หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

การศึกษาภายใต้ทุนนิยม

การศึกษาภายใต้ทุนนิยม



 
การศึกษาภายใต้ทุนนิยม จะปฏิรูปอย่างไร
https://www.youtube.com/watch?v=gie4hW2d5ug 

โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์

ระบบการศึกษาสาธารณะสำหรับประชาชน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังกำเนิดของทุนนิยม เพราะก่อนหน้านี้ ภายใต้ระบบฟิวเดิล ระบบศักดินา หรือระบบทาส คนส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรด้วยเทคโนโลจีพื้นฐาน ดังนั้นคนที่อ่านออกเขียนได้ และคนที่ศึกษาวิทยาศาสตร์ ปรัชญา หรือวรรณคดี มีแค่พวกพระ หรือครูศาสนา หรือในกรณีจีน จะเป็นพวกข้าราชการที่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกไม่กี่คนเท่านั้น

เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามา มีการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ถูกดึงหรือผลักเข้ามาในระบบการผลิตสมัยใหม่และหลุดจากชีวิตชนบท แม้แต่ในชนบทก็เริ่มมีการนำระบบเกษตรทุนนิยมเข้ามาแทนที่การผลิตของเกษตรกรรายย่อย ในระยะแรกๆ ของกำเนิดทุนนิยม หรือที่เขาเรียกกันว่ายุค “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ชนชั้นปกครองยังไม่ต้องการแรงงานฝีมือที่อ่านออกเขียนได้ แค่ต้องการ “ผู้ใช้แรง” ดังนั้นไม่มีระบบโรงเรียนสำหรับเด็กส่วนใหญ่ และผู้ใหญ่ทั้งชายหญิง และเด็กเล็กจนโต ก็ต้องไปทำงานกับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า หรือในเหมืองแร่ แรงงานเด็กแบบนี้มีประโยชน์สำหรับนายทุนที่สามารถจ่ายค่าจ้างน้อยๆ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวกรรมาชีพ เพราะค่าแรงของผู้ใหญ่ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จริงๆ แล้วมันก็ไม่ต่างจากสังคมเกษตรก่อนทุนนิยมด้วย เพราะทุกคนในครอบครัวต้องช่วยทำงานในยุคนั้น เพียงแต่ว่าระบบอุตสาหกรรมมันโหดร้าย สกปรก อันตราย และเต็มไปด้วยวินัยบังคับ ที่มาจากหัวหน้างานหน้าเลือด สภาพชีวิตของคนงานทุกอายุก็แย่ เพราะขาดอาหารที่มีคุณภาพ และขาดแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ ในประเทศยากจนสมัยนี้ เรายังพบแรงงานเด็กและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่สุดจะทนได้ แต่มันเป็นกรณีส่วนน้อยถ้าดูภาพรวมของโลก

เมื่อทุนนิยมพัฒนาขึ้น และมีเทคโนโลจีที่สลับซับซ้อนมากขึ้น นายทุนเริ่มเห็นประโยชน์ของคนงานที่มีทักษะ การศึกษา และฝีมือมากขึ้น ยิ่งกว่านี้แรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างกำไรให้นายจ้าง ย่อมเป็นแรงงานที่มีสุขภาพดีแข็งแรง ดังนั้นมีการนำระบบการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนมาบังคับใช้ผ่านนโยบายและค่าใช้จ่ายของรัฐ แต่เนื่องจากทุนนิยมเป็นสังคมชนชั้น การศึกษาที่รัฐจัดให้คนธรรมดา ย่อมแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการศึกษาในโรงเรียนเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของอภิสิทธิ์ชนที่จัดไว้สำหรับลูกหลานคนรวยและผู้มีอำนาจ

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะรัฐต้องเก็บภาษีจากนายทุน บริษัทต่างๆ และประชาชนทั่วไปสำหรับระบบการศึกษา และแน่นอนนายทุนใหญ่และคนรวยไม่ต้องการจ่ายภาษีสูงๆ เพื่อให้มีการศึกษาระดับเลิศๆ ให้กับเด็กทั่วไปที่พอโตขึ้นแล้วจะมาเป็นคนงาน ส่วนลูกหลานคนมีอำนาจหรือคนรวยเป็นพวกที่จะเตรียมตัวเข้าสู่ชนชั้นปกครอง เขาจึงต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด 

ในระยะแรกเส้นแบ่งระหว่างโรงเรียนหรือสถานที่ศึกษาที่เก็บค่าเรียนสูง กับสถานที่ศึกษาของรัฐที่ให้เรียนฟรี มันเพียงพอที่จะแยกพวกเด็กส่วนใหญ่ที่จะเป็นผู้ถูกปกครองออกจากเด็กที่จะเป็นชนชั้นปกครองในอนาคต แต่พอทุนนิยมพัฒนาถึงระดับสูงขึ้น นายทุนจำเป็นที่จะต้องมีลูกจ้างประเภทที่เป็นช่างฝีมือที่เข้าใจ ใช้ และออกแบบเทคโนโลจีได้ ดังนั้นในโรงเรียนรัฐจึงมีการสอบคัดเลือกเด็กบางส่วน ที่จะเป็นแรงงานฝีมือระดับกลาง และผู้ที่ผ่านการสอบนี้จะมีสิทธิพิเศษเข้าโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพมากขึ้น บางคนอาจได้รับทุนพิเศษเพื่อเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นดีด้วย   


ตลอดเวลาที่ระบบทุนนิยมดำรงอยู่ ผลประโยชน์ของนายทุนในการกอบโกยกำไรสูงสุด บวกกับการที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐและลดการเก็บภาษีกับกลุ่มทุนหรือคนรวย หมายความว่าระบบการศึกษาและการสอบ ถูกออกแบบให้คนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ “ล้มเหลว” คือสอบไม่ผ่านและได้รับการศึกษาพื้นฐานที่เหมาะกับหน้าที่ของตนในอนาคตเท่านั้น ส่วนคนจำนวนหนึ่งที่สอบผ่านจะถูกยกระดับไปสู่คนที่ได้การศึกษาระดับกลางเพื่อให้เป็นช่างฝีมือ และคนอีกส่วนหนึ่งจะได้รับการศึกษาสุดยอดที่เหมาะกับการเป็นผู้ปกครองประชาชนในวันข้างหน้า แต่การสอบตกหรือผ่าน ไม่ได้วัดความฉลาดแต่อย่างใด มันวัดโอกาสของเด็กในแต่ละชั้นชนที่จะได้รับสิ่งอุตหนุนในการสอบผ่านมากน้อยแค่ไหนต่างหาก

ในระบบทุนนิยมสภาพสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยชนชั้นปกครอง แต่ถูกชนชั้นปกครองเหล่านั้นสร้างภาพว่ามันเป็น “ธรรมชาติ” คือเขาจะเป่าหูเราให้เชื่อว่าคนส่วนน้อยฉลาดเป็นพิเศษ คนอีกส่วนหนึ่งฉลาดปานกลาง และคนส่วนใหญ่โง่เขลา แทนที่เราจะมองว่าระบบการศึกษาและการสอบถูกออกแบบให้เป็นแบบนี้แต่แรก

การศึกษาสาธารณะมีความสำคัญสำหรับชนชั้นปกครองในอีกด้านหนึ่งนอกจากการทำให้คนงานมีทักษะมากขึ้น คือในระบบทุนนิยมคนส่วนใหญ่ต้องถูกสอนให้เชื่อง จงรักภักดี และเชื่อฟังชนชั้นปกครอง เพราะในระบบทุนนิยมการรวมตัวกันของคนหมู่มากในเมือง และการที่มีระบบการผลิตสมัยใหม่ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้น คือถ้ารวมตัวกันและนัดหยุดงาน กบฏ หรือปฏิวัติ ก็จะล้มสังคมชนชั้นได้ การศึกษาเป็นดาบสองคมเสมอ มันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและกำไรให้นายทุน แต่ในมุมกลับใครที่ได้การศึกษาดีๆ อ่านออกเขียนได้ ย่อมมีความมั่นใจในการคิดเองเป็น และสามารถหาแหล่งความคิดที่ทวนกระแสได้ และสามารถสื่อสารกับคนที่ต้องการเปลี่ยนสังคมด้วยความสะดวกสบาย ด้วยเหตุนี้ชนชั้นปกครองไม่ต้องการที่จะให้เด็กทุกคน หรือผู้ใหญ่ส่วนมาก มีการศึกษา “ดีเกินไป” เขาต้องมีการกดให้ระดับการศึกษาอยู่ในขั้นพื้นฐานด้วยการสอบคัดเลือกให้คนส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะนอกจากการศึกษาจะทำให้คนมั่นใจที่จะเปลี่ยนสังคมและคิดเองมากขึ้นแล้ว ยังทำให้นักเรียนที่จบออกมาตั้งความหวังว่าตนเองจะมีชีวิตที่ดีด้วย และสำหรับคนส่วนใหญ่ความหวังนั้นจะจบด้วยความผิดหวัง ความไม่พอใจ และความโกรธแค้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ชนชั้นปกครองต้องการหลีกเลี่ยง

การเข้าใจธาตุแท้ของระบบการสอบ ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เบอร์คเล ในสหรัฐอเมริกาในยุคประท้วงใหญ่ 45 ปีก่อนหน้านี้ กดดันให้มหาวิทยาลัยออกแบบหลักสูตรที่ไม่มีการสอบ แต่เมื่อกระแสกบฏลดลงหลักสูตรนี้ก็หายไป

ประเด็น สำคัญเกี่ยวกับระบบทุนนิยมอีกประเด็นหนึ่งที่เราควรเข้าใจคือ ทุนนิยมเป็นระบบที่อาศัยการแข่งขันในตลาด ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มของการลดลงของอัตรากำไรและการผลิตล้นเกิน วิกฤตเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นในระบบทุนนิยมเป็นประจำ และท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเรามักจะได้ยินเสียงของนายทุนที่เรียกร้องให้ รัฐบาลตัดงบประมาณ และประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการลดภาษีด้วย สภาพเช่นนี้เป็นแรงผลักดันให้มีการศึกษาราคาถูก ที่เน้นการท่องจำและยัดวิชาใส่หัวนักเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่ โดยที่สามารถตัดเครื่องมือการสอน จำนวนครู และคุณภาพการศึกษาได้

ถ้าจะเข้าใจการศึกษาในระบบทุนนิยม เราต้องมองความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เสมอระหว่างความต้องการที่จะมีแรงงานฝีมือที่มีทักษะสูง กับความต้องการที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐ มันไม่เคยเป็นอันใดอันหนึ่งเท่านั้น มันเป็นสองสิ่งที่ขัดแย้งกันที่ดำรงอยู่ด้วยกันท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีและการขึ้นลงของเศรษฐกิจเสมอ วิธีมองสังคมที่มีความขัดแย้งแบบนี้เรียกว่า “วิภาษวิธี” และการเชื่อมระบบการศึกษากับแต่ละยุคสมัยและผลประโยชน์นายทุนเราเรียกว่า “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ซึ่งสองวิธีการวิเคราะห์นี้เป็นหัวใจของแนวคิดมาร์คซิสต์

จะเห็นได้ว่าการศึกษาในระบบทุนนิยม ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของพลเมืองทุกคน แต่ถูกออกแบบเพื่อประโยชน์ของนายทุนเป็นหลัก แต่แน่นอนนายทุนไม่สามารถควบคุมผลที่เกิดขึ้นตลอดไป สาเหตุสำคัญที่ชนชั้นนายทุนไม่ได้ควบคุมสถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากเรื่องพลวัตความขัดแย้งระหว่าง ความต้องการที่จะมีแรงงานฝีมือที่มีทักษะสูง กับความต้องการที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐแล้ว ยังมีอีกปะเด็นที่สำคัญมากคือ ระบบการศึกษาและทุกระบบในสังคมประกอบไปด้วย “คน” และคนสามารถคิดเองเป็น ดังนั้นบ่อยครั้งจะเกิดครูที่ต้องการสอนนักเรียนในลักษณะก้าวหน้าปลดแอก ไม่ใช่สอนไปเพื่อให้เด็กรับใช้เจ้านายในอนาคต และบ่อยครั้งจะเกิดนักเรียนที่กบฏ ชอบตั้งคำถาม และท้าทายกระแสหลัก นี่คือความหวังสำหรับเราในทุกยุคทุกสมัย แต่เราไม่ควรลืมคำของมาร์คซ์ว่า “มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนและสร้างโลก แต่ไม่ได้กระทำในบริบทที่ตนเองเลือก” นั้นคือสาเหตุที่เราต้องทั้งสนับสนุนการกบฏของปัจเจก และการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาและโครงสร้างสังคมพร้อมกัน

ในระบบทุนนิยมเราอาจพูดได้ว่ามันเป็นการศึกษาเพื่อกดขี่ขูดรีดคนส่วนใหญ่ มันเป็นการศึกษาเพื่อผู้กดขี่ แต่ในสังคมนิยมที่เราจะสร้างในอนาคต การศึกษาต้องถูกออกแบบโดยคนส่วนใหญ่ ที่ขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินร่วมกันในสังคม เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์พิเศษของพลเมืองแต่ละคน และในช่วงทางผ่านหรือช่วงที่เราต้องสู้กับทุนนิยมและชนชั้นปกครอง เราต้องผลักดันการศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่ให้มากที่สุด เพื่อสร้างทักษะในการกำหนดอนาคตของตนเองและการต่อสู้ทางชนชั้น

เมื่อ เราเสนอ “การศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่” หรือการศึกษาก้าวหน้าเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ เราต้องการเห็นมันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสวัสดิการ และเราจะรณรงค์เรียกร้องและกดดันให้โรงเรียนรัฐปฏิรูปการศึกษาไปในทิศทางนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่ เราจะไม่ใช้แนวคิด เอ็นจีโอ ที่เคยตั้งโรงเรียน “ตัวอย่าง” สำหรับคนกลุ่มน้อย และหันหลังให้รัฐ เพราะมันไม่นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนส่วนใหญ่เลย และในกรณีไทยนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ที่เคยตั้งโรงเรียนตัวอย่างดังกล่าว ได้แสดงธาตุแท้ของแนวคิด โดยเข้าไปเป็นแกนนำของพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ที่เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร และที่ดูถูกคนส่วนใหญ่ที่เป็นเสื้อแดงว่า “โง่” นั้นคือสิ่งตรงข้ามกับปรัชญาการศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่ที่จะทำให้ผู้ถูกกด ขี่ปลดแอกตนเองได้

เพาโล แฟรรี (Paulo Freire) เป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและนักคิดสาย ศึกษาธิการชาวบราซิลที่เสนอทฤษฏีก้าวหน้าเรื่องระบบการศึกษาในหนังสือ การเรียนรู้ของผู้ถูกกดขี่

แฟรรี เสนอว่า “การเรียนรู้ของผู้ถูกกดขี่จะต้องถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ถูกกดขี่เอง ไม่ใช่เพื่อคนที่ถูกกดขี่  และหัวใจของการเรียนรู้แบบนี้คือการวิเคราะห์และสะท้อนในเรื่องสภาพการกดขี่และสาเหตุของมัน แต่ผู้ถูกกดขี่จะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบนี้ได้อย่างไรจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการทำความเข้าใจว่าตัวเองกลืนแนวความคิดของผู้มีอำนาจเบื้องบนเข้าไปในร่างของตัวเอง การต่อสู้กับความขัดแย้งในตัวแบบนี้จะเกิดขึ้นจากการสอนในนามธรรมไม่ได้มันต้องเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ การเรียนรู้ของผู้ถูกกดขี่ไม่ใช่เรื่องของการอธิบายปัญหาต่างๆให้คนอื่นฟัง แต่เป็นเรื่องของการถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล  การเรียนรู้แบบนี้จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงถ้ามองว่าผู้ถูกกดขี่เป็นคนที่น่าสงสารอ่อนแอหรือเสียเปรียบ เพราะนั่นเป็นการลอกแบบความคิดของผู้มีอำนาจหรือผู้กดขี่ การปฏิบัติในเรื่องการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ ต้องกระทำบนพื้นฐานการไว้ใจคนที่ถูกกดขี่ว่ามีความสามารถในการใช้เหตุผล  และจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้ผู้ถูกกดขี่พึ่งพาผู้ที่เขามองว่าเป็นผู้รู้ โดยไม่มีการเปิดโปงว่าการพึ่งพาแบบนี้คือจุดอ่อน อย่างไรก็ตามการเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นมอบให้ได้มันต้องทำเอง”

แฟรรี เน้นความสำคัญของกลุ่มศึกษา โดยเสนอว่า “การเรียนรู้เพื่อปลดแอกมนุษย์ต้องเป็นกิจกรรมรวมหมู่ ทำคนเดียวไม่ได้ คนในกลุ่มศึกษาต้องคิด ถกเถียง สะท้อน และพัฒนาความคิดด้วยกันเสมอ บทบาทของ ครู หรือ แกนนำ ในขบวนการปฏิวัติ คือเป็นผู้นำเสนอประเด็นปัญหา เพื่อให้สมาชิกกลุ่มศึกษาค้นหาความหมายและทางออกให้ลึกลงไป หลังจากนั้นผู้ที่เป็นครูควรฉายภาพการนึกคิดของ นักเรียน กลับไปสู่เขา เพื่อตั้งประเด็นปัญหาเพิ่ม ครูมีหน้าที่ประสานการเรียนรู้ และบางครั้งอาจเสนอทิศทางได้ แต่ไม่ควรสอนแบบยัดความรู้จากมุมมองตนเองใส่ผู้ร่วมเรียน”

แฟรรี่ โจมตีวิธีสอนกระแสหลักที่เขาเรียกว่า ระบบการศึกษา ฝากธนาคาร แนวกระแสสหลักแบบนี้มองว่านักศึกษาเป็นเพียงภาชนะที่จะถูกเติมเต็มโดยครู ยิ่งเติมเต็มได้แค่ไหน นักเรียนก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แต่ แฟรรี เสนอว่าในระบบนี้ นักศึกษายิ่งขยันทำงานรับความรู้เข้าหัวตัวเองมากแค่ไหน เขาจะยิ่งหมดสภาพในการใช้สมองเพื่อตั้งคำถามและวิเคราะห์โลกเท่านั้น และเขาจะยิ่งอ่อนแอที่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกมากขึ้น เขาจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่ดำรงอยู่ ระบบการศึกษาแบบ ฝากธนาคารสร้างประโยชน์ให้กับนายทุนผู้กดขี่มหาศาลเพราะทำลายความสามารถในการคิดเองและการออกมาเปลี่ยนแปลงโลกเองของนักศึกษา ซึ่งนำไปสู่การปกครองคนที่เชื่องและจงรักภัคดีและที่แย่ที่สุดคือนำไปสู่การทำลายความเป็นมนุษย์ของนักศึกษา

การศึกษาแบบสังคมนิยมมีเป้าหมายในการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเพิ่มความสามารถของทุกคนที่จะร่วมกันกำหนดรูปแบบสังคมและทิศทางการพัฒนา มันเป็นการศึกษาที่ไม่จำกัดแค่ช่วงหนึ่งในชีวิต เช่นแค่ในวัยเด็ก แต่เป็นการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีพเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ตรงข้ามกับการศึกษาภายใต้ทุนนิยม ซึ่งออกแบบมาเพื่อรับใช้ผลประโยชน์นายทุน 

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2014/01/blog-post_18.html               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น