หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

20 กลุ่ม-เครือข่ายประชาชน ค้านพลังงานนิวเคลียร์ในแผนพีดีพี

20 กลุ่ม-เครือข่ายประชาชน ค้านพลังงานนิวเคลียร์ในแผนพีดีพี

 

เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” ชี้ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี ถูกครอบงำโดยอวิชชา ทั้งขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์

วันนี้ (20 ก.ค.55) เครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกแถลงการณ์ “ผู้วางแผนพีดีพี ยังเป็น “คน” อยู่หรือไม่?” เรียกร้องให้นำพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หลังจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 55 การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศระหว่างปี 2553 - 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หรือ PDP 2010 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาแผน PDP ฉบับปี 2012 ในทันที
 
โดยแผน PDP ฉบับดังกล่าว ถูกอ้างว่ามีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่รวมโครงการรถไฟฟ้า 12 สาย และให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ใน 10 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผน PDP 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับ 1 โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประมาณต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า
 
ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับปรุงแผน PDP 2010 ครั้งที่ 3 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ซึ่ง กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาให้คัดเลือก 4 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตราด อุบลราชธานี กาฬสินธุ์
 
แถลงการณ์ ระบุว่า รายละเอียดเชิงตัวเลขของการปรับเปลี่ยน แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 แสดงอย่างชัดแจ้งว่า แผนดังกล่าว บิดเบือนเจตนารมณ์ของแผนพีดีพี เพราะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความเป็นจริง และกระบวนการพิจารณาใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 8 มิ.ย.55 เป็นการงุบงิบปรับเปลี่ยนแผนโดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อีกทั้งถูกครอบงำโดยอวิชชา ด้วยความมืดบอดแห่งพุทธิปัญญา และมืดบอดทางวิชาการ แม้จะมีความพยายามคัดค้านจากเครือข่ายประชาชนและมีการนำเสนอตัวอย่างผลกระทบ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน แต่ก็ไร้ผล
 
นอกจากนั้นยังขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ ดังที่รู้ซึ้งกันดีของผู้คนทั้งโลกว่า เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก คือ โศกนาฏกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียในหลายมิติ แต่ความหายนะที่มวลมนุษยชาติที่ได้รับจากเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ไม่ได้อยู่ในจิตสำนึกของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันจัดทำPDP 2010 หลังเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ผ่านเลยไป และเมื่อผู้คนต่างลืมเลือนความสยดสยองของเหตุการณ์ แล้วจึงมีการเดินหน้าผลักดันโครงการอีกครั้ง
 
“บรรดาความพยายามของคนกลุ่มนี้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบีบสังคมให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยการโยนคำถามชี้นำ อาทิ เมื่อไฟฟ้าจะหมดในอนาคต จะทำอย่างไร? ระหว่างพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแม้แต่การประชุมสัมมนา แต่ข้อคำนึงที่คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดคำนึง คือ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ มีความเสี่ยงและไม่เสี่ยงต่อหายนะภัยจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่การไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศนี้และประชาชนในประเทศนี้ จะไม่เสี่ยงใดๆ เลย!!” แถลงการณ์ ระบุ
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น