ธงชัย วินิจจะกูล: ภาพลวงตาของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์”
Thongchai Winichakul: Hyper-royalism: Its spells and Its Magic
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=icM7PtlaSdA
“ธงชัย” ชี้เงื่อนไขการเติบโตของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์” มาจากวาระทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม และความหวั่นกลัวต่ออนาคตของสถาบันฯ ประกอบกับกระบวนการ “แปรความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า” และวัฒนธรรมการจ้องมองก็ได้ยิ่งทำให้สภาวะดังกล่าวกลายเป็น “ภาพลวงตา”
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ร่วมจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "Democracy and Crisis" หรือ "ประชาธิปไตยและวิกฤติการณ์" โดยหนึ่งในหัวข้อการอภิปรายมีหัวข้อเรื่อง สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย โดยประชาไทขอนำเสนอในส่วนการอภิปรายโดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ดังนี้
ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นจากพิธีกรรม และการประกอบพิธีต่างๆ ของราชวงศ์ที่มีอยู่ทุกทีและสามารถพบเห็นได้ทุกเวลา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519เป็นต้นมาเขาชี้ว่าไฮเปอร์รอยัลลิสม์ไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกผลิตโดยรัฐเท่า นั้น แต่เป็นเรื่องที่สาธารณชนและประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ
ในแง่หนึ่ง เมื่อเทียบกับเสรีภาพทางศาสนา คนไทยยังมีสิทธิเลือกศาสนาและแสดงออกต่างกันได้ แต่ในแง่ของความจงรักภักดี หรือความเป็นกษัตริย์นิยมนั้นคนไทยกลับเลือกได้น้อยกว่า และประชาสังคมก็มีความอดทนต่อคนที่เห็นต่างไปน้อยเสียยิ่งกว่าการเห็นต่าง ทางศาสนา
ธงชัยได้ตั้งคำถามที่สำคัญสามข้อต่อไฮเปอร์รอยัลลิสม์คือ
อะไรที่ทำให้เกิดสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์?
สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในภาวะสมัยใหม่/ประเทศไทยเองเป็นรัฐสมัยใหม่หรือยัง ?
สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในสภาพสังคมที่เปิด เป็นฆราวาส และเข้าสู่การใช้เหตุผลสมัยใหม่แล้ว?
ธงชัยขยายความต่อถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสภาวะรอยัลลิสม์ โดยชี้ว่ามาจากเหตุผลสองด้าน อย่างแรก มาจากการที่ฝ่ายนิยมเจ้าต้องการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภายหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎร ซึ่งฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการสถาปนาอำนาจเหนือประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม (Royalist Democracy)
ต่อมาการขึ้นสู่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเต็มที่ใน สมัยของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัตช์ ราวต้นทศวรรษที่ 2500ซึ่งตรงกับสมัยสงครามเย็น และด้วยนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่มุ่ง ปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐหันมาสร้างพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ไทย และถึงแม้ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมจะมีความไม่เสถียรทางอำนาจอยู่บ้างใน ช่วงนี้ โดยเฉพาะการที่ต้องเจรจาอำนาจกับกองทัพ แต่เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ก็แสดงให้เห็นว่าสถาบันฯ สามารถเจรจาผลประโยชน์กับกองทัพได้อย่างสำเร็จและลงตัว
ธงชัยชี้ว่า ในปี 2518 ซึ่งเป็นการปฏิวัติอินโดจีน เป็นช่วงที่สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์เริ่มต้นขึ้นจนมาถึงในสมัยเหตุการณ์พฤษภา 2535 ภาพของสุจินดา คราประยูร และจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อไกล่เกลี่ยเหตุการณ์ความวุ่นวาย ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการบรรลุอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการ เมืองได้อย่างสำเร็จ
เรื่องที่น่าสนใจคือว่า เมื่อสถาบันฯ เริ่มกล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงทศวรรษ 1990 (ราวทศวรรษ 2530) กลับทำให้คนที่คิดต่างทางอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็นกลายมาเป็นพวกเดียวกันจะ เห็นจากการที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมและคนที่เคยสมาทานคอมมิวนิสต์ล้วนกลายมาเป็น คนเสื้อเหลืองได้ ก็เพราะมีความหวาดกลัวต่อทุนนิยมและนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อันเป็นผล มาจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ความกลัวในสังคมจะเกี่ยวกับขบวนการคอมมิวนิสต์
ธรรมราชาที่เปลี่ยนความหมาย
ธงชัยกล่าวว่า เมื่อพูดถึงธรรมราชาในสมัยโบราณคือสมัยอยุธยาขึ้นไปนั้น เป็นการพูดภายใต้บริบทของ ฮินดู หรือเขมร ในขณะที่ธรรมราชาในปัจจุบันนี้เปลี่ยนความหมายไป พระองค์เจ้าธานีนิวัต (พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม ทรงพยายามอธิบายว่ากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้เป็นเทวราชาแบบเก่าแต่เป็น “ธรรมราชา” พยายามสร้างคำอธิบายและจัดการความรับรู้ การเป็นธรรมราชาในแง่นี้คือ มีหลักจริยธรรมของราชา แต่ไอเดียที่ว่ากษัตริย์ต้องรับใช้ประชาชน เริ่มเมื่อทศวรรษ1980 (ราว 2520) นี่เอง ไม่ได้มีมาก่อนหน้านั้น กษัตริย์สมัยโบราณนั้นไม่ได้มีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่รักษาสถานภาพตัวเองและอยู่ในราชวัง ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่กษัตริย์ที่คิดว่าต้องรับใช้ประชาชนนั้นเป็นกษัตริย์สมัยใหม่
วาทกรรมของพวกไฮเปอร์รอยัลลิสม์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกินสามสิบ-สี่สิบปี มานี้ โดยผลิตออกมาหลายเวอร์ชั่น เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัติ และสำนักกษัตริย์นิยมผลิตคำอธิบายว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนที่อื่น มีความเป็นเอกลักษณ์ ในทางตรงกันข้าม หากเราฟังข้อเสนอจากนิติราษฎร์หรือผู้สังเกตการณ์บางส่วน ที่ยกเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกมาโต้แย้ง ก็จะเห็นว่าสองฝ่ายนี้มีมุมมองที่สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด นี่แสดงว่าพวกเราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน และในสองภาษาที่แตกต่างกันนี้ ถ้าเรามานั่งบนโต๊ะเดียวกันเพื่ออภิปรายเราก็พบว่าเราพูดจากันคนละเรื่อง
ธงชัยย้ำถึงคำอธิบายเกี่ยวกับอำนาจอธิปัตย์โดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งระบุว่ารัฐฐาธิปัตย์ เป็นการใช้ร่วมกันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน และจริงๆ แล้วอำนาจรัฐนั้นเป็นของกษัตริย์แล้วมอบให้ประชาชน เป็นการใช้อำนาจร่วมกัน จากนั้นประชาชนก็ยกอำนาจให้กษัตริย์ทำแทน แล้วอำนาจจะกลับมาสู่ประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง
ธงชัยอธิบายว่าเขาเรียกวาทกรรมเช่นนี้ว่า เวทมนตร์ หรือ “Spell” เพราะว่าวาทกรรมแบบนี้ไม่ใช่การใช้เหตุใช้ผลไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์ และเมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เมื่อพื้นที่สาธารณะที่ปกครองด้วย “Magic” ก็สงสัยว่าเราตั้งคำถามถูกหรือเปล่า เพราะเราจะเรียกร้องให้คนมาอภิปรายกันเรื่องเวทมนตร์ได้หรือ เพราะการใช้เหตุผลยิ่งเป็นการคุกคามและเป็นอันตรายต่อตัว “ศรัทธา” หรือ “เวทมนตร์” นั้นเอง
คำอธิบายแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็คือ “มายาภาพที่เป็นสมัยใหม่” ชนิดหนึ่ง (Modern Magic)รอยัลลิสม์สมัยใหม่ของไทยนั้นแตกต่างจากรอยัลลิสม์ของฝรั่งที่มี เหตุผลเกินไป เพราะรอยัลลิสม์สมัยใหม่แบบไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเวทมนตร์ที่น่าลุ่มหลงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน(increasingly enchanted Magic)โดยหากเปรียบเทียบกับ “ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5”แล้ว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก็เสมือนกับเป็น “ลัทธิ” ที่ถูกมองว่ายึดเหนี่ยวเสถียรภาพของสังคมเอาไว้
ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า (Commodification of Royalism) และการบริโภค การทำให้สถาบันฯ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถเสพได้ผ่านการมอง (Visual Culture) ทั้งโทรทัศน์ พิธีกรรม การผลิตซ้ำในรูปแบบอื่นๆ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยที่ไม่ได้ฟังมากนักหากแต่ได้เห็นบ่อยๆ (Public Spectacle)
สุดท้ายธงชัยย้ำว่า ในภาษาอังกฤษความหมายของ “Magic” อาจจะแปลได้ว่าสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่มันก็แปลได้อีกว่าเป็น “มายาภาพ/มายากล” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลอกความคิดของเราและในทางตรงกันข้าม “ภาวะตาสว่าง” ก็คงจะเป็นการใช้คำได้อย่างถูกต้องแล้ว เพราะมันหมายถึง คือการเปิดตาขึ้น การตื่นรู้ และรู้ทันต่อสิ่งที่หลอกตาเพราะท้ายที่สุดแล้ว สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็เป็นเพียงมายาภาพเท่านั้น
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/post/2012/03/27
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น