สิทธิสตรี
ผู้รักความเป็นธรรมทุกคนต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ สตรีด้อยโอกาสกว่าชาย ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของหญิงมักต่ำกว่าชาย หญิงมักมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมน้อยกว่าชาย และสังคมมักจะมีค่านิยมที่ให้โอกาสกับชายมากกว่าหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นต้น สาเหตุมาจากอะไรและเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
ในการอธิบายปัญหาของสตรีและทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เราจะพบว่ามีสองสำนักความคิดหลักคือ
1. สำนักความคิด
สตรีนิยม หรือแฟมินิสต์ (Feminist)
2. สำนักความคิดแบบ ลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์
2. สำนักความคิดแบบ ลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์
สำนักความคิดสตรีนิยมจะเสนอว่าปัญหาของหญิงมาจากชาย ผู้ชายทุกคนรวมหัวกันกดขี่หญิง ชายทุกคนไม่ว่าจะกรรมาชีพหรือนายทุนได้ประโยชน์จากการกดขี่หญิง ดังนั้นชายเป็นผู้กำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคมที่เอาเปรียบผู้หญิง ชายบังคับให้หญิงอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบ้าน การตัดสินใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่” ฉะนั้นทางออกของแนวนี้คือผู้หญิงทุกชนชั้นจะต้องสร้างแนวร่วมต่อต้านผู้ชาย พวกนี้จึงเสนอว่าควรมี ส.ว. หรือ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ฝ่ายสตรีนิยมเสนอ ถ้าดูแบบผิวเผินอาจมีความจริง แต่เมื่อเราพิจารณาลึกกว่านั้นจะมีข้อบกพร่อง เช่น แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศเริ่มเมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษย์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าชายที่เป็นกรรมาชีพจะได้อะไรจากการที่เมียของเขากินค่าแรงต่ำ เป็นต้น
นักคิดแนวมาร์คซิสต์เช่น เองเกิลส์ อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศไม่มีในสมัยบรรพกาล แต่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสังคมชนชั้นเพราะมีชายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ใช้อาวุธที่เคยใช้ล่าสัตว์เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ในสังคม กดขี่หญิงและชายอื่นๆ และตั้งตัวเองเป็นผู้ขูดรีดผลผลิตส่วนเกินของสังคมโดยตนเองไม่ต้องทำงาน ชายกลุ่มนี้ต้องการควบคุมหญิงที่เป็นเมียตนเอง เพื่อเป็นแหล่งผลิตลูกหลานในการสืบทอดมรดกทรัพย์สิน
ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่สังคมมองว่า หญิงเสมือนเท้าหลังที่มีหน้าที่หลักคือการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน เพราะหญิงจะได้เป็นผู้ผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเพื่อป้อนเข้าโรงงาน โดยที่นายทุนไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นี่คือเงื่อนไขที่ผลิตซ้ำแนวคิด “ครอบครัวจารีต”
แต่ในขณะเดียวกันระบบทุนนิยมมีความขัดแย้งในตัวมันเอง เพราะนายทุนปัจจุบันต้องการขยายกิจการและจ้างงานเพิ่มตลอดเวลา จึงมีการดึงแรงงานหญิงเข้ามาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้หญิงเริ่มมีความอิสระและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมไทยและที่อื่น ค่าจ้างของชายหนึ่งคน ถูกนายทุนกดไว้เพื่อเพิ่มกำไร จึงย่อมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ ผู้หญิงจำนวนมากก็ออกไปทำงาน แต่รัฐและนายจ้างพยายามปฏิเสธการรับผิดชอบในการจัดสถานที่เลี้ยงเด็กฟรี โดยใช้แนวคิด “หญิงเป็นเท้าหลัง” และ “ครอบครัวจารีต” เพื่อแก้ตัว
นักมาร์คซิสต์เชื่อว่ากรรมาชีพหญิงไม่ควรจับมือกับรัฐมนตรีชนชั้นนายทุนที่เป็น“ท่านผู้หญิง” และไม่ควรเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. หญิงจากพวกนายทุน เพราะการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น ในระยะสั้นกรรมาชีพหญิงและชายต้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะสิทธิทำแท้ง เพราะการกดขี่หญิงสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน และไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพชาย แต่ในระยะยาวเราต้องต่อสู้ร่วมกันเพื่อล้มระบบกดขี่ชนชั้นของทุนนิยมและสร้างระบบสังคมนิยมแทน การกดขี่ทางเพศทุกรูปแบบจะได้หมดสิ้นไปสักที
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2014/03/blog-post_5.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น