ชนชั้น
ชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล
เพราะเป็นผู้ทำงานในใจกลางระบบทุนนิยม
การนัดหยุดงานหรือการยึดสถานที่ทำงานโดยชนชั้นกรรมาชีพโดยประสานกันทั้ง
ประเทศ อาจนำไปสู่การล้มอำนาจนายทุนและการสร้างสังคมใหม่ได้
โดย ลั่นทมขาว
นักมาร์คซิสต์จำแนกชนชั้นตามความสำพันธ์กับระบบการผลิตเพราะระบบการผลิตเป็น
สิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตในโลกได้
และความสัมพันธ์กับระบบนี้ที่แตกต่างกัน
นำไปสู่อำนาจที่แตกต่างกันของมนุษย์ในสังคมเสมอ ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม
อำนาจของชนชั้นปกครอง(หรือชนชั้นนายทุน)ในสมัยนี้มาจากอำนาจที่จะควบคุม
ทรัพยากรและมูลค่าต่างๆที่คนธรรมดาผลิตในวันทำงาน
มันเป็นอำนาจในการคุมระบบการผลิตกับชีวิตงาน
และมันเลยไปถึงอำนาจในการคุมกองทัพและสื่อ
และที่สำคัญคือนำไปสู่การควบคุมอำนาจรัฐอีกด้วย ส่วนคนทำงานธรรมดา
ไม่ว่าจะในภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมและการบริการ
ได้แต่เป็นลูกจ้างของผู้มีอำนาจ หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย
ความสัมพันธ์กับระบบการผลิตที่ต่างกันนี้
นำไปสู่ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
เช่นนายจ้างต้องการกำไรมากที่สุด
แต่ลูกจ้างต้องการเพิ่มค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ดีเป็นต้น
ระบบทุนนิยมมีกลุ่มชนชั้นหลักสามกลุ่มดังนี้คือ
1.นายทุน ผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่นโรงงาน บริษัท
หรือรัฐวิสาหกิจ ในโลกสมัยใหม่อำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตเป็นเรื่องหลัก
เพราะนายทุนไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของ” ของทั้งบริษัทก็ได้
แค่ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็พอ หรือในกรณีรัฐวิสาหกิจ “นายทุน”
คือข้าราชการชั้นสูงและทหาร ที่ถือตำแหน่งในกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ
โดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเลย
นายทุนทั้งชนชั้นมีอำนาจมาก เพราะควบคุมเศรษฐกิจ
และทุกอย่างที่ทำให้เราดำรงชีพได้
โดยไม่มีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งแต่อย่างใด
เขาสามารถตัดสินใจเรื่องการลงทุน การถอนทุน การจ้างงาน
หรือการเลิกจ้างได้เสมอ
นอกจากนี้ชนชั้นนายทุนคุมอำนาจรัฐในส่วนที่ไม่มีการเลือกตั้งอีกด้วย
เช่นกองทัพ ตำรวจ สื่อ หรือศาล และใช้สถาบันเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของตนตลอด
แต่ชนชั้นนายทุนเป็นคนส่วนน้อยของสังคมและไม่ใช่คนที่ทำงาน และทั้งๆ
ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจเลือกรัฐบาลได้ในวันเลือกตั้ง
แต่การตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเดียวกับการควบคุม “รัฐ” แต่อย่างใด
2.กรรมาชีพ ผู้ที่เป็นลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงาน พนักงานในออฟฟิศ
ข้าราชการชั้นผู้น้อย แรงงานรับจ้างในภาคเกษตร พยาบาล ครู อาจารย์
และรวมทั้งทนายหรือหมอที่เป็นลูกจ้างอีกด้วย กรรมาชีพคือลูกจ้าง
ไม่ว่าจะหน้าดำหน้าขาวหรือแต่งตัวอย่างไร
และไม่ว่าจะมีระดับการศึกษาใดหรือรสนิยมแบบไหนชนชั้นกรรมาชีพอาจไม่มีอำนาจ
ในการคุมปัจจัยการผลิต บริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ
แต่มีพลังต่อรองสูงถ้ารวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน
คือสามารถทวงคืนมูลค่าที่ตนเองผลิตจากนายทุนได้ในระดับต่างๆ
ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองและการจัดตั้งเราจึงเห็นการนัดหยุดงานเพื่อเพิ่ม
ค่าจ้าง
ชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล เพราะเป็นผู้ทำงานในใจกลางระบบทุนนิยม
การนัดหยุดงานหรือการยึดสถานที่ทำงานโดยชนชั้นกรรมาชีพโดยประสานกันทั้ง
ประเทศ อาจนำไปสู่การล้มอำนาจนายทุนและการสร้างสังคมใหม่ได้
แต่กรรมาชีพต้องพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองและมีพรรคเป็นองค์กรจัดตั้งของตน
เอง ถึงจะล้มนายทุนได้
ที่สำคัญคือในสังคมไทยทุกวันนี้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม
3. ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางในสังคมสมัยใหม่ เป็น “กลุ่มชนชั้น”
มีความหลากหลายและกระจัดกระจาย เป็นคนที่ไม่ใช่นายทุน
และไม่ใช่ลูกจ้างระดับธรรมดา เช่นเกษตรกรผู้ผลิตเองรายย่อย
พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเองที่มีลูกจ้างสองสามคน
หรืออาจเป็นหัวหน้างานและผู้บริหารที่เป็นทั้งลูกจ้างของนายทุนแต่มีอำนาจ
ให้คุณให้โทษแทนนายทุน ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
บางส่วนขยายจำนวน บางส่วนเริ่มมีน้อยลงเพราะล้มละลาย
และชนชั้นนี้มีปัญหาในการรวมตัวกันเสมอ เพราะไม่เป็นปึกเป็นแผ่น
มีผลประโยชน์ต่างกัน และอาจเป็นคู่แข่งกันด้วย
ดังนั้นบ่อยครั้งชนชั้นกลางต้องไปเกาะติดกับชนชั้นที่มีอำนาจมากกว่า
เช่นชนชั้นนายทุน หรือบางครั้งอาจเกาะติดกับชนชั้นกรรมาชีพเมื่อมีการต่อสู้
จุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางจึงไม่คงที่
ชนชั้นกลางมีจำนวนน้อยกว่ากรรมาชีพในสังคมไทยปัจจุบัน
เพราะเกษตรกรรายย่อยกำลังล้มละลาย และคนส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง
นักมาร์คซิสต์ให้ความสำคัญกับกรรมาชีพเป็นพิเศษเนื่องจากมีอำนาจซ่อนเร้นทาง
เศรษฐกิจ
และการต่อสู้ของกรรมาชีพจะเน้นการรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ของคนจำนวนมาก
เพราะกรรมาชีพในสถานที่ทำงานถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ต่อสู้แบบรวมหมู่เพื่อ
ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าสู้แบบปัจเจกจะต่อรองกับนายจ้างไม่ได้
แต่กรรมาชีพไทยในเมืองยังต้องจับมือสร้างแนวร่วมกับคนจนในชนบทอีกด้วย
เช่นลูกจ้างภาคเกษตรและเกษตรกรรายย่อย เพราะคนเหล่านี้มีจำนวนมากพอสมควร
คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นกรรมาชีพหรือเป็นเกษตรกรรายย่อยถึงระดับกลาง
ประเด็นที่น่าสนใจคือคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ชื่นชมนายทุนอย่างทักษิณและพรรค
เพื่อไทยซึ่งทำให้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ในลักษณะอิสระไม่ได้
จึงต้องจำยอมเดินตามก้นรัฐบาลเพื่อไทยที่จับมือกับทหาร
นี่คือสาเหตุที่นักมาร์คซิสต์พยายามจัดตั้งพรรคของคนทำงาน
ที่พยายามเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่อย่างอิสระ
(ที่มา)