คุยกับ "สาวตรี สุขศรี" อาจารย์สอนกฎหมายอาญา ถามชัดๆ ป้าย "แบ่งแยกประเทศ" ผิดหรือไม่ผิด ?
อาจารย์สาวตรี สุขศรี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มติชนออนไลน์ จับเข่าคุยกับ อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายอาญา ขอความเห็นเรื่องดังกล่าว ฟันธงกันชัดๆ
เมื่อถามประเด็นทางกฏหมายเรื่องนี้ไป ว่าทหารจะฟ้องด้วย มาตรา 113 และ 114 ประมวลกฏหมายอาญา อาจารย์สาวตรี แบ่งการอธิบายเป็นทีละประเด็น
โดยในส่วนมาตรา 113 นั้น อาจารย์ฟันธงว่าไม่ผิด เพราะ มาตรา 113 ว่าด้วยเรื่อง การใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขู่ว่าจะประทุษร้ายโดยใช้กำลัง อาทิเช่น ขู่ว่าจะใช้ระเบิด ใช้ปืนสู้ เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร โดยจากกรณีข่าวที่เกิดขึ้น จึงตอบได้ทันทีเลยว่าไม่ผิดแน่นอน ฟันธง!
ส่วนในมาตรา 114 อันนี้น่าคิด เพราะว่าเป็นเรื่องที่ว่าด้วยเรื่อง ผู้ใดสะสมอาวุธ หรือกำลังพล หรือตระเตรียมการอื่นใดเพื่อเป็นกบฏ หรือมีการยุยงราษฏรให้เป็นกบฏ ซึ่งมีโทษจำคุกเท่ากับกฏหมายอาญามาตรา 112 คือ 3 - 15 ปี
ซึ่งในข้อนี้ อาจารย์สาวตรีเห็นว่า กฏหมายเปิดให้ตีความได้กว้าง เพราะการยุยงก็อาจเข้าข่ายเป็นกบฏได้ ดังนั้น ศาลอาจเห็นว่า ป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อแสดงออกทางการเมืองดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการยุยงราษฏรให้เป็นกบฏก็เป็นได้
อาจารย์สาวตรีอธิบายเพิ่มเติมเชื่อว่าดุลพินิจของศาสสามารถตีความไปถึงได้ โดยต้องมีการพิจารณาดูข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งการที่จะฟ้องร้องกันในเรื่องนี้นั้น จะต้องมีพยานหลักฐาน มีการสืบค้นรวบรวมข้อมูลที่หนักเเน่น เพราะเป็นข้อหาร้ายแรง
ทั้งนี้โดยในส่วนข้อกล่าวหาการเป็นกบฏนั้น จะต้องมีการสะสมกองกำลังอาวุธ มีการฝึกซ้อมมีแบบแผนชัดเจน จึงจะเข้าข่ายสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พิจารณา ป้ายทีละป้าย อาจารย์สาวตรี เเจกแจงให้ฟังดังนี้...
ป้ายของโกตี๋ มีข้อความว่า "อยู่กันด้วยความสามัคคีไม่ได้...ก็แบ่งแยกกันอยู่..." และตัวหนังสือสีขาวด้านล่าง ข้อความ “มึงกับกู...แยกแผ่นดินกันเลย.." โดยในป้ายไวนิลยังลงชื่อ "โกตี๋ เรดการ์ด" และรูปถ่ายนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี อยู่บนป้ายด้วย
อาจารย์สาวตรี แสดงความเห็นส่วนตัวว่า จากข้อความดังกล่าว ถ้อยคำของโกตี๋อาจเข้าข่ายมีถ้อยคำที่รุนแรงอยู่บ้าง และศาลอาจตีความได้ว่าเข้าข่าย ม.114 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์ประกอบเรื่อง "ยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ" ศาลอาจตีความไปได้อยู่เหมือนกันว่าแบบนี้ ไม่ใช่แค่ตัดพ้อแล้ว
อาจารย์สาวตรีเห็นว่า แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะท้ายที่สุด ดุลพินิจในการตัดสินว่าผิด หรือไม่ผิด ก็เป็นเรื่องของศาล ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน หลายกรณีก็ปรากฏให้เห็นได้เรื่อยๆ ว่าดุลพินิจของศาลก็สร้างมาตรฐานอันน่าประหลาดใจในสังคมหลายครั้ง
เมื่อพิจารณากันจริงๆจะเห็นว่ามันมีเเค่ป้ายหรืออาจจะมีความคิดเช่นนั้นจริงก็ตามโดยส่วนตัว อาจารย์สาวตรี เห็นว่ายังไม่เข้าข่ายความผิดฐานเป็นกบฏ
ทั้งนี้ในทางสากล การจะบอกว่าใครเป็นกบฏหรือไม่ ดูได้ง่ายนิดเดียว ก็คือดูว่าเขามีการสะสมกองกำลัง มีการยุยงกันชัดเจน มีการจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อที่จะเเยกดินแดนกันหรือไม่
"เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันส่วนตัวมองว่ามันมีสาเหตุมาจากการตัดพ้อ ประชดประชันทางการเมือง เท่านั้น" ...อาจารย์สาวตรีระบุ
อย่างไรก็ตาม อาจารย์สาวตรีเตือนว่า โทษจากข้อกฏหมายดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง ร้ายกว่านั้น...ยังมีกฏหมายข้ออื่น นอกเหนือจากมาตรา 113 - 114 อีกหลายมาตราด้วย เช่นมาตรา 116 (2) และ (3) ว่าด้วยเรื่อง การทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นกับ ดุลยพินิจของศาล ซึ่งก็ต้องบอกว่าสามารตีความเข้าข่ายได้
เมื่อถามไปถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายที่มีข้อความว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา " และ "อยู่ใต้อำนาจสุเทพ กูขอแยกประเทศดีกว่า" จนนำมาสู่การเตรียมฟ้องร้อง สปป.ล้านนาว่าเข้าข่ายผิดทางกฏหมายหรือไม่อย่างไรนั้น
อาจารย์สาวตรีตอบสวนกลับมาทันที ว่า ถ้ามันผิด มันเป็นอะไรที่ตลกมาก ! โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า สปป.ล้านนา มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อตั้ง ไม่มีปัญหาอะไรเลย เป็นเพียงการปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมา
ส่วน ถ้อยคำในป้ายดังกล่าวนั้น อาจารย์สาวตรีอธิบายเพิ่มอีกว่า มันเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะถ้ามันผิดจริงๆ มันจะตลกมาก โดยการจะวินิจฉัยความผิดใดๆ ในทางอาญานั้น ต้องดูที่วัตถุประสงค์ และดูที่เจตนาด้วย ซึ่งในหลายกรณีมันเข้าใจได้ด้วยสถานการณ์ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันมาว่าออก ไปในแนวประชดประชันการประชดประชันเป็นเหตุผลที่อธิบายโดยมีเบื้องหลังหรือ เหตุคือความอัดอั้นตันใจ
ทั้งนี้ อาจารย์สาวตรีมองว่า มันเป็นเรื่องของเสรีภาพ ซึ่งก็ต้องดูเหตุผลเบื้องหลัง !
เมื่อให้อาจารย์สาวตรีประเมินสถานการณ์การใช้กฏหมายในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรนั้น?
อาจารย์สาวตรีประเมินว่า"การใช้กฏหมายโจมตีกันในประเด็นที่ยึดโยงมาจากสถานการณ์ทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่อันตราย หมายความว่า มันก็จะเกิดการกล่าวหากันไปมา จนกลไกกฏหมาย การเมือง สังคมของประเทศ ไม่สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งมองดูแล้ว สถานการณ์ไม่น่าจะสงบ"
ส่วนเรื่องความคิดนั้น เมื่อถามว่าโดยหลักวิชากฏหมาย ถ้าคนเราคิดเรื่องการแบ่งเเยกดินแดนนี่ผิดไหม? เพราะปัจจุบันอ้างกันมากกว่าแค่คิดก็ผิด!
อาจารย์สาวตรี ยืนยันว่า ความผิดทางอาญานั้น ถ้าทำอะไรแล้วไม่เข้าองค์ประกอบ ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะการเอาผิดจะต้องมีการแสดงออกมาแล้วเท่านั้น โดยหากมีความคิดแล้วแสดงออกภายใต้กรอบของกฏหมาย ก็สามารถทำได้ไม่ผิดกฏหมาย
นอกจากนี้ อาจารย์สาวตรียังได้แนะนำว่า ในเหตุการณ์ครั้งนี้ สปป.ล้านนารู้สึกไม่เป็นธรรม อาจฟ้องกลับผู้ที่กล่าวหา โดยใช้ประมวลกฏหมายอาญาด้วยข้อกล่าวหาแจ้งความเท็จกับ กองทัพบก ที่ได้ยื่นฟ้องทางกลุ่ม จนทำให้ทางกลุ่มได้รับความเดือดร้อน เมื่อถามว่าหากแกนนำ สปป.ล้านนา อ้างกรณีผู้บัญชาการทหารบกให้ข่าวรายวันเรื่องนี้ ว่าจะสามารถฟ้องได้หรือไม่ อาจารย์สาวตรี กล่าวยืนยันว่า สามารถฟ้องหมิ่นประมาทกับผู้บัญชาการทหารบกด้วยก็ได้ เพราะทำให้เกิดการเข้าใจผิด กับกลุ่ม สปป.ล้านนา
นอกจากนี้ เมื่อให้อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ ที่กองทัพลงมาเล่นเรื่องนี้โดยใช้กลไกของกฏหมาย ในสถานการณ์การเมืองขัดแย้งสองฝ่ายรุนแรง อาจารย์ สาวตรีเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีมาตรฐานและถือเป็นการทำอะไรตามใจพอสมควร การที่กองทัพกระทำการเช่นนี้
ถ้าจะประเมิน น่าจะเป็นเพราะทหารไม่สามารถใช้กลไกด้านความรุนแรงผ่านอำนาจรัฐของตนในการจัดการได้ จึงเลือกที่จะใช้กลไกทางกฏหมาย ที่มองดูแล้วจะเห็นลักษณะความรุนแรงที่ลดน้อยลง แต่ได้ผลในทางจิตวิทยา ซึ่งถ้าเป็นในอดีต ทหารสามารถใช้กำลังเข้าจัดการกับสถานการณ์ทางการเมืองได้
ทั้งนี้การที่ทหารลงมาเล่นในประเด็นดังกล่าวเองนั้นต้องกลับมาถามว่าป้ายดังกล่าวอยู่ดีๆก็เกิดขึ้นมาใช่หรือไม่ หรือว่ามีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง และอะไรที่เป็นชนวนเหตุในการกระทำการดังกล่าว เพราะการพยายามแยกประเทศ มันเป็นประเด็นทางการเมืองที่คาดหมายได้ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ นักวิชาการด้านกฏหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นี้ยังกล่าวในเชิงเตือนสติอีกว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนในความขัดเเย้งโดยตรงเช่นกองทัพ ควรกลับมาพิจารณาดูบทบาทของตน และทุกฝ่ายต้องพยายามอย่าโยงความผิดต่างๆ เป็นเรื่องกฎหมายอาญาตลอดเวลา เพราะถ้าฝ่ายที่ถูกกระทำพยายามลุกขึ้นยืนชี้แจงและเสนอปัญหาแล้ว แต่กลับถูกเล่นงานด้วยกลไกรัฐซ้ำๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่สามารถยอมรับกันได้ และสิ่งที่ไม่คาดคิดก็อาจจะเกิดขึ้นได้
"กลไกกฏหมายหากนำมาใช้ตอบโต้และต่อสู้ทางการเมืองมากๆ ทำให้คนเกิดความไม่เชื่อใจ และคนที่โดนกระทำอยู่มาก มันจะเกิดความเจ็บปวด".. อาจารย์ สาวตรีกล่าวทิ้งท้าย
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1394109201&grpid=01&catid=&subcatid
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น