หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความสำคัญของ “การปฏิวัติถาวร” ในโลกปัจจุบัน

ความสำคัญของ “การปฏิวัติถาวร” ในโลกปัจจุบัน


Leon Trotsky   

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

คำว่า
“การปฏิวัติถาวร” เป็นคำที่คาร์ล มาร์คซ์ เริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1848 เมื่อเขาเห็นว่าชนชั้นนายทุนในยุโรปหมดสภาพในการเป็น “ชนชั้นก้าวหน้าปฏิวัติ” ที่จะล้มซากของระบบฟิวเดิลที่ยังหลงเหลืออยู่ก่อนหน้านั้นในปี 1640-1688 ในอังกฤษ ในปี 1776 ที่อเมริกา และในปี 1789 ที่ฝรั่งเศส

ชนชั้นนายทุนเป็นหัวหอกในการนำการปฏิวัติที่ล้มอำนาจเก่า แต่พอมาถึง ค.ศ. 1848 ชนชั้นนายทุนเกรงกลัวชนชั้นใหม่ที่ยืนอยู่ข้างหลัง นั้นคือชนชั้นกรรมาชีพ นายทุนกลัวว่าถ้าปลุกกระแสปฏิวัติ กรรมาชีพจะไม่หยุดง่ายๆ และจะต่อสู้ต่อไปเพื่อกำจัดการกดขี่ขูดรีดของนายทุนและอำนาจเก่าที่เป็นซาก ระบบขุนนางด้วยพร้อมๆ กัน ดังนั้นการลุกฮือปฏิวัติถาวรของกรรมาชีพคือสิ่งที่คาร์ล มาร์คซ์หันมาสนับสนุนเต็มที่ตั้งแต่ 1848


ในปี ค.ศ. 1906
ลีออน ตรอทสกี เริ่มฟื้นฟูความคิดปฏิวัติถาวรของมาร์คซ์ในรัสเซีย เพื่อเสนอว่ากรรมาชีพรัสเซียต้องต่อสู้อิสระจากนายทุนชาตินิยม และควรก้าวข้ามขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหลังล้มกษัตริย์ซาร์ เพื่อไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมและอำนาจของรัฐกรรมาชีพทันที และเราก็เห็นว่าในปี 1917 การล้มกษัตริย์ซาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการปฏิวัติสังคมนิยมในเดือนตุลาคม โดยที่พรรคบอล์เชวิคเป็นหัวหอกของกรรมาชีพผู้ปฏิวัติ และเลนินมีข้อสรุปตรงกับมาร์คซ์และตรอทสกี มาตั้งแต่เดือนเมษายน 1917 อีกด้วย

หลังการปฏิวัติรัสเซีย ประเด็นเรื่อง
“การปฏิวัติถาวร” กลายเป็นเรื่องชี้ขาดในการปฏิวัติจีนและสเปน แต่พรรคคอมมิวนิสต์สากลสมัยนั้นเริ่มตกอยู่ในมือของพรรคพวกของสตาลิน ที่ขึ้นมาปฏิวัติซ้อนและระงับความก้าวหน้าของรัสเซีย สตาลินเน้นเสถียรภาพของรัสเซียและของรัฐบาลข้าราชการแดงเป็นหลัก จึงไม่อยากให้การปฏิวัติในที่อื่นๆ มารบกวนการคานอำนาจทั่วโลก เพราะเขาต้องการเอาใจมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก

ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมาในจีน และสายสตาลินในสเปน เริ่มปฏิเสธแนวปฏิวัติถาวร เพื่อทำแนวร่วมกับนายทุนชาตินิยมแทน ผลคือนายทุนชาตินิยมในพรรคก๊กหมินตั๋งจีน จัดการปราบและสลายพวกคอมมิวนิสต์ จนสหายที่รอดตายต้องหนีออกจากเมือง และในสเปนการยอมจำนนต่อทุนนิยมทำให้กระแสปฏิวัติพ่ายแพ้และฟาสซิสต์ขึ้นมา ครองประเทศได้


หลังจากนั้น จนถึงยุคพังทลายของกำแพงเมืองเบอร์ลินและการสิ้นสุดของสงครามเย็น องค์กรหลักที่คัดค้านการปฏิวัติถาวร เพื่อระงับการต่อสู้ไม่ให้ไปถึงสังคมนิยม คือพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และพรรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะในตะวันออกกลางหรือในอินโดนีเซียหรือไทย ก็เสนอให้ฝ่ายซ้ายจับมือกับผู้นำชนชั้นนายทุน เช่น นาเซอร์ในอียิปต์ ซะดัมในอิรัก ซุการ์โน ในอินโดนีเซีย หรือสฤษดิ์ ในไทย และทุกครั้งโดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้นำเหล่านั้นจะหักหลังพรรคคอมมิวนิสต์ และการต่อสู่ก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้และการนองเลือด


หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายทั่วโลก ประเด็นการปฏิวัติถาวรไม่ได้จบไป เมื่อต้นปี ค.ศ. 2011 ในตะวันออกกลาง มีการลุกฮือล้มเผด็จการ และเรื่อง
“การปฏิวัติถาวร” กลายเป็นเรื่องแหลมคมอีกครั้ง เพราะคนที่คัดค้านการปฏิวัติถาวรไปสู่อำนาจกรรมาชีพและสังคมนิยม กลายเป็นรัฐบาลทหารอียิปต์และพรรคมุสลิม เพราะสองกลุ่มอำนาจนี้ต้องการรักษาโครงสร้างเดิมในอียิปต์ไว้แต่เปลี่ยนแค่ ผู้นำ จากผู้นำเผด็จการมูบารัก ไปสู่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่สภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นเราจะเห็นว่าคนหนุ่มสาวและนักสังคมนิยมที่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ในอียิปต์เมื่อปลายปีเดียวกัน เป็นพวกที่ต้องการให้ปฏิวัติถาวร
ในลิบเบีย มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาแทรกแซงการปฏิวัติเพื่อล้มเผด็จการกาดาฟี เพื่อไม่ให้นักสู้รากหญ้าเดินตามแนวปฏิวัติถาวร ตะวันตกต้องการเปลี่ยนผู้นำ แต่ต้องการรักษาโครงสร้างที่พร้อมจะขายน้ำมันให้บริษัทข้ามชาติ
ในไทย หลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ต้องการที่จะให้โครงสร้างเก่าคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาล “พรรคทหาร” ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นชัดในกรณีที่เพื่อไทยและ นปช. ไม่ยอมแตะอำนาจทหาร และกฎหมายเผด็จการต่างๆ เช่น 112 เป็นต้น และถ้าเราต้องการให้ไทยเป็นประชาธิปไตยแท้ และต้องการเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในสังคม เพื่อยุติการกดขี่ขูดรีด เราต้องสู้ต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ขั้นตอนการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นความสำคัญของ “การปฏิวัติถาวร” ในโลกปัจจุบัน

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2011/12/blog-post_06.html


รัฐกับการปฏิวัติโดย เลนิน. (The State and Revolution by V.I.Lenin). บทที่ 1. สังคมชนชั้นกับรัฐ. 1. รัฐเป็นผลผลิตของความออมชอมกันไม่ได่ ซึ่งความปฏิปักษ์ทางชนชั้น
 
(คลิกอ่าน)
http://data5.blog.de/media/561/3351561_1c6b417029_d.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น