หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ศาลเก็บศพ

ศาลเก็บศพ

 





อำนาจเก่าก๊กเล่าปี่เคลื่อนไหวกันคึกคักเหลือเกินระยะนี้ สอดประสานกับในสภาที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นทุกเม็ด กระทั่งอ้างว่าทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แอบไปเจรจากับพูโล (เอ๊ะ มันผิดตรงไหนหว่าที่พยายามจะเจรจาหาสันติภาพ หรืออยากให้ทักษิณอุ้มฆ่าอย่างเดียว)
 
เริ่มตั้งแต่ป๋าเปรมออกมา “ปลุกพระ” ให้พระสยามเทวาธิราชสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แล้วพรรณนาคุณสมบัติของคนดี 9 ประการ ซึ่งฟังไปฟังมาก็อย่างที่ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ โต้ว่า ป๋าเปรมไม่เคยพูดถึงคำว่า ประชาชน ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค มีแต่ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” “ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ
 
อันที่จริงอ่านดีๆ ป๋าเปรมก็พูดถึงประชาชนอยู่เหมือนกัน เช่น หาทางขจัดความยากจน ดำรงวัฒนธรรมไทย เป็นผู้ใหญ่ต้องดูแลเยาวชน แต่ล้วนเป็นทัศนะที่เห็นว่าประชาชนเป็นเด็กอมมือ หรือผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ หรือผู้ที่ถูกมอมเมาได้โดยง่าย ซึ่งต้องอยู่ในความอนุบาลของ “คนดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
 
นั่นคือความคิดของคนดีแบบอำมาตย์ที่ไม่ยอมให้ประชาชนปกครองตนเอง เอาความดีไปผูกไว้กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอันที่จริงก็เพิ่งจะมีสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้น ประเทศอยู่มาได้ ไม่มีพระสยามเทวาธิราชก็ไม่ยักเป็นไร (พระสยามเทวาธิราชคือสัญลักษณ์ปลุกราชาชาตินิยม ต่อต้านจักรวรรดินิยมในยุคนั้น เพราะ ร.4 สร้างขึ้นหลังถูกอังกฤษบังคับให้ทำสนธิสัญญาบาวริง)
 
นิยามคำว่าชาติของป๋าเปรม ผูกติดกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม อะไรคือ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” นี่เป็นวาทกรรมที่สวยงามแต่เลื่อนลอย บังคับให้เด็กท่องจำกันอยู่ได้ อะไรคือแผ่นดิน คนชั้นกลางระดับล่างอย่างผมมีที่ดินอยู่ 51 ตารางวา แท็กซี่ สามล้อ คนงาน บางคนอาจมีที่นาต่างจังหวัด แต่หลายคนไม่มีซักกระแบะมือ แล้วจะให้ตอบแทนบุญคุณใคร ใครเป็นเจ้าของที่ดินมากมายที่สุดในประเทศนี้ เจ้าสัวเจริญ เจ้าสัวซีพี เจ้าสัวกระทิงแดง ก็ตอบแทนกันไปสิ
 
คำว่าชาติของป๋าเปรมเลื่อนลอย เพราะไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น ชาติก็คือประชาชน 70 ล้านคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน คนทรยศชาติคือคนทรยศต่อผลประโยชน์ของประชาชน คนดีคือคนทีทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ลืมตาอ้าปาก ใช้สิทธิใช้เสียงปกป้องผลประโยชน์ของตน
 
ท่านน่าจะพูดให้ถูกว่าใครฉ้อฉลผลประโยชน์ประชาชนคือคนทรยศชาติ แต่ถ้าพูดในอีกแง่หนึ่ง คนที่อ้างตัวเป็นคนดีแต่ปิดกั้นประชาธิปไตยประชาชน ไม่ยอมให้ประชาชนปกครองตนเอง อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ปล้นอำนาจประชาชน ก็คือคนที่ยึดชาติไปผูกขาดเป็นของตนแต่ผู้เดียว
 
ตุลาการภิวัฒน์ก้นร้อน
 
สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีศาสตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้อำนวยการ จัดเสวนาใหญ่ “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกับระบบศาล” แค่ดูรายชื่อผู้เข้าเสวนาก็ส่ายหน้าตั้งแต่แรก เพราะฝ่ายคัดค้านตุลาการภิวัฒน์ มีโภคิน พลกุล คนเดียว แถมไปในฐานะอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เหลือนอกจาก อ.อมร จันทรสมบูรณ์ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังได้แก่ รสนา โตสิตระกูล, สุรพล นิติไกรพจน์ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมต.ยุติธรรมพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดให้สื่อเอามาพาดหัวข่าวว่า ถ้ายุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยในระดับสากลจะล้มละลายโดยสิ้นเชิง
 
ก็สมควรเป็นหัวข่าวเพราะนั่นคือเจตนาของผู้จัด และบรรดาประธานศาล นักวิชาการ ที่ไปร่วมงาน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันคือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุบศาล หรือให้อำนาจประชาชนตรวจสอบศาล
 
แหม จักรภพ เพ็ญแข พูดถูก นิติราษฎร์เป็นภัยคุกคามอำนาจเก่าอย่างร้ายแรง กระทั่งงานที่จัดในธรรมศาสตร์ก็ไม่ยักเชิญนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบศาลอย่างเฉียบคมที่สุด แค่เชิญวรเจตน์ หรือปิยบุตร เดินเลาะหลังคณะไป เท่านั้นเองนะครับศาสตราจารย์ธีรยุทธ
 
นี่เชิญแต่ อ.สุรพล ซึ่งบอกว่าการทุจริตประพฤติมิชอบของฝ่ายบริหาร หวังพึ่งองค์กรรัฐสภาไม่ได้ ต้องหาองค์กรอิสระมาควบคุมตรวจสอบอำนาจ ต้องมีองค์กรศาลที่มีความเป็นอิสระคอยควบคุมการใช้อำนาจรัฐ จึงไม่ควรแตะต้องอำนาจตุลาการ ข้อเสนอให้ผู้แทนปวงชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้พิพากษา หรือมีส่วนร่วมควบคุม ฯลฯ ขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม
 
ผมฟังแล้วงงนะครับ อาจารย์ หลักประชาธิปไตยคือการคานอำนาจ ตรวจสอบอำนาจ แต่ท่านพูดด้านเดียวคือให้อำนาจตุลาการมาตรวจสอบอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ แล้วใครจะตรวจสอบตุลาการ ท่านไม่พูดถึงเลย ท่านอ้างแต่ว่าตุลาการตรวจสอบพวกตัวเองอยู่แล้ว
 
นอกจากนักวิชาการ นักการเมือง NGO ผู้ได้ประโยชน์จากตุลาการภิวัตน์ มาพูดปกป้องไม่ให้ยุบศาลหรือตรวจสอบศาล งานนี้ยังมีประธานศาลรัฐธรรมนูญกับประธานศาลปกครองสูงสุด มาพูดปกป้องตัวเอง ซึ่งก็ขำดีนะครับ ที่ท่านต้องมาเดินสาย defend ตัวเองยังกะนักการเมือง
 
ประธานศาลปกครองสูงสุดมาออกตัว ซะจนผมหลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเองว่าท่านคงอ่านบทความ “ยุบศาลปกครองซะดีมั้ย” ที่ผมเขียนไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เพราะท่าน defend เรื่องพิจารณาล่าช้า แก้ต่างคดี 3G ที่ผมเอาคำกล่าว อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มาตอกย้ำว่าทำให้รัฐเสียรายได้ค่าประมูลไป 3.9 หมื่นล้านบาท
 
ท่านตัดพ้อว่ามีใครเคยอ่านคำวินิจฉัยโดยละเอียดหรือไม่ โห อ่านสิครับ อ.วรเจตน์วิจารณ์โดยละเอียด ท่านอ่านบ้างหรือเปล่า ท่านว่าอีกฝ่ายอ้างประโยชน์สาธารณะ แต่ศาลต้องทำตามกฎหมาย ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ตรงการตีความกฎหมาย ซึ่ง อ.วรเจตน์ชี้ว่าศาลไปติดอยู่กับแบบพิธีมากกว่าสารัตถะ ยังไงคลื่นนี้ก็ต้องนำไปประมูล 3G อยู่ดีไม่ต้องรอ กสทช.ก็ได้ อยู่ที่ศาลจะตีความให้เป็นประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า
 
แถมศาลยังบอกว่าระงับการประมูลแล้วไม่เป็นปัญหาต่อบริการสาธารณะ เพราะอาจจะเปิด 4G เลยก็ได้ อ้าว แล้วตอนนี้เห็นหรือยังละครับว่าเป็นปัญหาต่อบริการสาธารณะ แทนที่ประชาชนจะได้ใช้ 3G จากเอกชนที่ประมูลโดยตรง กลับต้องไปขอสัมปทานจาก ทศท.กสท.ทำให้ค่าบริการแพงกว่าที่ควรจะเป็น แถมคลื่นความถี่ก็แคบ ระบบล่มรายวัน
 
นอกจากนั้นยังเกิดเรื่องอื้อฉาว ที่ กสท.เอาคลื่นความถี่ไปให้สัมปทานทรูอย่างมีพิรุธ ศาลปกครองรู้ตัวหรือเปล่าว่าเตะหมูเข้าปากใคร
 
ที่จริง อ.วรเจตน์วิจารณ์ไว้มากกว่านี้ ถ้าท่านอ่านละเอียด อ.วรเจตน์ยังแย้งว่าที่ศาลปกครองเห็นว่า กสท.เป็นผู้เสียหายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะพอ กสท.ไม่เสียหาย ประชาชนทั้งประเทศกลับกลายเป็นผู้เสียหาย
 
ลงท้าย ประธานศาลปกครองก็ตีปี๊บว่าถูกขู่ฆ่า เหมือนจะบอกว่าเพราะท่านทำความดี ขัดผลประโยชน์คนเลว จึงถูกขู่ฆ่า ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้นะครับ คนถูกขู่ฆ่าไม่ใช่คนทำดีเสมอไป คนที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ถูกขู่ฆ่าก็มีเยอะ กรรมการตัดสินฟุตบอลขัดสายตาแฟนๆ ก็ถูกขู่ฆ่าบ่อยไป เปล่า ผมไม่ได้ว่าท่านเป็นอย่างนั้น แต่ผมจะท้วงว่าท่านอย่าทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเอามาใช้เรียกความเห็นใจ เพราะเป็นเรื่องต้องถกกันด้วยหลักการ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคร่ำครวญดราม่า ตัดสินใจตั้งแต่มารับตำแหน่งแล้วว่า ถ้าต้องตายก็ยอมตาย
 
วินิจฉัยลวก?
 
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มาแปลกเพราะตั้งแต่แรกก็บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คนที่มีคุณภาพเยี่ยม โดยเฉพาะตุลาการมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3คน
 
“บางท่านมาด้วยเหตุเพียงเพราะไม่ได้แจ้งสละสิทธิไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ ก็ได้รับการคัดเลือก ... ไม่มีใครอยากเป็นครับ”
 
โห ผมนึกหน้าคุณชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณบุญส่ง กุลบุปผา คุณนุรักษ์ มาประณีต 3 ตุลาการจากศาลฎีกา แล้วก็ขำ
 
คุณวสันต์คุยว่าตัวเองได้รับความเชื่อมั่นว่า ไม่รับสตางค์ใคร ไม่รับจ้างใคร ทำงานตรงไปตรงมาไม่มีอคติ แถมฟุ้งว่าในยุคขวาพิฆาตซ้ายก็เคยยกฟ้องคดี 112 มาแล้ว (อ้าว ครก.112 ไปขอให้ท่านลงชื่อเร็ว) ที่น่าสนใจคือท่านยอมรับว่าทุกองค์กรก็มีคนดีคนชั่ว ตุลาการก็มีคนชั่ว แม้ไม่มีหลักฐานแต่มองหน้าก็รู้กัน เพียงแต่ท่านไม่ยักบอกว่าสังคมจะตรวจสอบตุลาการได้อย่างไร ได้แต่พูดลอยๆ ว่า ตุลาการอยู่ได้ด้วยการอบรมสั่งสอนของบรรพตุลาการ
 
คุณวสันต์เป็นคนที่พูดเยอะดี เช่นยอมรับว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่นักกฎหมายอ่านแล้วยังงง เพราะต่างคนต่างทำคำวินิจฉัยส่วนตน มาเจอกันตอนเช้า แล้วมาทำเป็นคำวินิจฉัยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไฟลนก้น คดีชิมไปบ่นไปมีคำวินิจฉัยที่แปลกๆ แต่จริง เกือบหลุดเพราะปัญหาข้อเท็จจริงยังไม่ได้วินิจฉัย
 
“ประมาณ 4โมง ก็ฉุกละหุก เอาคนนี้เข้าผสมคนโน้น คนโน้นผสมคนนั้น ใส่เข้าไป จึงเป็นคำพิพากษาที่แปลก เพราะปกติ ต้องเอาข้อเท็จจริง ให้ยุติก่อน ปัญหาข้อเท็จจริงว่า คนนี้ทำอย่างนี้จริงหรือไม่ มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ที่เป็นข้อโต้แย้งกัน ต้องฟังให้ยุติก่อนว่าจริง หรือไม่จริง ก่อนจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าถ้าทำจริงแล้วผิดไหม นี่เป็นมาตรฐาน ของคำพิพากษาโดยทั่วๆ ไป แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ กลับพูดข้อกฎหมายก่อนมายาวเหยียด แล้วอัดข้อเท็จจริงเข้าไป ถามว่าเหตุเพราะอะไร ก็เพราะว่าไฟลนก้น มันเลยเวลาอ่านแล้ว อะไรก็รีบ ลวกๆ” (เว็บไซต์มติชน)
 
อ้าว วินิจฉัยให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตกเก้าอี้เพราะทำกับข้าว แล้วท่านมายอมรับว่า วินิจฉัยกันอย่างลวกๆ ยังงั้นหรือครับ
 
ระวังชาวบ้านฟังแล้วจะร้องว่า มิน่า ถึงเปิดพจนานุกรมตีความคำว่า “ลูกจ้าง”
 
ติ๊กไว้ตรงนี้หน่อยนะครับว่า อ.วรเจตน์วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ 2 ประเด็น หนึ่งคือ ออหมักไม่ใช่ลูกจ้าง เพียงแต่รับค่าตอบแทนไปเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวออกทีวียังไม่ถือเป็น ลูกจ้าง ไม่เช่นนั้น คุณจรัญ ภักดีธนากุล ไปบรรยายมหาวิทยาลัยเอกชน หรือพูดออกรายการวิทยุโดยได้ค่าตอบแทน ก็ต้องถือเป็นลูกจ้างด้วย ความเป็นนายจ้างลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ประเด็นสำคัญคือนายจ้างต้องมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง
 
สองคือ กรณีตามมาตรา 267 นี้เป็น “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ “ขาดคุณสมบัติ” ถ้าขาดคุณสมบัติต้องเป็นไปตามมาตรา 174 สมมติเช่น ไม่จบปริญญาตรี ถูกถอดจากตำแหน่งแล้วกลับมาเป็นไม่ได้ จนกว่าจะไปเรียนให้จบ แต่ลักษณะต้องห้ามอยู่ในหมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ถ้าสละความขัดกันนั้นเสีย สมมติว่าเป็นลูกจ้างจริง ลาออกเสีย ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
 
ซึ่งกรณีออหมักก็เห็นชัดเจนว่า ตกเก้าอี้แล้ววันรุ่งขึ้นยังมีสิทธิได้รับเลือกจากสภาให้กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก กรณีนี้จึงไม่ใช่ขาดคุณสมบัติ แค่มีลักษณะต้องห้ามซึ่งเมื่อเลิกทำรายการชิมไปบ่นไปแล้ว ก็ถือว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นหมดไปแล้ว ยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ไม่ต้องไปทำตลกปลดออกแล้วยังมีสิทธิเป็นใหม่
 
ก่อนหน้านี้ คุณวสันต์ก็กล่าวในงานครบรอบ 14 ปีศาลรัฐธรรมนูญ ถึงคดียุบพรรคการเมืองว่า ถ้า ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคถูก กกต.ให้ใบแดง หรือ กกต.ส่งศาลฎีกาให้ใบแดง แล้วส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะจะไปรื้อคำสั่งศาลฎีกาไม่ได้ ทำได้เป็นเพียงป่อเต็กตึ๊งทำหน้าที่เก็บศพเท่านั้น
 
ท่านต้องการโบ้ยเรื่องยุบพรรคให้พ้นตัวหรือไรก็ไม่ทราบ แต่ฟังแล้วขำกลิ้ง เมื่อนึกภาพตุลาการผู้สูงส่งใส่เสื้อครุยไปเก็บศพ
 
อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ผม หลังยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ว่าการที่ศาลใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงหลังแถลงปิดคดี ก็วินิจฉัยยุบพรรคทันที โดยอ้างว่าไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เนื่องจากคำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นที่สุดนั้น ก็เท่ากับว่ากระบวนการของศาลเป็น “ระบบกฎหมายลวงคน”
 
"คดีแบบนี้ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณตีความแบบนี้ และคุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ คุณก็เขียนไปอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ-เมื่อกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการ บริหารพรรค ก็ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค-แต่มันเหมือนกับบอกชาวโลกเขาไม่ ได้ .....ระบบกฎหมายของเราในที่นี้คือการลวงคน มันไม่มี material ไม่มีเนื้อหา มีแต่รูปแบบ ถ้าพูดให้ extreme กระบวนการพิจารณาที่ทำกันมันคือความว่างเปล่า ที่คุณจะต้องให้ตุลาการนั่งพิจารณา ให้เขามาแถลงคดี มันคือความว่างเปล่าหมดเลย มันไม่มีอะไรให้พิจารณา"
 
อ.วรเจตน์กล่าวไว้อย่างนั้น แล้วประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งยอมรับว่า ศาลไม่ได้ทำอะไรเลยจริงจริ๊ง แค่ทำหน้าที่เก็บศพ
 
อันที่จริงต้องใช้คำว่าระบบกฎหมายลวงโลก เพราะทำเหมือนกับตุลาการ 9 คนใส่เสื้อครุยมานั่งพิจารณา แต่กระบวนการทั้งหมดไร้สาระ ถ้าท่านตีความอย่างนั้น พรรคการเมือง “ตาย” ถูกยุบตั้งแต่ กกต.แจกใบแดงกรรมการบริหารพรรคแล้ว ที่เหลือเป็นแค่กระบวนการเก็บศพมาใส่โลง แต่งศพไม่ให้อุจาดตา เอามาผ่านศาล เอามาผ่านกระบวนการที่มีคนใส่เสื้อครุยนั่งอยู่ 9 คน แต่แท้จริง คนใส่เสื้อครุยไม่ได้ทำอะไรเลย (ตามคำกล่าวของท่านคือ ไม่สามารถทำอะไรเลย)
 
แบบนั้นมันก็แหกตากันสิครับ ทำให้ชาวโลกเข้าใจผิดว่า ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว ศาลได้ใช้ดุลพินิจแล้ว ทั้งที่ความจริงมันจบไปตั้งแต่ กกต.5 คนลงมติ โดยใช้เหตุผลเพียง “เชื่อได้ว่าทุจริต” ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือ “ศาลเตี้ย” เพราะไม่มีการพิสูจน์พยานหลักฐาน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีตามกระบวนการปกติ เอาความเชื่อของ กกต.เสียงข้างมากตัดสิน แต่เขียนรัฐธรรมนูญให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมารับรอง “ศาลเตี้ย” อีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ได้ให้ศาลพิสูจน์ถูกผิดจากพยานหลักฐาน ศาลเพียงแต่มาปั๊มตรารับรองว่า “เชื่อได้ว่า” ตามที่ กกต.วินิจฉัย (ให้ศาลใช้ความเชื่อ) จากนั้นก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญเก็บศพ เอ๊ย ยุบพรรค
 
นี่ไงครับ สาเหตุที่กระบวนการยุติธรรมเสื่อมความเชื่อถือ
 
คุณวสันต์มีชื่อเสียงจากการเปิดเผยว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุก หุ้นรายหนึ่งไปปรึกษา หาทางช่วยทักษิณให้พ้นคดี เพราะทักษิณมาจากการเลือกตั้งจะให้คนไม่กี่คนตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งไม่ได้ ต่อมาตุลาการผู้นั้นถูกตำหนิว่าไม่ยึดมั่นในหลักกฎหมาย
 
นั่นเป็นตัวอย่างของการเอา “สุคติ” มาวินิจฉัยคดี แต่ในด้านกลับกัน หลังจากเกิด “ตุลาการภิวัตน์” เป็นต้นมา คุณวสันต์ก็ควรถามตุลาการทั้งหลายด้วยว่า ได้ใช้ “สุคติ” ตัดสินแทนหลักกฎหมายหรือเปล่า “สุคติ” แบบที่คิดว่าต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดทักษิณ ผู้เป็นภัยต่อ “แผ่นดิน” จนทำให้ไม่วินิจฉัยกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

(ที่มา) 
http://www.voicetv.co.th/blog/960.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น