“ธงชาติ”
บางคนอาจคิดว่าธงไตรรงค์ของรัฐไทย แดง ขาว น้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” และเขาอาจถูกในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งที่เราต้องชี้แจงแต่แรกคือ
ชนชั้นปกครองไทยในยุคที่กำลังสร้างชาติเป็นครั้งแรก หรือยุคการเข้ามาของทุนนิยมและการล่าอาณานิคม
มักจะลอกแบบทุกอย่างจากมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ
ดังนั้นเราคงไม่แปลกใจที่สีธงไตรรงค์นั้นลอกแบบมาจากอังกฤษ “เหมือนสำเนาถูกต้อง”
แม้แต่เพลงชาติในยุคนั้นของไทยก็ไม่มี เลยเล่นเพลงชาติอังกฤษไปก่อนที่จะหาเพลงของชาติไทย
ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่อังกฤษจำนวนมากงงไปหมด
ถ้า
มองจากมุมมองนี้ เมื่อร้อยสี่สิบกว่าปีมาก่อน
ธงชาติไทย
แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์ของการที่ไทยเป็นชาติอิสระภายใต้กษัตริย์กรุงเทพฯ
กลับเป็นสัญลักษณ์ของการที่รัฐไทยก้มหัวให้มหาอำนาจตะวันตกแทน
และลอกแบบทั้งธงชาติ การแต่งกาย ระบบกฏหมาย
และการจัดการกองทัพจากประเทศต่างๆ
ในยุโรปอีกด้วย
ในการสร้างชาติทุนนิยมของไทยเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผ่านการสร้างรัฐรวมศูนย์
เราทราบจากงานเขียนและงานวิจัยของ อ. กุลลดา เกษบุญชู-มีด ว่ารัชกาลที่๕ ต้องเอาชนะคู่แข่งอย่างน้อยสองกลุ่ม
เพื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัชกาลที่ ๕
อาศัยอำนาจของอังกฤษเพื่อช่วยให้เอาชนะคู่แข่งดังกล่าวด้วย พูดได้ว่าอังกฤษเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญของกษัตริย์กรุงเทพฯ
ในยุคนั้น
นอกจากนี้รัฐบาลกษัตริย์ในอดีตได้ยอมจำนนเซ็นสัญญากับตะวันตกที่ไม่เป็นธรรมต่อรัฐไทยอีกด้วย
ข้อมูลนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมหลังการปฏิวัติ
๒๔๗๕ เมื่อ อ.ปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ.
๒๔๘๐-๒๔๘๑ ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจากับประเทศมหาอำนาจตะวันตก
เพื่อแก้ไขให้ประเทศหลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับข้อพันธะที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ไทยอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศเหล่านั้น
พูดง่ายๆ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ล้มอำนาจกษัตริย์
ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ “กู้ชาติ” รัฐทุนนิยมไทยจากอิทธิพลจักรวรรดินิยม