หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คำถามถึง ''เพื่อไทย'' ขึ้นค่าแรง 300 แค่ประชานิยมหรือตั้งเป้ารัฐสวัสดิการ

คำถามถึง ''เพื่อไทย'' ขึ้นค่าแรง 300 แค่ประชานิยมหรือตั้งเป้ารัฐสวัสดิการ

 

วรวิทย์ เจริญเลิศ ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ถาม "พรรคเพื่อไทย" ก้าวต่อไปของนโยบายค่าจ้าง 300 บาทคืออะไร แค่ประชานิยมหรือไกลกว่านั้น เสนอรัฐสวัสดิการต้องคุ้มครองแรงงานด้านกฎหมายด้วย ชี้ประเทศตะวันตกพัฒนารัฐสวัสดิการผ่านการต่อสู้หลายมิติจนตกผลึก แต่ของไทย ยังสู้กันอยู่เรื่องสิทธิทางการเมือง-การแสดงความเห็น

(11 ก.ค.55) วรวิทย์ เจริญเลิศ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ประจำปี 2555 ในหัวข้อ "สังคมไทยกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ: การก้าวพ้นประชานิยม" จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 40% มีนัยสำคัญเชิงนโยบายในการไปสู่นโยบายค่าจ้างสูง อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพียงประชานิยมหรือพรรคเพื่อไทยต้องการมากกว่านี้

ทั้งนี้เขามองว่าประชานิยมนั้นใกล้กับคำว่า "สงเคราะห์" ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า การจะไปสู่รัฐสวัสดิการจะต้องขยับจากเรื่องของความมั่นคงทางสังคม (Social security) เช่น การประกันสังคม ไปสู่การปกป้องทางสังคม (Social protection) ซึ่งเป็นการคุ้มครองในมิติทางกฎหมายด้วย เพราะที่ผ่านมา ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นายจ้างเอารูปแบบการจ้างงานยืดหยุ่นเข้ามาใช้ จ้างเหมาค่าแรง ใช้สัญญาจ้างชั่วคราว รัฐควรเข้ามาคุ้มครองตรงนี้ รวมถึงคุ้มครองให้คนทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย ก่อนจะพัฒนาไปสู่การไม่ใช้แรงงานราคาถูก พัฒนาทักษะแรงงาน ไม่พึ่งการส่งออก และพัฒนาตลาดในประเทศหรือภูมิภาค

วรวิทย์ กล่าวถึงการได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการในประเทศตะวันตกว่าเกิดจากการต่อสู้ของ ขบวนการภาคประชาชนนาน 200-300 ปี ตั้งแต่การสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด ก่อให้เกิดสิทธิพลเมือง เปลี่ยนจากรัฐรวมศูนย์ใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นรัฐเสรีนิยม ใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย นำมาสู่สิทธิทางการเมือง เมื่อทุนนิยมเข้ามา เกิดความขัดแย้งกับแรงงาน ก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคม เป็นรัฐสวัสดิการในที่สุด และแม้ว่าในกระแสเสรีนิยมใหม่ จะมีความพยายามรื้อรัฐสวัสดิการ แต่ทำได้อย่างมากก็เพียงการจำกัดสิทธิ เพื่อตัดค่าใช้จ่าย หรือโยงการให้สวัสดิการเข้ากับการกลับเข้าทำงานเท่านั้น แต่ไม่เคยมีการยกเลิกรัฐสวัสดิการ

(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2012/07/41503

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น