หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การริเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการในยุโรป

การริเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการในยุโรป
 

 
แนวคิดสำคัญที่ก่อหวอดให้มีการพูดถึงบทบาทของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมทางชนชั้น คือ แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (Social democracy) แก่นแกนของความคิดนี้มองว่า รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนเพื่อลดความยากจน 

โดย พจนา วลัย 


ในยุโรป นโยบายแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของรัฐในการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน ก่อนหน้าที่จะมีการใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ คือ นโยบายประกันอุบัติเหตุในสถานประกอบการ (ปี 1884) นโยบายประกันสุขภาพ (ปี 1883) ของประเทศเยอรมนี และขยายไปยังประเทศใกล้เคียง ในปี 1920 ประเทศในยุโรปจำนวน 10 ประเทศยอมรับรูปแบบของรัฐว่าต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของการว่างงาน เช่น การให้ค่าครองชีพแก่ครอบครัว  ต่อมาคำว่า “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) ถูกใช้อธิบายรัฐอังกฤษหลังปี 1945 เป็นครั้งแรกและใช้ทั่วยุโรป โดยความหมายครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในแง่สังคม คือ การเรียกร้องให้มีการสร้างหลักประกันสังคมเพื่อความเสมอภาคด้านโอกาส ส่วนในแง่เศรษฐกิจคือ การหยุดยั้งความยากจนและการว่างงานทั่วไป
 
ตัวอย่างกฎหมายและระเบียบสำคัญๆ ในการวางรากฐานของรัฐสวัสดิการในสวีเดน ได้แก่

1847    ระเบียบว่าด้วยการอภิบาลคนจน
1889    กฎหมายคุ้มครองการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน
1901    กฎหมายเกี่ยวกับเงินชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุในที่ทำงาน
1912    กฎหมายคุ้มครองการทำงาน
1914    การประกันสังคมทั่วไป
1919    การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
1931    เงินช่วยเหลือจากรัฐยามป่วยไข้
1934    การประกันการตกงาน
1935    กฎหมายเกี่ยวกับเงินบำนาญประชาชน
                        ฯลฯ

รัฐสวัสดิการถูกสร้างในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังปีค.ศ. 1945  เห็นได้จากการเสนอรายงานประกันสังคมของ เซอร์วิลเลียม เบเวอร์ริดจ์(Sir William H. Beveridge) ต่อรัฐบาลพรรคแรงงาน ประเทศสหราชอาณาจักร  เซอร์เบเวอร์ริดจ์ มองว่ารัฐจำเป็นต้องขจัดความชั่วร้ายทางสังคม และประกันการจ้างงานเต็มที่ รวมถึงสร้างหลักประกันสังคมจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน การบริการสาธารณสุขแห่งชาติ การเคหะ เงินบำนาญสำหรับผู้สูงวัย และควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่คือ เคนเชียน (Keynesianism)
 
เราสามารถกล่าวได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคทองของการสร้างรัฐสวัสดิการ(ค.ศ.1945-1975) กล่าวคือ

1) มีการปฏิรูประบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า มาตรฐานเดียว ครอบคลุม บนฐานคิดสิทธิความเป็นพลเมืองร่วมกัน

2) จัดการทรัพยากรให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างกว้างขวางสอดรับกับระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

3) สร้างฉันทามติทางการเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบผสมผสาน(รัฐและ เอกชน) และการจัดระบบสวัสดิการสังคมที่ขยายการบริการสาธารณะ

4) มีพันธกิจต่อการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและจ้างงานเต็มที่  อย่างไรก็ตามเกิดวิกฤตของรัฐสวัสดิการในยุคหลัง 1970 เป็นต้นไป เนื่องจากถูกโต้แย้งโดยนักเสรีนิยม
 
แนวคิดสำคัญที่ก่อหวอดให้มีการพูดถึงบทบาทของรัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมทางชนชั้น คือ แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (Social democracy) แก่นแกนของความคิดนี้มองว่า รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนเพื่อลดความยากจน และเพื่อรักษาระเบียบของรัฐเอาไว้ รวมถึงการขยายสิทธิและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเทศอย่างเต็มที่ เช่น สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไป

นโยบายสวัสดิการ การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งมาจากการผลักดันของพรรคการเมืองแนวทางสังคมประชาธิปไตย ได้แก่ พรรคสังคมประชาธิปไตยในเยอรมนี(German Social Democracy Party) พรรคสังคมประชาธิปไตยในสวีเดน(Social Democracy of Sweden) ซึ่งเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาลอยู่ถึง 44 ปี(ค.ศ.1932-1976) และคืนอำนาจในปี 1982 สลับกันขึ้นครองอำนาจกับพรรคของนายทุน พรรคแรงงานในอังกฤษ(Labour Party of Britain)
 
ต่อมารัฐสวัสดิการในยุโรปถูกโต้แย้งว่า จากการที่รัฐเก็บภาษีสูง ทำให้การลงทุนหดตัว ทำลายการแข่งขัน เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เงินออมมีน้อยลง ไม่ได้ช่วยให้จำนวนคนว่างงานลดลง อย่างไรก็ตาม สวีเดนเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงรักษาความเป็นรัฐสวัสดิการเอาไว้ได้ ซึ่งมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ยังดำรงอยู่ ได้แก่ การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้รักษาไว้ เป็นต้น

แนวคิดสังคมประชาธิปไตย
 
แนวคิดสังคมประชาธิปไตยเป็นแนวคิดว่าด้วยรัฐ สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหาความยากจน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้  หากสืบสาวแนวคิดสังคมประชาธิปไตย สามารถกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากเฟอร์ดินานด์ ลาซาลล์ ในทศวรรษ 1880 เป็นต้นมา หรือช่วงของการเกิดสากลที่ 2 (Second International) ภายใต้เงื่อนไขบริบทของสังคมยุโรปที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการริเริ่มทางความ คิดว่าด้วยรัฐสวัสดิการ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบการปกครองของกษัตริย์ เผด็จการทหาร การเกิดการปฏิวัติรัสเซีย การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่นำไปสู่กระแสความตกต่ำของรัฐสมัยนั้น จึงมีขบวนการเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ไม่ให้กดขี่ประชาชน
 
เฟอร์ดินานด์ ลาซาลล์(Ferdinand Lassalle) ชาวปรัสเซียน (ค.ศ.1825-1864) ซึ่งยังอยู่ในยุคของคาร์ล มาร์คซ์ เป็นผู้นำสำคัญในขบวนการสังคมนิยมในประเทศเยอรมนี ได้ก่อตั้งกลุ่ม General German Workers’ Association (ADAV) และรวมกับกลุ่ม League of German Workingmen’s Association ก่อตั้งโดยลิบเนค(Liebknecht) และเบเบล(Bebel) เป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ในยุคของรัฐบาลเผด็จการบิสมาร์ค(Bismarck) เป็นนายกรัฐมนตรี(ค.ศ.1861) แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (Deutsches Reich หรือ German Empire)
 

ลาซาลล์ เชื่อมั่นในพลังการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน เขาจึงเสนอให้มีการจัดตั้งพรรคแรงงานที่เป็นอิสระจากชนชั้นกลาง และได้เป็นประธานกลุ่ม ADAV ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี 

ทว่าความคิดของลาซาลล์ แตกต่างจาก คาล มาร์กซ์ เนื่องจากลาซาลล์ให้ความหมายคำว่า “รัฐ” แตกต่างโดยเขาใช้แนวคิดอุดมคติของเฮเกล กล่าวคือ เขามองว่า รัฐคือเครื่องมือในการปรับปรุงสภาพความยากลำบากของแรงงาน เพราะทุนนิยมไม่สามารถนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานได้เลย อีกทั้งกลไกตลาดจะนำไปสู่วิกฤต การล้มละลายและการสะสมทุนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐจึงต้องมีบทบาทในการดูแลสถานะของผู้ใช้แรงงาน เช่น สนับสนุนเงินกู้ยืมสำหรับจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิต รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด และควรเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงให้แก่มนุษยชาติ ในขณะที่มาร์กซ์ไม่เชื่อว่า สหภาพแรงงานจะสามารถปรับปรุงสภาพการทำงานและเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงภายใต้ ระบบทุนนิยมและกลไกรัฐที่เป็นอยูj

ลาซาลล์ยังให้ความหมาย “สังคมนิยม” ว่าคือประชาธิปไตยในทางการเมือง การเลือกตั้ง เสรีภาพในการพิมพ์และการรวมตัว การลงประชามติ รัฐเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนโดยรวม เขาเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นหนทางที่ประชาชน รวมทั้งแรงงานสามารถพัฒนาได้ แต่รัฐจะเป็นผู้วางบทบาทตำแหน่งของปัจเจกบุคคลให้บรรลุเป้าหมายและรักษา ระดับความมีอยู่ เช่น ให้เข้าถึงการศึกษา อำนาจ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์
 
เขาและผู้นำเช่นลิบเนคและเบเบลมีความคิดเห็นตรงกันในเรื่องบทบาทของรัฐ การเลือกตั้ง กฎหมายที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ ด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และการผลักดันให้พรรคการเมืองของแรงงานเข้าสู่อำนาจรัฐ ลาซาลล์จึงถูกขนานนามว่าเป็นนักปฏิรูปไม่ใช่นักปฏิวัติ ดังเห็นได้จาก Gotha Program ของพรรคสังคมประชาธิปไตยของเยอรมนี(SPD) อันเป็นนโยบายพรรคที่จัดทำขึ้นในวันที่ 23-27 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1875 สะท้อนความคิดของเขา คือ การให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาของแรงงาน เช่น การจ้างงาน ขจัดการเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีสหกรณ์ของแรงงานภายใต้การสนับสนุนของรัฐแต่บริหารงานควบคุมโดยแรงงาน นั่นคือการใช้กลไกรัฐที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อแรงงาน
 
มรดกทางความคิดของลาซาลล์ที่จะพัฒนาแนวทางสังคมนิยมเป็นที่ถกเถียงในบรรดา นักสังคมนิยมในเวลาต่อมา เช่น เบิร์นสไตน์ เคาสกี้ แต่ในที่สุดเยอรมนีได้นำเอาแนวทางของลาซาลล์มาใช้ คือ แนวทางสังคมประชาธิปไตย ประนีประนอมระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ทว่าการใช้ประโยชน์จากกลไกรัฐภายใต้การนำของบิสมาร์คไม่ประสบความสำเร็จ

อีกทั้งแนวคิดนี้อ่อนกำลังลงในช่วงที่มีการประกาศกฎหมายต่อต้านสังคมนิยม หรือเรียกว่า Socialist Law เป็นเวลา 12 ปี(1878-90)  ทั้งนี้ บิสมาร์คเกรงว่าพรรคสังคมนิยมจะขยายตัวเติบใหญ่จนคุกคามอำนาจรัฐของตนได้ การหยิบยื่นโครงการประกันสุขภาพและตามด้วยการประกันอุบัติเหตุในปี 1884 จึงมีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงความจงรักภักดีจากคนงาน และเพื่อแยกสลายขบวนการสังคมนิยม

แนวคิดสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทย

แนวคิดสังคมประชาธิปไตยเคยถูกใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างการ เมืองเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ระบุไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจของท่าน ปรีดี พนมยงค์ โดยกล่าวว่า

“ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้ โดยวิธีให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร(Social Assurance) กล่าวคือ ราษฎรที่เกิดมาย่อมได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรก็จะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ 
ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เมื่อรัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ เพราะตนไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเจ็บป่วยหรือพิการหรือชราแล้ว จะต้องอดอยาก หรือเมื่อตนมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยบุตร เมื่อตนได้สิ้นชีพไปแล้วว่า บุตรจะอดอยากหรือหาไม่ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว การประกันนี้ย่อมวิเศษยิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเอง ก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยงแท้ดั่งได้พรรณนามาแล้ว”
 
นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากนโยบายหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดสังคมประชาธิปไตยคือ การให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อนำไปจัดสรรบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ถูกฝ่ายตรงข้ามขัดขวางสำเร็จในที่สุด หน่ออ่อนของการนำแนวคิดสังคมประชาธิปไตยดังกล่าวจึงถูกสกัดออกไปจากสังคมไทย ในช่วงนั้น
 
นอกจาก ปรีดี พนมยงค์ แล้วยังมีนักคิดในแนวทางเดียวกันนี้อีก ได้แก่ แคล้ว นรปติ หัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ผู้ตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ทองปัก เพียงเกษ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 

ทั้งนี้ในช่วงของการต่อสู้สมัย 14 ตุลาคม 2516 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับการยอมรับ และได้ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2518  อย่างไรก็ตาม การเบ่งบานทางความคิดทางด้านสังคมนิยมถูกทำลายโดยเผด็จการ จากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักคิดนักสู้แนวทางสังคมนิยมถูกจับด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ คุกคามความสงบของสังคมไทย หลายคนหลบหนีเข้าป่า เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากนั้นขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยจึงปิดฉากลง
 
แม้ว่าขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยจะถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่ความคิดสังคมประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ ดังเห็นจากแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติ เป็นเพียงแต่การพูดถึง ล่าสุดในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการเสนอยกเลิกกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วร่างกฎหมายใหม่ แทนคือ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....... ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เห็นชอบ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม และจะไปสู่การบรรจุในการพิจารณาของสภาฯ แน่นอนในวาระแรก แต่ทว่ารัฐบาลชุดนี้จะพิจารณาไม่ทัน เพราะได้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2554

ท้ายที่สุด ร่างกฎหมายนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใดภายใต้รัฐบาลนำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะมีกระแสเสียงเสนอให้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้ากับทุกส่วน ไม่เว้นแต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากภาคประชาชน ทั้งนี้ ภาษีอัตราก้าวหน้าคือหนทางหลักของการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน เพื่อนำเงินรายได้ไปจัดสวัสดิการถ้วนหน้ามาตรฐานเดียวและมีคุณภาพตั้งแต่ เกิดจนตาย ที่เราในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมควรผลักดันกันต่อไป
 
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/12/blog-post_8.html?spref=fb

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น