หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ – เหลียวหลังแลหน้าประชาธิปไตยไทย ๘๐ ปี

สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ – เหลียวหลังแลหน้าประชาธิปไตยไทย ๘๐ ปี


“เราต้องใช้อำนาจอันชอบธรรมที่เกิดจากเสียงของประชาชน ไปทำลายอำนาจอันไม่ชอบธรรมที่เกิดจากรถถังและปากกระบอกปืน”



เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำพาสยามประเทศเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองและจินตนาการของผู้คนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จิตใจเป็นเจ้าของชาติ

ในรอบ ๘ ทศวรรษ สังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายเหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕  จนมาถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓

๘๐ ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านการรัฐประหารมาร่วม ๑๐ ครั้ง  มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ  วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทยนับแต่หลังรัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เราได้เห็นสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว การป้ายสีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยการใช้กฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ จนเป็นเหตุให้มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมืองมากมาย

ผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้แบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของพลังมวลชนระดับชาติ และความเคลื่อนไหวทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะขนานใหญ่นับแต่ข้อเสนอของ

คณะนิติราษฎร์ (กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  ก่อตั้งเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓) ว่าด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, การเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกโยนสู่สังคมไทย


นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอัน เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร  ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือน กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง  ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจน ถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็น ด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา

ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕  สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป

ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง

การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ในมุมมองของอาจารย์เป็นอย่างไร  อุดมการณ์ของคณะราษฎรได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยแล้วหรือยัง

การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ นั้นคือการเปลี่ยนระบอบ จากเดิมที่กษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นระบอบที่เจ้าของอำนาจนั้นคือประชาชน แล้วกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ผมคิดว่า ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นำมาซึ่งหลักการในเชิงของการปกครองอยู่ ๓ ประการใหญ่ๆ  ประการแรกคือยังคงรูปของรัฐไว้เป็นราชอาณาจักร

ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐให้กลายเป็นสาธารณรัฐ คือยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ


ประการที่ ๒  ๒๔๗๕ เป็นการวางหลักนิติรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร และปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (รัฐ-ธรรมนูญฉบับที่ ๒) “นิติรัฐ” คือการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ โดยกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร ประกันอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ มีการแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้อำนาจนั้นรวมศูนย์อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

ประการที่ ๓  ๒๔๗๕ ได้วางหลักประชาธิปไตย คือการกำหนดให้เจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นคือราษฎรทั้งหลาย  หลายคนมองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม หลายคนมองว่าเป็นการแย่งชิงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ผมมีความเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองแต่ดั้งเดิมเป็นของราษฎร  ๒๔๗๕ จึงเป็นการทำให้อำนาจนั้นกลับคืนสู่มือของเจ้าของที่แท้จริง  แล้วก็ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ถ้าย้อนดูบริบทการเมืองในเวลานั้นจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐ ไทยอยู่แล้ว ทั้งความเสื่อมโทรมของการบริหารราชการ ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวสู่รัฐสมัยใหม่ ซึ่งล้วนเป็นผลที่อย่างไรก็จะต้องนำไปสู่เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อยู่ดี

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ จบไปแล้วในแง่ของการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้น (ไม่ใช่รัฐประหารเพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ) แต่ว่าการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย การปลูกฝังนิติรัฐยังไม่จบ และยิ่งไม่จบหนักขึ้นเมื่อเกิดการโต้การอภิวัฒน์

จุดเปลี่ยนสำคัญที่เรียกว่า “การโต้การอภิวัฒน์” นั้นมี ๒ ช่วง คือรัฐประหารปี ๒๔๙๐ นำโดย ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรณีสวรรคตวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙  มันเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง  แล้วถูกทับอีกครั้งในช่วงรัฐประหารปี ๒๕๐๐ นำโดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานหนักของคนหลายคนซึ่งอยู่เบื้องหลัง  แน่นอนเบื้องหลังความสำเร็จนี้มีเหตุปัจจัยหนุนช่วยหลายอย่าง บางกลุ่มการเมืองก็ได้ฉวยโอกาสนี้ไปใช้หาอำนาจต่อได้อีก  แล้ววิธีคิดทางการเมืองแบบนี้ได้แทรกซึมไปในทุกอณูของสังคมไทย

(อ่านต่อ)
http://www.sarakadee.com/2012/07/19/worajet/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น