หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

ไม่มีชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในบ้านเปรม

ไม่มีชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในบ้านเปรม

โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์


ข้อโต้แย้ง (1)

ไม่นานมานี้ บทความ ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งชี้ว่า การที่ยิ่งลักษณ์เดินทางเข้าพบเปรมในบ้านสี่เสาฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบรรดาเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (Network Monarchy) ได้เลือกแล้วว่าจะยืนข้างประชาธิปไตย ผู้เขียนบทความยังตีความไปด้วยว่า นี่คือการแสดงจุดยืนของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์เพื่อการปรับตัวในระยะยาว กลับกัน ท่ามกลางชัยชนะของยิ่งลักษณ์ (เครือข่ายทักษิณ) และฝ่ายประชาธิปไตยในบ้านของเปรม เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับชัยชนะอีกครั้งเช่นกัน เพราะพวกเขารู้ดีว่า “เพื่อเอาชนะใจคนหมู่มาก พวกเขาต้องเลือกใคร”

จากข้อสรุปข้างต้น จึงดูเหมือนว่า ในการต่อสู้ครั้งนี้ ทุกคนจะชนะ เว้นเพียงแต่สุเทพและคณะเท่านั้นที่ถูกหักหลัง ปัญหาคือ หากฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้วจริง ๆ ตั้งแต่ในบ้านเปรม ทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่กันแน่

แน่นอนว่า หากต้องการดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน เครือข่ายสถาบันกษัตริย์จำต้องยอมรับว่าพวกเขามิได้มีอาญาสิทธิ์ตามอำเภอใจ ในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ และควรตระหนักเสียทีว่า ที่มาของอำนาจการปกครองที่ชอบธรรม คือคะแนนเสียงของประชาชน มิใช่เพียงเสียงกระซิบของสถาบันทางวัฒนธรรมอันล้าสมัยใด ๆ ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ กระนั้น เพียงแค่การเข้าพบและแลกเปลี่ยน "ของขวัญ" ระหว่างกัน คือสัญญาณที่เพียงพอแล้วหรือว่าพวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตลอดครึ่งเดือนผ่านมา สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คือการประกาศปิดกรุงเทพฯ ท่ามกลางการคาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่านายทุนเบื้องหลังการประท้วงที่ยืดยาวมาหลายเดือนนี้เป็นใครบ้าง (ในกรณีของคนเสื้อแดง เป็นที่รับรู้และคาดเดาไม่ยากอยู่แล้วว่า นายทุนนั้นคือทักษิณ) เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เครือข่ายสถาบันกษัตริย์เองยังคงให้การสนับสนุนผู้ประท้วง และอย่างน้อยที่สุด บางคนในเครือข่ายนั้นก็ได้เปิดหน้าไพ่ออกมาแล้วว่า เขาหรือเธอไม่มีวันอยู่ข้างประชาธิปไตย ต่อให้ต้องกลายเป็นกบฏ


นอกจากนี้ กระแสความกังวลเกี่ยวกับการก่อรัฐประหารยังมีอยู่จริง แม้ผู้นำระดับสูงของกองทัพจะไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธ และบางคนจะเห็นว่า นั่นเท่ากับการฆ่าตัวตายก็ ตามที ในทำนองเดียวกัน บรรดาเครือข่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่ขึ้นสู่อำนาจจากการคัดสรรโดยบรรดา "ผู้ทรงคุณวุฒิ" ยังคงลอยหน้าขัดขวางการเลือกตั้งพร้อมการปฏิรูป ทั้งยังนำเสนอความคิดที่บิดเบือนหลักการและดูถูกดูแคลนผู้คนอีกมากมายที่ไม่ ได้เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปประเทศที่พวกเขาต้องการ

ที่จริงแล้ว ดูเหมือนผู้เขียนเองก็ไม่ได้มั่นใจในข้อเสนอของตัวเองนัก เนื่องจากยอมรับไว้ว่านี่อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไป ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในตอนท้าย ๆ ก็ออกจะเป็นเสียงกระตุ้นเตือนเครือข่ายกษัตริย์ให้ปรับตัว มากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริงว่าพวกเขาได้ตระหนักแล้วว่าต้องทำอย่างไรเพื่อจะ อยู่รอด

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการตีความนี้จะใกล้เคียงความจริงมากน้อยเพียงใด และไม่ว่านี่จะเป็นสัญญาณถึงชัยชนะของเครือข่ายสถาบันฯ เก่าหรือเครือข่ายสถาบันฯ ใหม่ เป็นชัยชนะของยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย หรือเครือข่ายทักษิณอย่างที่ผู้เขียนเสนอ มันก็ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยหน้าไหนอยู่ดี

การประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำแต่ละกลุ่ม ไม่เคยเป็นสิ่งยืนยันว่า ประชาธิปไตย ที่หมายถึงการเมืองที่วางรากฐานอยู่บนอำนาจของประชาชน จะได้รับชัยชนะ และพลังของประชาชนไม่เคยชนะและจะไม่มีวันชนะ หากเราคิดว่า การเมืองไทยเป็นเพียงเกมกระดานที่มีผู้เล่นไม่กี่สิบคนคอยทอดลูกเต๋า เดินหมาก เล่นละครตามบทที่เขียนไว้หลังฉาก และหลงคิดไปว่าชัยชนะของเราจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เมื่อใครสักคนพาเราเดินไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจของชนชั้นนำมีส่วนอย่างมากในการกำหนดความ เป็นไปทางการเมืองของสังคมไทยโดยรวม ทว่าการต่อสู้เพื่อยืดคืนพื้นที่ทางอำนาจจากมือคนเหล่านั้นให้มากที่สุดต่าง หากที่จะทำให้ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะจริง ๆ
สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่เข้าใจผิดว่า ความพยายามเพียงเล็กน้อยของชนชั้นนำเป็นสัญญาณถึงการยอมลดทอนอำนาจในมือตัว เองลงอย่างสิ้นเชิง และต้องไม่คิดว่าชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่สุเทพและคณะยอมสลายการชุมนุม การเลือกตั้งดำเนินไปตามปกติ และเครือข่ายทักษิณได้กลับมาครองอำนาจ ทว่านักโทษการเมืองยังคงถูกขังลืมอยู่ในคุก ตัวบทกฎหมายยังคงปิดปากไม่ให้เราพูด เรายังต้องขอบคุณทหารที่ไม่ทำรัฐประหาร และสถาบันทางวัฒนธรรมดั้งเดิมต่าง ๆ ล้วนแต่ยังคงตรวจสอบไม่ได้

แน่นอน ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่า เรากำลังฝันถึงโลกอุดมคติที่ไม่มีความขัดแย้งอื่นใดอีกเลย หรือประชาธิปไตยคือ ยาวิเศษ ที่จะทำให้สังคมเป็นสุขอย่างถ้วนหน้ากัน กลับกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งเหล่านี้จะนำเราไปสู่ปัญหาใหม่ ๆ อีกนานานัปการที่รอสังคมไทยก้าวไปให้ถึง ประเด็นคือเราจะก้าวผ่านความขัดแย้งพื้นฐานเหล่านี้ไปได้เมื่อไหร่ พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อไหร่ที่ข้อถกเถียงระดับมูลฐานที่ว่า คนควรเท่าเทียมกันหรือไม่ จะกลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จนแม้ชนชั้นผู้มีการศึกษาจะไม่เชื่อก็กระดากปากที่จะปฏิเสธ และเมื่อไหร่ที่ข้อโต้แย้งว่า ที่สุดแล้ว มนุษย์ไม่เคยและไม่ได้เท่ากันจริง ๆ จะกลายเป็น ข้อโต้แย้งเชิงวิพากษ์ มิใช่ความเชื่อกระแสหลักที่ได้รับการผลิตซ้ำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในสังคม ไทย

ข้อเสนอ (2)

ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรลองพิจารณาการเมืองในมุมมองอื่น อันได้แก่ การเมืองในฐานะการปฏิเสธ มากกว่าจะเป็นการเมืองของการสนับสนุน กล่าวคือ เราไม่จำเป็นต้องเลือกสนับสนุนข้างใดข้างหนึ่งอย่างสุดกู่ แต่เราจำเป็นต้องยืดหยัดปฏิเสธข้างที่ผิดหลักการ พูดให้ชัดคือ สำหรับสังคมที่ใฝ่ฝันจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องต่อต้านทุกฝ่ายที่มีเป้าหมายเพื่อลิดรอนอำนาจไปจากมือเรา

นี่จึงไม่ใช่เพียงการเมืองของการเลือกข้างอย่างที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด 7-8 ปี ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างสี ทั้งยังไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างเครือข่ายสถาบันกษัตริย์กับเครือข่ายทักษิณ หรือระหว่างชนชั้นนำเดิมกับชนชั้นนำใหม่ แต่คือการต่อสู้ระหว่าง เสียงของประชาชนจริง ๆ กับเสียงของคนที่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรมในหมู่ชนชั้นนำเพียงหยิบ มือ

ในแง่นี้ การเลือกปฏิเสธข้างที่ผิดหลักการและมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละที่จะฉกฉวยอำนาจไป จากมือประชาชน จึงไม่ได้ทำให้การต่อต้านการประท้วงที่นำโดยสุเทพและคณะ กลายเป็นสิ่งเดียวกับการสนับสนุนเครือข่ายทักษิณและเพื่อไทยให้กลับมาครอง อำนาจ แต่การต่อต้านพวกเขา (และการต่อต้านรัฐประหาร) คือการต้านการใช้อำนาจนอกระบบ การเล่นนอกกติกา การดูถูกเสียงของเราตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น การเมืองของการปฏิเสธจึงทำให้เราต่อต้านฝ่ายที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย และอำนาจนอกกติกาที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ไปพร้อม ๆ กับการต่อต้านความล้มเหลว โกงกิน หรือฉ้อฉลของเครือข่ายทักษิณและเครือข่ายของนักการเมืองทั้งหลายได้อย่างไม่ ต้องลังเลใจ

การปฏิรูปประเทศไม่ควรเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการเลือกตั้ง เราไม่ควรถูกบีบบังคับให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างสิ่งที่จำเป็นทั้งสองทาง พูดให้ถึงที่สุด การเมืองไทยต้องไม่ใช่เพียงการเลือกสนับสนุนข้างใดข้างหนึ่งอย่างมืดบอด แต่คือการเลือกปฏิเสธทุกข้างที่ละเมิดกติกาและไม่เคารพเสียงของผู้คน ด้วยเหตุนี้ การเมืองของการปฏิเสธจึงมีรากฐานอยู่บนการตั้งคำถามใหม่ที่ว่า ใครกันแน่คือศัตรูที่แท้จริงของเรา

นี่จึงเป็นการปฏิเสธเพื่อเลือกข้างประชาชน เพื่อทำให้นักการเมืองและชนชั้นนำตระหนักในพลังของประชาชนจริง ๆ  และทำให้พวกเขาสำนึกเสียทีว่า การเล่นไม่ซื่อกับประชาชน มีเดิมพันที่สูงเสียจนต้องคิดแล้วคิดอีก และไม่กล้าง่าย ๆ

นี่คือการปฏิเสธเพื่อเลือกข้างที่ทำให้พวกเขารู้ว่า ความชอบธรรมของอำนาจอยู่ในมือเรา ไม่ใช่คนส่วนน้อยที่เอาแต่อวดอ้างว่าตัวเองเป็นคนดี และถือครองอำนาจที่ควรจะเป็นของเราไปอย่างหน้าตาเฉย

ดูเผิน ๆ มวลมหาประชาชนของสุเทพและคณะได้แสดงพลังของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ จริง แต่ปัญหาคือ การเลือกปฏิเสธและเหยียดหยามอำนาจของประชาชนโดยรวม กลับทำให้ความชอบธรรมและอำนาจอธิปไตยที่พวกเขาเรียกร้อง วางอยู่ในมือของ "คนอื่น" เสียตั้งแต่ต้น

เราต้องเลือกข้างที่บั่นทอนกำลังของนักการเมืองที่เราชิงชัง ต้องเลือกข้างที่ทำให้ชนชั้นนำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของใคร ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ สำนึกว่าการดูถูกว่าประชาชนโง่เง่า เท่ากับบั่นทอนอำนาจในมือของพวกเขาเอง

เราต้องเลือกข้างที่ทำให้เสียงของพวกเราแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่การเลือกข้างที่รังแต่จะไปเสริมพลังให้คนเหล่านั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2014/01/51287         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น