขณะนี้มุ่งไปที่องค์กรอิสระ และเชื่อว่าความขัดแย้งในการเมืองไทยก็ยังจะไม่หมดไป
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1394030065&grpid=00&catid=02&subcatid=0200
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น